พญาไท 2 ยกระดับการรักษาสู่ระดับโลก หวังเพิ่มลูกค้าอาเซียน ชดเชยลูกค้าไทยซบ

2456

แม้เป้าหมายการเป็น Medical Hub ของภาครัฐจะยังไม่เห็นผล แต่วันนี้ประเทศไทยก็กลายเป็นที่พึ่งพิงของผู้เจ็บป่วยที่มีกำลังทรัพย์จากนานาประเทศ ทั้งอาเซียน อาหรับ เข้ามารักษา จนหลายๆ โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ แทบจะกลายภาพเป็นโรงพยาบาลนานาชาติ

การดึงดูดให้ผู้ป่วยนานาชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย ส่วนสำคัญคือโรงพยาบาลต้องสร้างมาตรฐานในการรักษาให้เทียบเท่าระดับสากล และโรงพยาบาลพญาไท 2 ที่มีเป้าหมายในการขยายตลาดผู้ป่วยต่างชาติให้ใหญ่ขึ้น ก็เดินหน้าพัฒนามาตรฐานการบริการด้านการแพทย์สู่ระดับโลก เช่นกัน

ย้อนกลับเมื่อ 32 ปี โรงพยาบาลพญาไท 2 ตั้งขึ้นย่านสนามเป้า เพื่อรองรับการเติบโตของโรงพยาบาลพญาไท 1 ที่มีพื้นที่คับแคบ ซึ่งตั้งอยู่ในห่างกันนัก

นายแพทย์ อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 เล่าว่า 10 ปีแรกของการเปิดให้บริการ โรงพยาบาลพญาไท 2 มีเป้าหมายเพื่อการรักษาทั่วไป 10 ปีต่อมา เป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างคุณภาพ โดยโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้รับมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) ซึ่งเป็นมาตรฐานการรักษา และความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย

และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ขับเคลื่อนความเป็นเลิศด้านการแพทย์ (Center of Excellent) ต่อยอดสู่การเป็นศูนย์การแพทย์ก้าวหน้าระดับโลก (State-of the art Medical Campus) ด้วย 3 จุดเด่น “เข้มข้น ใส่ใจ เชื่อมโยง” เน้นให้บริการดูแลสุขภาพด้วยศูนย์แพทย์เฉพาะทาง และการตรวจประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคแบบเจาะลึก เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ตอบรับเทรนด์ชีวิตรักษ์สุขภาพของสังคมปัจจุบัน

“ตลอดระยะเวลา 32 ปี โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้รับการยอมรับ ว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ มีหมอเก่ง (knowledgeable) แก้ปัญหาเจาะลึกตรงจุด (treat problems) โปร่งใสเชื่อถือวางใจได้ (trustworthy) มีการดูแลผู้ป่วยที่ใส่ใจ (caring and concern) ก้าวหน้าทันสมัย (innovative) และ ค่าใช้จ่ายสมเหตุผล (cost effective) จึงนำข้อดีเหล่านี้มาเป็น 3 แนวทางการให้บริการผู้ป่วยแบบเข้มข้น ใส่ใจ เชื่อมโยง”

นายแพทย์ อนันตศักดิ์ ให้รายละเอียด 3 จุดเด่น ว่า โรงพยาบาลพญาไท 2 เข้มข้น ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา วินิจฉัย แนวทางรักษาและดูแลสุขภาพ ภายใต้มาตรฐาน JCI และโปรแกรมมาตรฐานรับรองเฉพาะโรค CCPC และเป็น Research based hospital มีการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ มีการร่วมมือกับสถาบันการแพทย์นานาชาติ เช่น Oregon Health & Science University (OHSU) / Osaka University Hospital ในด้านการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน โดยปรับไลฟ์สไตล์ในการชีวิตนำไปสู่สุขภาพที่ดียิ่งขึ้น และหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา ในการร่วมคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาและความปลอดภัยผู้ป่วย

ใส่ใจ ยึดหลักผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง ให้ข้อมูลที่ชัดเจน เข้าใจบริบทและความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเชิงป้องกันโรคที่อาจเกิดในอนาคต ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับรหัสพันธุกรรม รวมถึงโรคความเสื่อมของร่างกายที่สามารถวางแนวทางการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

เชื่อมโยง ไร้รอยต่อ คือการมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่ผนึกกำลังเพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความลื่นไหลไร้รอยต่อทั้งในการรับและส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มโรคซับซ้อนที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ ไปจนถึงการผนึกกำลังแพทย์เฉพาะทางที่หลากหลาย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เสริมการเรียนรู้ด้านการแพทย์ และการทำวิจัยเพื่อประโยชน์ผู้ป่วย

