ย้อนกลับไปเมื่อครั้งโตเกียวมารีนประกันภัย จากประเทศญี่ปุ่น ประกาศรวมกิจการเข้ากับประกันคุ้มภัย กลายเป็น คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย ในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายมองเป้าหมายในการผนึกความแข็งแกร่งของ 2 บริษัท ที่ฝ่ายหนึ่งคือยักษ์ใหญ่ในธุรกิจประกันภัยทางทะเล ขณะที่อีกด้าน คือหนึ่งในผู้นำของการประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งผลที่ออกมาก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ด้วยการเป็นบริษัทประกันภัยทางทะเล ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในเมืองไทย และเป็นอันดับ 2 ของการประกันภันรถยนต์
แต่เหมือนวิกฤตโควิด-19 ที่ในครั้งนี้จะทำให้ก้าวเดินของคุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัยต้องสะดุด เพราะผลกระทบจากการปิดประเทศ ทำให้ทั้งการขนส่ง และการเดินทาง หยุดชะงัก ผู้คนเก็บตัวอยู่กับบ้าน ลดการจับจ่าย ตัวเลขการซื้อรถใหม่ป้ายแดงก็ลดลง ทำให้ 2 รายได้สำคัญหดหาย กลายเป็นงานหนักที่ผู้บริหารต้องวางแผนสู้กับวิกฤต ฮิโระโนะริ คิริว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้บริษัทฯ ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จนทำให้เป้ารายได้ในช่วงครึ่งปีแรกติดลบเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 ไปราว 10% โดยการประกันทางทะเลรายได้ตกลง 6% ขณะที่การประกันรถยนต์ ตกลงไปถึง 13% เป็นผลมาจากยอดการจำหน่ายรถยนต์ป้ายแดงลดลง และ ปริมาณการส่งออกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมาตรการผ่อนปรนของภาครัฐ ผลการดำเนินงานของบริษัทก็ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้วางเป้าหมายปีนี้ คาดว่า จะมีรายได้เบี้ยรับรวมถึงสิ้นปีราว 17,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่เคยทำได้ 18,000 ล้านบาท
“ในช่วงมาตรการล็อคดาวน์ที่ผ่านมา บริษัทฯยังสามารถดูแลและให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนจากเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ตลอดจนบุคลากรที่ปฏิบัติงานตามมาตรการ Work From Home ไปด้วยความราบรื่น ทำให้เราสามารถให้คำปรึกษาและบริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน แผนการดำเนินงานหลังควบรวมฯจากส่วนธุรกิจต่างๆ มีความคืบหน้าไปมาก การดำเนินงานเป็นไปอย่างบูรณาการมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เราทำรายได้ตามเป้าหมายแน่นอน”
คิริว กล่าวว่า แนวทางที่จะทำให้บริษัทฯ ผ่านวิกฤตนี้ได้จะมาจากการผสานความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างทีมจากคุ้มภัยฯและโตเกียวมารีนประกันภัยฯ(เดิม) ต่างนำจุดแข็งมาหลอมรวมทุกหน่วยธุรกิจขององค์กร ร่วมกันวางแผนกำหนดทิศทางและกลยุทธ์หลายด้าน โดยการผสานความร่วมมือ (Synergy) 4 ด้าน คือ Revenue Synergy ความร่วมมือเพื่อสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายของกลุ่มบริษัทโตเกียวมารีนผ่านเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ Capital Synergy ความร่วมมือด้านการบริหารเงินทุนภายใต้โตเกียวมารีนกรุ๊ป ซึ่งได้รับการจัดอันดับด้านเสถียรภาพทางการเงินจากหลายสถาบัน อันจะส่งผลให้การบริหารงานด้านการรับประกันภัยต่อ (Reinsurance) มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น Cost Synergy ความร่วมมือด้านการบริหารต้นทุน ให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมไปถึงแผนการรวมสำนักงานไว้ด้วยกัน และ Investment Synergy ความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตการลงทุนให้สามารถจัดการความเสี่ยงดีขึ้นและสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกัน ยังได้วางแผนในการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนภายใต้แผนงาน 3 ปี ประกอบด้วย
Staff Engagement การสร้างการมีส่วนรวมของพนักงานทุกคน เพื่อให้พนักงานนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบริษัทฯ และลูกค้า
Customer Experience สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสำรวจความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และการบริการที่ดีขึ้น
Expense Management การบริหารต้นทุน ควบคุมจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะช่วยได้ความได้เปรียบด้านต้นทุน ท่ามกลางการการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรง เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร
ด้าน เสรี กวินรัชตโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทำให้ลูกค้ามีความระมัดระวังการจับจ่าย ดังนั้นบริษัทฯจึงต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ตรงจุดที่สุด ขณะเดียวกัน การควบรวมบริษัทฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 นี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ทั้ง 2 บริษัทมีอยู่หลากหลายรายการ ก็จะนำมารวมกันและเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มครองที่ดีที่สุดมานำเสนอ นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังจะมีความร่วมมือกับภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นตลาด เช่น การผ่อนชำระเบี้ยประกัน มาให้บริการอีกด้วย
ขณะที่ ไพชยนต์ สุธีรพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวถึงแผนการควบรวมและดำเนินธุรกิจของคุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัยฯ ว่า ในต้นเดือน พ.ย.นี้ บริษัทฯมีแผนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ อาคาร อาคารเอสแอนด์เอ ชั้น 2-6 ถนนสีลม แขวงสุริยวงค์ เขตบางรัก กทม. เพื่อให้การบริหารงานมีความเป็นเอกภาพ รวมถึงการวางแผนรวมกิจการสาขาใน 23 จังหวัด ที่มี 2 สาขาเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการรวมสาขาเสร็จเรียบร้อยไปแล้วทั้งสิ้น 10 สาขา เพื่อทำให้การดูแลและให้บริการลูกค้าและคู่ค้าดียิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังเดินหน้าพัฒนาระบบออนไลน์ “Safe Smart” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ตัวแทนและนายหน้าให้สามารถบริหารจัดการกรมธรรม์ประกันภัยของลูกค้าที่แจ้งไว้กับบริษัทฯ
ซึ่งการจัดทัพองค์กรครั้งนี้ ผู้บริหารคุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย วางเป้าหมายที่จะเป็นการเสริมศักยภาพทางธุรกิจ มุ่งยกระดับประสบการณ์ให้กับลูกค้า อีกทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ นำคุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัยก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยสู่ความยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Foster a Sustainable Future”