กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ กับขยะที่เกลื่อนบ้าน เกลื่อนเมือง และเกลื่อนท้องทะเล จนทำให้ลูกรัก “มาเรียม” ของคนไทย ต้องตายก่อนวัยอันควร
ปัญหาขยะในเมืองไทยมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับความสำนึกพื้นฐาน ที่เมืองไทยไม่มีกฏหมายในการดูแลการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางอย่างเข้มงวดเหมือนสิงคโปร์ ทำให้เห็นภาพขยะตามถนน ตามป้ายรถเมล์ อยู่แทบทุกพื้นที่ ขณะที่ในระดับผู้ที่มีสำนึกในการทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง ก็ไม่มีความรู้ในการแยกขยะเพื่อนำกลับไปรีไซเคิลที่ถูกต้อง
มีสถิติจากบริษัทที่ทำการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ อินโดรามา เวนเจอร์ ระบุว่า วันนี้มีขวดพลาสติก PET ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการรีไซเคิลมากถึง 6 หมื่นตันต่อปี ขณะที่กล่อง UHT จากนม หรือน้ำผลไม้ที่เราดื่มกัน มีเพียง 5% เท่านั้นที่เข้าสู่ระบบการรีไซเคิล
ขณะที่ภาพรวมของขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ในประเทศไทยมีอยู่ราว 8.1 ล้านตัน ถูกนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลเพียง 5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือหายไป รวมถึงส่วนหนึ่งหายไปอยู่ในท้องมาเรียม
ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย โค้ก และเซ็นทรัล จับมือกันสร้างแคมเปญ “โค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero” พร้อมดึงพันธมิตรมาสร้าง Ecosystem การรีไซเคิลให้สมบูรณ์ ตั้งแต่ GEPP ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างร้านค้าที่มีวัสดุรีไซเคิลจากการแยกขยะ ผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล และบริษัทผู้รีไซเคิลวัสดุ ประกอบด้วย บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส ผู้รับซื้อวัสดุประเภทแก้ว, ไทยเบเวอร์เรจ แคน ผู้รับซื้อกระป๋องอลูมิเนียม, เวสท์ทีเรียล ผู้รับซื้อกระดาษและกล่องเครื่องดื่ม, ปูนซิเมนต์ไทย ผู้รับซื้อพลาสติกชนิด HDPE, LLDPE, LDPE และ PP และ อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้รับซื้อพลาสติกชนิด PET
พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทยตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้มีการแยกขยะที่ต้นทาง และนำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ กลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยโครงการ ‘โค้กขอคืน’ เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ World Without Waste ของโคคา-โคล่า ที่มุ่งใช้และจัดการบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักคือ การจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อน พ.ศ.2573
“เนื่องจากเรามีเป้าหมายที่ท้าทายมากจึงต้องพัฒนาและทดลองระบบการจัดเก็บขึ้นมาใหม่ ด้วยการอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรมาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพอย่าง GEPP ทำให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาวางระบบ และข้อมูลที่จัดเก็บได้ก็จะช่วยทำให้เราแก้ปัญหาและวางแผนพัฒนาระบบการจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีพันธมิตรที่ยินยอมให้เราเข้ามาทำการศึกษา พัฒนา และลองผิด ลองถูก ไปด้วยกัน รวมถึงกลุ่มเซ็นทรัล และบริษัทพันธมิตรผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิลทุกรายที่ตัดสินใจลงทุนลงแรงมาทำโครงการนี้ด้วยกัน ซึ่งทุกคนทราบดีว่าไม่ใช่งานที่ง่าย และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบงานหลายอย่าง แต่ก็ยินดีที่จะมาช่วยกันทำเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะ ”
ด้าน พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ตลอดเวลา 72 ปีของการดำเนินธุรกิจ กลุ่มเซ็นทรัลมีนโยบายในการให้ความสำคัญกับการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนการสร้างโลกสีเขียวภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล กรุ๊ป เลิฟ ดิ เอิร์ธ” (CENTRAL Group Love the Earth) เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งในระดับองค์กร ชุมชน และมหภาค โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่ การลดปริมาณขยะและการลดการสร้างคาร์บอน (Journey to Zero) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบศูนย์การค้า (Central Green) และฟื้นฟูผืนป่า (Forest Restoration)”
“โครงการโค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero เป็นการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ และนำวัสดุที่สามารถรีไซเคิลไปพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะดำเนินการผ่านผ่านศูนย์การค้าของกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (ซีพีเอ็น) นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัลพลาซา บางนา ด้วยการนำขยะที่เกิดจากร้านอาหารในเครือบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว กลับมารีไซเคิล โดยมีการปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติและพัฒนาระบบการจัดเก็บให้เหมาะสม เช่น การบริหารจัดเก็บและจัดการพื้นที่ในการแยกขยะ ในด้านรายได้จากการจำหน่ายวัสดุรีไซเคิล”
พิชัย กล่าวต่อว่า หลังจากเริ่มโครงการไปราว 2 เดือน ใน 16 ร้านอาหารของเซ็นทรัลทั้ง 2 สาขา สามารถเก็บขยะรีไซเคิลได้ 2.7 ตัน ซึ่งเซ็นทรัล และโคคา-โคล่าก็มีแผนในการขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีศูนย์การค้าเซ็นทรัลตั้งอยู่ทั้งหมด มีการดึงเอาโรงเรียน โรงแรม และอาคารสำนักงานที่อยู่ในเส้นทางขนส่งขยะรีไซเคิลจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล ไปถึงจุดรีไซเคิล มาร่วมในโครงการ รวมถึงจะมีการเชื้อเชิญบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาร่วมให้โครงการขยายออกไปให้ใหญ่ขึ้น
“เนื่องจากโครงการนี้เป็นการขายวัสดุรีไซเคิลให้กับผู้รับรีไซเคิลโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง จึงคาดหมายว่าผู้รับซื้อจะมีกำไรจากการซื้อขายวัสดุรีไซเคิลในโครงการนี้สูงกว่าการซื้อขายทั่วไป ซึ่งทาง โคคา-โคล่า มีนโยบายให้ผู้ดำเนินการจัดเก็บต้องปันกำไรส่วนหนึ่งมาใช้สมทบในการขยายโครงการนี้ต่อไปในอนาคต และทางเซ็นทรัลก็มีนโยบายที่จะมอบรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการนี้ เพื่อตอบแทนกลับคืนให้กับทุกภาคส่วนที่ช่วยจัดการและแยกขยะเช่นกัน ระบบการจัดเก็บนี้จึงมิเพียงตั้งอยู่บนหลักการของคุณค่าร่วม (Shared Value) เท่านั้น แต่จะทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมจะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมอันเป็นหัวใจของระบบที่ยั่งยืน”
ขณะที่ มยุรี อรุณวรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP กล่าวว่า คนจำนวนมากต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ แต่โครงสร้างและระบบของไทยในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่ง GEPP จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ โดยได้เริ่มจัดการฝึกอบรมให้พนักงานของเซ็นทรัล พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกโดยการช่วยออกแบบพื้นที่ในการแยกขยะในร้านอาหาร การจัดตารางเวลาเพื่อเข้าไปทำการรับซื้อวัสดุรีไซเคิลถึงที่ รวมถึงรวบรวมข้อมูลการจัดเก็บและซื้อขายทั้งหมดภายใต้โครงการ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ ประเมินผล ตลอดจนวางแผนในการพัฒนาและขยายโครงการอย่างเป็นระบบร่วมกับโคคา-โคล่าและเซ็นทรัลอย่างต่อเนื่อง