มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ขานรับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs) ของมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อน 4 เป้าหมาย พร้อมนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชนและสังคม
รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ รองอธิการบดีวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมาย และมุ่งเน้น 4 เป้าหมาย ที่วิทยาเขตมีความพร้อมและสอดคล้องกับพื้นที่ในระยะแรก ซึ่งนำไปสู่การสร้างหลักสูตรและผู้เชี่ยวชาญเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสังคมยั่งยืน ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ด้านน้ำและสุขาภิบาล (SDG6 Clean Water and Sanitation) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 6 ของ SDGs โดยจะดำเนินการเกี่ยวข้องกับระบบบำบัดน้ำเสียจากอาคารภายในวิทยาเขตเพื่อนำกลับมาใช้ร่วมกับน้ำฝนที่ได้จากธรรมชาติ กักเก็บในสระน้ำขนาด 30,000 ลูกบาศก์เมตร ไว้เป็นแหล่งน้ำบนดิน สำหรับใช้รดน้ำต้นไม้ภายในวิทยาเขตโดยใช้ระบบการรดน้ำแบบน้ำหยด และแบบ Micro Sprinkler เพื่อการประหยัดน้ำที่มากขึ้น
เป้าหมายที่ 2 ด้านพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (SDG7 Affordable and Clean Energy) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 7 ของ SDGs โดยให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด โดยการติดตั้ง Solar Rooftop บนอาคารศูนย์บริการวิชาการกลางและอาคารเรียนรวม ช่วยในการลดการใช้พลังงาน และเป้าหมายที่ 3 ด้านเมืองและชุมชนยั่งยืน (SDG11 Sustainable Cities and Communities) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 11 ของ SDGs จะสร้างระบบการจัดการน้ำเสียและน้ำธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบวิทยาเขต รวมไปถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เอื้อต่อการเรียนรู้
และเป้าหมายสุดท้าย ด้านการผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบ (SDG12 Responsible Consumption and Production) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ 12 ของ SDGs ซึ่งจะนำขยะที่ย่อยสลายได้จากหลุมฝังกลบ มาทำเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ การใช้เศษใบไม้กิ่งไม้ผ่านกระบวนการหมักแล้วนำกลับมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับบำรุงดินและต้นไม้ ตลอดจนการคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ได้ส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญ
“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี พร้อมดำเนินการให้ครอบคลุมทุกเป้าหมายของ SDGs และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินการภายในวิทยาเขตถ่ายทอดสู่สังคมและชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.เจริญ กล่าว