ZEN เปิดเกมรุกตลาดแมส วาง 5 โมเดล ดัน “เขียง” สู่ขวัญใจสตรีทฟู้ดคนเมือง

1430

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ของ เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือ การขยายธุรกิจสู่ตลาดแมส ที่นอกจากจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ ZEN แล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนไทย ในรูปแบบการขายแฟรนไชส์

จุดเด่นสำคัญของ ZEN ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าเป็นผู้ประกอบการที่เริ่มต้นจากธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น มีประวัติยาวนานเกือบ 30 ปี และปัจจุบันมีแบรนด์ร้านอาหารมากถึง 12 แบรนด์ แต่ทุกแบรนด์ล้วนเป็นแบรนด์ของคนไทย ทั้งที่ ZEN สร้างขึ้นเอง และซื้อธุรกิจเข้ามา ไม่มีแฟรนไชส์แบรนด์ต่างประเทศต่างจากผู้ประกอบร้านอาหารรายใหญ่ของไทยส่วนใหญ่ที่เน้นการซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ต่างประเทศเข้ามา

แต่ในทางกลับกัน ZEN กลับเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารที่ขยายออกไปทั้งในและต่างประเทศ มากถึง 8 แบรนด์คือ AKA, On the Table, ตำมั่ว, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, เฝอ, เดอ ตำมั่ว และแบรนด์น้องใหม่ “เขียง” ที่ถูกวางเป็นเรือธงสำคัญในการรุกตลาดแมส ของ ZEN นับปีนี้เป็นต้นไป

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ ZEN  ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลังว่า ZEN จะเน้นการขยายสาขาร้านอาหารอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ โดยแบรนด์หลักที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปีนี้ คือแบรนด์น้องใหม่ “เขียง” ร้านอาหารไทยจานด่วนแนวสตรีทฟู้ด ที่จะเน้นขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นหลัก

ร้าน ‘เขียง’ (Khiang by tummour) เป็นร้านอาหารไทยตามสั่งแนวสตรีทฟู้ดที่มีจุดขายด้านรสชาติอาหารที่จัดจ้านในราคาย่อมเยา อาทิ ข้าวกะเพราไก่, ผัดซีอิ๊ว, ผัดไทย, ข้าวหมูกระเทียมพริกไทย ฯลฯ รวม 15 เมนู ใช้วัตถุดิบจากชุมชน เช่น ข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ ร้อยเอ็ด, หมูยอ นครพนม, ใบกะเพรา ราชบุรี ฯลฯ เจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไปเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่มีเวลาทำอาหารรับประทานเอง ด้วยแนวคิดพัฒนาร้านเขียงเป็นเสมือน ‘ครัวของชุมชน’ แก่ผู้พักอาศัยในพื้นที่โดยรอบ ใช้พื้นที่ไม่มาก โดยได้วางรูปแบบการขยายแฟรนไชส์ภายใต้ 5 โมเดลธุรกิจ ประกอบด้วย

  1. ร้าน Stand Alone ในย่านชุมชน ตึกแถว
  2. สถานีบริการน้ำมัน ปตท.
  3. Community Mall, Food Court, Metro Mall ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
  4. เปิดคู่กับร้านตำมั่ว เอ็กซ์เพรส
  5. ศูนย์ส่งสินค้าภายใต้การบริการผ่านแอพพลิเคชั่น และส่งเดลิเวอรี่ผ่านผู้ให้บริการ ทั้ง Grab และ Lineman

บุญยง กล่าวว่า  เป้าหมายในการขยายสาขาของ ZEN ในปีนี้ ตั้งไว้ 123 สาขา โดยมี 87 สาขาจะขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีตำมั่วเอ็กซ์เพรส และเขียง เป็นแบรนด์หลัก ทั้งนี้  ZEN ได้มีการจับมือเป็นพันธมิตรกับ ปตท. ซึ่งมีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station กว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ โดย ปตท.ให้การสนับสนุนพื้นที่เช่าภายใน PTT Station แก่บริษัทฯ เพื่อเปิดร้านอาหาร ปัจจุบันมีพื้นที่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคตะวันออก พร้อมรองรับการขยายสาขาในครึ่งปีหลังแล้วกว่า 70 แห่ง ก็จะนำพื้นที่นี้มาขยายสาขาให้กับเขียงในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยวางเป้าหมายให้แบรนด์เขียง เป็นแบรนด์คู่ ปตท.เช่นเดียวกับ 7-11 และร้านกาแฟอะเมซอน

โดยในวันที่ 13-16 มิถุนายนนี้  ZEN จะเข้าร่วมออกบูธในงาน ‘มหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ’ ครั้งที่ 31 ณ บีซีซี ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้า เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว ซึ่งเป็นงานมหกรรมเจรจาธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับผู้ที่สนใจหรือต้องการเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการ โดยไฮไลท์ภายในงานจะนำพื้นที่เช่าภายใน PTT Station และพื้นที่อื่นๆ มานำเสนอแก่ผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ร้าน ‘เขียง’ พร้อมกันนี้จะนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษแก่ผู้จองสิทธิ์แฟรนไชส์ในงาน โดยคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Entrance Fee) พิเศษที่ 3.5 แสนบาท (ปกติ 4 แสนบาท) และคิดค่าธรรมเนียมรายเดือน (Loyalty Fee) อัตราคงที่เดือนละ 12,500 บาท จากปกติคิดจากส่วนแบ่งรายได้ 3% ต่อเดือน นอกจากนี้ยังร่วมมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อธุรกิจวงเงิน 100% แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์

“ร้านเขียง ถือว่าเป็นแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนต่ำที่สุด โดยใช้เงินในการก่อสร้าง 1.8 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 4 แสนบาท รวมค่าอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สามารถกู้ได้ 100% ใช้เวลาการก่อสร้างเพียง 2 สัปดาห์ก็สามารถเปิดร้านทำธุรกิจได้ โดยร้านเขียงที่เปิดมาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำรายได้ราว 4-4.5 แสนบาทต่อเดือน ใช้เวลาเพียง 2-3 ปีก็สามารถคืนทุน”

บุญยง กล่าวต่อว่า รูปแบบของร้านเขียง จะเป็นแฟรนไชส์ทั้งหมด รวมถึงร้านที่เปิดอยู่ในปัจจุบัน 9 สาขา ก็จะขายแฟรนไชส์ เหลือเพียง 1-2 ร้านที่ ZEN จะบริหารเอง เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรม 

“ในอดีต ZEN ทำธุรกิจอยู่ในตลาดกลางถึงบน เป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ย่านธุรกิจ ก็เคยพบความเสี่ยงเมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง ดังนั้น การขยายธุรกิจสู่ตลาดแมส ลงไปสู่ตลาดสตรีทฟู้ดที่ยังไม่มีแบรนด์ใหญ่ลงไป ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ นอกจากนั้น ตลาดสตรีทฟู้ด ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี ใหญ่กว่าตลาดร้านอาหารบนห้างที่มีมูลค่าเพียงแสนล้านบาทต่อปี และยังมีการเติบโตปีละ 4-5% ทุกปี ก็เป็นโอกาสที่ ZEN จะสร้างแบรนด์ เขียง ให้เป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของผู้บริโภคคนเมืองได้”

ด้าน ยุพาพรรณ เอกสิทธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินและบัญชี ZEN กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ในปีนี้เติบโต 15-20% จากรายได้รวมในปีที่ผ่านมา 3,000 ล้านบาท และตั้งงบลงทุนกว่า 230 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้ โดยหลังจากบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ ZEN มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนและต้นทุนทางการเงินลดลง รวมถึงมีความพร้อมในการขยายธุรกิจอย่างเต็มที่