โดย ล่าสุด โรงพยาบาลพญาไท 1 พญาไท 2 และ เปาโล พหลโยธิน ก็ได้ผนึกกำลังเป็นกลุ่ม PMC “พญาไท เปาโล เมดิคอล แคมปัส” นำจุดแข็งความเชี่ยวชาญของในแต่ละโรงพยาบาล มาให้บริการผู้ป่วย ได้ครอบคลุมทั้งหมด ทั้งในกลุ่มโรคซับซ้อน เวชศาสตร์การดูแลสุขภาพ เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยกรรม และเป็น Medical Campus ที่มีการวิจัยพัฒนาทางวิชาการทางการแพทย์ เพื่อหาแนวทางรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด

“ทั้ง 3 โรงพยาบาล มีความชำนาญในแต่ละด้าน โดยพญาไท 1 ชำนาญด้านหลอดเลือดสมอง มะเร็ง  ขณะที่พญาไท 2 ชำนาญด้านโรคหัวใจ กระดูก สูตินารีเวช และการตรวจสุขภาพคนทำงาน ขณะที่เปาโล ชำนาญด้านผู้ป่วยอุบัติเหตุ โดยการที่ทั้ง 3 โรงพยาบาลสามารถแชร์ความชำนาญแต่ละด้าน ทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองในแนวลึกได้ดียิ่งขึ้น” นายแพทย์ อนันตศักดิ์ กล่าว

ด้านการขยายการให้บริการนั้นโรงพยาบาลเพิ่มการรับรองผู้ป่วยด้วยบริการห้องพักระดับ Premium Prestige Ward จำนวน 16 ห้อง และหอผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มเป็น 8 ห้อง รวมถึงเน้นการขยายศูนย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น เช่นปีที่ผ่านมา เปิดคลินิกเวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine) เพื่อรับเทรนด์ออกกำลังกายดูแลสุขภาพ และเปิด Line @ Chat กับหมอทีมชาติ เปิดศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ศาสตร์ชะลอความเสื่อมของร่างกายแบบองค์รวม และมีแผนที่จะเปิดศูนย์รักษาภูมิแพ้ เพื่อวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยกลุ่มภูมิแพ้ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ปัจจุบัน กลุ่มโรงพยาบาล PMC มีเตียงผู้ป่วยรวมกันทั้งสิ้น 620 เตียง ประกอบด้วย พญาไท 1 จำนวน 160 เตียง พญาไท 2 จำนวน 260 เตียง และเปาโล 200 เตียง โดยมีแผนที่จะเพิ่มเตียงที่โรงพยาบาลพญาไท 1 เพิ่มอีก 300 เตียง และภายในเวลา 3 ปี จะสามารถรองรับได้มากกว่า 1,000 เตียง

ด้าน นายแพทย์ อภิรักษ์ ปาลวัฒน์วิไชย ผู้อำนวยการแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า State-of the art Medical Campus เป็นมาตรฐาการดูแลคนไข้ระดับสูงสุด ซึ่งแพทย์ต้องมีความรู้ความชำนาญในการรักษา โดยทางโรงพยาบาลมีการส่งทีมแพทย์เข้าอบรมที่ Oregon Health & Science University หลายสิบท่าน มีการลงทุนด้านเครื่องมือตามมาตรฐาน State-of the art อาทิ เครื่องมือกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัดหัวใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไข้ในย่านอาเซียนเดินทางเข้ามาใช้บริการด้วยมาตรฐานระดับเดียวกับโรงพยาบาลในยุโรป ในราคาที่ถูกกว่า

ปัจจุบัน โรงพยาบาลพญาไท 2 มีสัดส่วนผู้ป่วยไทย 80% และต่างชาติ 20% ประกอบด้วย กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย และภูฏาน ซึ่งกัมพูชาครองส่วนแบ่งสูงสุดของผู้ป่วยต่างชาติ 35% โดยการยกระดับมาตรฐานการรักษาสู่ระดับ State-of the art Medical Campus นี้ นายแพทย์ อภิรักษ์ เชื่อว่า จะสามารถขยายสัดส่วนผู้ป่วยต่างประเทศได้ถึง 30-40%

ตลาดต่างประเทศถือเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีของโรงพยาบาลไทย ขณะที่ตลาดในประเทศ ในสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คนไทยมีรายได้ลดลง ต่างจากกลุ่มคนไข้จากต่างประเทศจะมีอัตราการใช้จ่ายที่สูงกว่า และเป็นโอกาสของโรงพยาบาลในเมืองไทย

“ตัวเลขการขยายตัวของโรงพยาบาลค่อนข้างจะสอดคล้องกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็จะได้รับผลกระทบ โดยผู้มีระดับรายได้ปานกลางขึ้นไป มีรายได้ลดลง ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของโรงพยาบาลมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายด้านการรักษา ตลอดจนมีการหันไปใช้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้นจึงยังคงทำให้โรงพยาบาลรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของรายรับไว้ได้ คาดการณ์ว่าจำนวนของผู้ใช้บริการใน ครึ่งปี 62 ในไตรมาส 3 และ 4 จะอยู่ที่ 384,000 การเข้ารับบริการ (visits)” นายแพทย์ อนันตศักดิ์ สรุป