สมาคมการค้ายาสูบไทย ยื่น 3 ข้อเรียกร้องจี้รัฐจัดการทุจริตบุหรี่เถื่อน

393

สมาคมการค้ายาสูบไทย หวั่นบุหรี่เถื่อนทะลักหนักขึ้นหลังสรรพสามิตประกาศอัตราภาษีใหม่ ทำราคาบุหรี่กระโดดแพงขึ้นกว่า 10% หลัง 1 ต.ค. ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านโชห่วย ตลอดจนมูลค่าการสูญเสียด้านภาษีต่อการจัดเก็บกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี หรืออาจมากกว่าเดิมหากไม่มีมาตรการที่ดีพอ ยื่น 3 ข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีให้สั่งการจริงจัง อย่าให้มีทุจริต และให้มีการทำรายงานติดตามผลกระทบของการขึ้นภาษีกับบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจัง

นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยภายหลังกระทรวงการคลังประกาศโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ โดยให้ปรับอัตราภาษีตามมูลค่าขึ้นทั้งสองขั้น จากเดิม 20% เป็น 25% และจาก 40% เป็น 42% รวมทั้งเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณจากมวนละ 1.2 บาท เป็น 1.25 บาท ว่า การขึ้นภาษีรอบนี้ถือว่าสูงมากในสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ เพราะอาจทำให้บุหรี่ถูกกฎหมายราคาขึ้นสูงสุด 7 บาทต่อซอง หรือปรับขึ้นสูงประมาณ 10% สมาคมฯ ตลอดจนสมาชิกกว่า 700 ร้านค้าทั่วประเทศมีความกังวลว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้จะทำให้บุหรี่หนีภาษี-บุหรี่ปลอมทะลักประเทศตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะภาคใต้มีจำนวนมากขึ้น

“ตอนนี้บุหรี่เถื่อนยังขายกันซองละ 20-30 บาท แต่บุหรี่ถูกกฎหมายจะขึ้นราคาอีกแล้ว ช่องว่างระหว่างบุหรี่เถื่อนกับบุหรี่ถูกกฎหมายจะยิ่งกว้างขึ้น ซองละเกือบ 40 บาท ยิ่งเป็นการจูงใจทั้งคนสูบบุหรี่และผู้ค้าบุหรี่เถื่อนมากขึ้น ที่ผ่านมาการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เคยประมาณการว่าตลาดบุหรี่เถื่อนเติบโตขึ้นมาถึง 30% จากการขึ้นภาษีบุหรี่ปี 2560 แต่รัฐบาลก็ยังหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดไม่ได้ แต่คนรับกรรมคือผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านโชห่วยที่ขายสินค้าถูกกฎหมายได้รับผลกระทบและขายสินค้าไม่ได้ แม้การขายบุหรี่จะไม่ได้กำไรมาก แต่ก็เป็นสินค้าที่ขายดี ช่วยเรียกลูกค้ามาเข้าร้าน เปิดโอกาสให้ขายสินค้าอื่นได้เพิ่มขึ้นด้วย ตอนนี้กลายเป็นว่าลูกค้าเดินเข้าร้านบุหรี่เถื่อนซึ่งเปิดหน้าร้านขายกันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย”

สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนี้

  1. ให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการลงมาอย่างจริงจังให้เพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามบุหรี่หนีภาษี หาทางแก้ปัญหาการทุจริตหละหลวมของเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีการลงโทษผู้กระทำผิดทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือร้านค้าบุหรี่หนีภาษี
  2. ให้กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดชายแดน บังคับใช้กฎหมายกับร้านค้าที่กระทำผิดอย่างจริงจังรวมทั้งผู้ลักลอบ เพื่อให้การจัดการปัญหาบุหรี่หนีภาษีเป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เป็นแค่ไฟที่ไหม้ฟาง
  3. ให้มีการติดตามประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ต่อปัญหาบุหรี่เถื่อนต่อเนื่องทุกเดือน โดยมิใช่เพียงแค่รายงานตัวเลขการจับกุมเท่านั้น

นางวราภรณ์ ทิ้งท้ายว่า “กรมสรรพสามิตก็ยอมรับว่าจะมีสินค้ายาสูบหนีภาษีเพิ่มขึ้น และจะปราบปรามอย่างเข้มงวด แต่เราก็รู้กันว่าปัญหาบุหรี่เถื่อนในพื้นที่ภาคใต้ เช่น สงขลา พัทลุง สตูล ตรัง และตามตะเข็บชายแดนของประเทศ เป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายปี รัฐบาลไม่เคยแก้ปัญหาได้ตรงจุดเลย หรือไม่ก็ทำแค่การจับโชว์เพื่อเป็นข่าวเท่านั้น สมาคมฯ หวังว่าหลังจากนี้จะได้เห็นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขายหรือผู้ที่ลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจัง”