ในขณะที่โลกทั้งโลกต้องต่อสู่กับโรคระบาดโควิด-19 ผู้คนบนโลกเจ็บป่วยกับโรคระบาดนี้นับล้าน ล้มตายนับแสน เครื่องไม้ เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ขาดแคลนไปทั่วโลก แต่บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ยักษ์ใหญ่ ฟิลิปส์ กลับถือว่าวิกฤตนี้สร้างผลกระทบให้กับธุรกิจสูงกว่าทุกวิกฤตที่ผ่านมา
วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อตลาดเครื่องมือแพทย์มีหลายมิติ โดยเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เช่น เครื่องช่วยหายใจ มีการเติบโตอย่างมาก แต่เครื่องมือแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด-19 ก็จะถูกหยุดไว้ ซึ่งรายได้ของฟิลิปส์ที่มาจากเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 คิดเป็น 1 ใน 3 เท่านั้น จึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ทำให้รายได้ในปีนี้ติดลบใกล้เคียงกับการติดลบของตลาดเครื่องมือแพทย์โดยรวม คือติดลบราว 7-10%
“ลูกค้าส่วนใหญ่ของฟิลิปส์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้หายไปไหน แต่ทุกโรงพยาบาลมีการหยุดการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และโยกงบประมาณไปใช้กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กันเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนก็มีการชะลอการลงทุนในปีนี้”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเครื่องช่วยหายใจ ฟิลิปส์ก็มีการเพิ่มกำลังการผลิต เป็น 4 เท่า และโรงงานเพิ่มระยะเวลาการทำงาน 24/7 ชั่วโมง แต่ด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ของฟิลิปส์ อาทิ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดสัญญาชีพในห้อง ICU มีราคาที่ต่ำกว่า อุปกรณ์การแพทย์หลักอย่าง เครื่องสแกน MRI หรือ เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของฟิลิปส์ ทำให้ส่วนของอุปกรณ์การแพทย์ของฟิลิปส์ปีนี้ ได้รับผลกระทบ
แต่วิโรจน์ก็มั่นใจว่า แนวโน้มทางการแพทย์หลังการระบาดของโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการผลักดันสู่ยุค Smart Health เร็วขึ้น เพื่อให้แพทย์และคนไข้เว้นระยะห่างกันมากขึ้น ประกอบกับการเข้ามาของเครือข่าย 5G ก็จะเป็นโอกาสของฟิลิปส์ ที่มีนวัตกรรมและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับ Telemedicine มากกว่า โดยเฉพาะด้าน Tele-ICU และมีการประมาณการว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จะฟื้นตัวได้ในปี 2564-2565 น่าจะเติบโตที่ 4-6%”
โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์มีโอกาสเติบโต ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ
- หากยังมีการระบาดของโควิด-19 ความต้องการเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มเครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ และ Telemedicine ก็จะมีความต้องการมากขึ้น
- จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย
3.อัตราการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และเบาหวาน เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์เกิดการชะลอตัว ก็ยังมีความกังวัลกับการระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรง จะส่งผลให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากมาตรการล็อกดาวน์ และงดการบิน การท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ป่วยมีกำลังซื้อน้อยลง และไปโรงพยาบาลน้อยลง ทำให้การลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนชะลอตัว โดยในปี 2564 มีเพียงโรงพยาบาลเท่านั้นที่เริ่มกลับมามีกำลังซื้อ และหากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกสอง อาจส่งผลให้นโยบาย Medical Hub ของไทยต้องชะลอออกไป เนื่องจากอาจมีมาตรการจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ฟิลิปส์ ก็ได้เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อรอรับการฟื้นตัวของตลาดอุปกรณ์การแพทย์ในปีหน้า ประกอบด้วย
Ingenia MRI Elition 3.0Tesla/ Ambition1.5Tesla – มาพร้อมเทคโนโลยี Compress Sense ช่วยให้สแกนได้เร็วขึ้น และเทคโนโลยี Comfor Tone ช่วยลดเสียงรบกวนขณะสแกน ทำให้ลดความกังวลให้ผู้ป่วยที่ต้องเข้าตรวจ MRI ในขณะที่รุ่น Ambition ยังเป็น MRI เครื่องแรกของโลกที่ลดการใช้ก๊าซฮีเลียมจาก 1500ลิตร เหลือเพียง 7ลิตร
Azurion5 – เครื่องสวนหลอดเลือดหัวใจรุ่นล่าสุด ที่มาพร้อม Smart Solution ให้ภาพคมชัดแบบ 3มิติ จึงช่วยให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แผลผ่าตัดเล็กลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น
Intrepid defibrillator – เครื่องกระตุกหัวใจที่โดดเด่นด้วยขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่ประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตผู้ป่วย และเตรียมความพร้อมในการรักษาเมื่อถึงโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
EPIQ CVx – เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูงรุ่นล่าสุด ที่โดดเด่นด้วยฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้น ภาพคมชัดขึ้น และสแกนได้รวดเร็วขึ้น ในขณะที่ให้ผลอย่างแม่นยำ เห็นภาพเส้นเลือดได้อย่างชัดเจนในแบบ 3มิติ
EPIQ Elite – เครื่องอัลตร้าซาวด์ด้านสูตินรีเวช ที่ให้ภาพสุดคมชัดแบบ 4มิติ มาพร้อมเทคโนโลยีสุดอัจฉริยะให้การประมวลผลแม่นยำโดยไม่ต้องสแกนซ้ำ เพิ่มประสิทธิการทำงานและ workflow ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้
Tele-Radiology Solution – ระบบการส่งภาพตรวจทางรังสีวิทยาแบบทางไกล ทำให้สามารถประมวลผลได้ทุกที่ทุกเวลา ลดปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล ใช้งานง่ายสามารถใช้กับแพลตฟอร์มหลากหลาย ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์
Trilogy Evo – เครื่องช่วยหายใจเกรดโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ หรือสามารถใช้ขณะขนย้ายผู้ป่วยจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ ช่วยให้การส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยไม่สะดุด
วิโรจน์ กล่าวว่า มีการประมาณการว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จะฟื้นตัวได้ในปี 2564-2565 น่าจะเติบโตที่ 4-6% ซึ่งฟิลิปส์ก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดเครื่องมือแพทย์ หลังวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยเบาบางลง โดยฟิลิปส์ก็มีการปรับกลยุทธ์การขาย เช่น การลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับฟิลิปส์ หรือ PPP โดยการแบ่งรายได้ หรือการเช่าแทนการซื้อ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ให้กับโรงพยาบาล ก็มั่นใจว่า ฟิลิปส์จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในปีหน้า