เกมรุก CRG จาก แฟรนไชส์ โอเปอเรเตอร์ สู่ผู้สร้างนวัตกรรมธุรกิจร้านอาหาร

1665

ย้อนกลับไปในปี 2521 วัยรุ่นไทยในยุคนั้นได้ตื่นเต้นกับร้านขนมโดนัท ในชื่อ “มิสเตอร์โดนัท” ที่เปิดสาขาแรกในย่านสยามสแควร์ โดยบริษัท ไทยแฟรนไชซิ่ง จำกัด ของ 2 พี่น้อง สุทธิชัย และ สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ที่ซื้อสิทธิแฟรนไชส์มาจากสหรัฐอเมริกา

ผ่านมากว่า 20 ปี ไทยแฟรนไชซิ่ง วันนี้ คือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ ซีอาร์จี ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มากถึง 10 แบรนด์ และมีแบรนด์ของตัวเองอีก 1 แบรนด์ ประกอบด้วย มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง, โคล สโตน ครีมเมอรี่, คัตสึยะ, โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ และ เดอะ เทอเรส

ธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่าสูงกว่าปีละ 4 แสนล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4-5% ทุกๆ ปี นำเอาผู้ประกอกอบการหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดอย่างคึกคัก ขณะที่ผู้ประกอบการเดิมก็มีการขยับขยาย นำแบรนด์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ซีอาร์จี ต้องประกาศพลิกเกมยกระดับจากผู้ประกอบการร้านอาหารแฟรนไชส์สู่ผู้สร้างนวัตกรรมในธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้กลยุทธ์ Transform from Operator to Innovator

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เผยว่า ทิศทางขยายธุรกิจในปี 2562 ว่า ซีอาร์จีตอกย้ำการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยกลยุทธ์ Transform from Operator to Innovator ที่นอกเหนือจากการเป็นผู้รับสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์แล้ว ยังมุ่งมั่นพัฒนาแบรนด์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ พัฒนา new product line เพื่อสร้างยอดขาย และเพิ่มโอกาสการบริโภคใหม่ๆ และพัฒนารูปแบบร้านค้าใหม่ๆ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เช่น ร้านค้าขนาดเล็กสไตล์คาเฟ่และร้านสไตล์ Mobile unit ที่เข้าถึงลูกค้าง่ายขึ้นและเคลื่อนย้ายตามจุดทำเลที่มีศักยภาพได้ตลอดเวลา

“ปีนี้เราจะเน้นการพัฒนาแบรนด์ มีการปรับคอนเซ็ปต์แนวไลฟ์สไตล์มากขึ้น สร้างความตื่นเต้นดึงดูดกลุ่มลูกค้าหลากหลายขึ้น ตอกย้ำจุดแข็งด้านคุณภาพอาหาร ความอร่อย ความหลากหลาย และบริการที่ดีเยี่ยม และสร้างแบรนด์ของตัวเองเพิ่มมากขึ้น  อีกทั้งยังคงพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย กลุ่มนักลงทุนใหม่ และกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทำธุรกิจร่วมกัน”

โดยในปีนี้ ซีอาร์จี มีการสร้างแบรนด์ใหม่เป็นของตนเอง 2 แบรนด์ ประกอบด้วย แบรนด์ “อร่อยดี” (Aroi Dee) ร้านอาหารไทยตามสั่ง ที่มีจุดขาย สะอาด สดจากเตา ภายใต้บรรยากาศเย็นสบาย และราคาเข้าถึงได้ ด้วยเมนูที่คุ้นเคย แต่นำเสนอในแนวใหม่จากเชฟมากประสบการณ์ของซีอาร์จี อาทิ ข้าวไข่ข้น, ข้าวกระเพราไก่สับ-ไข่กรอบ และเส้นจันทน์ผัดไท เป็นต้น เริ่มต้นที่ราคา 59 บาท เจาะกลุ่มคนทำงาน โดยซีอาร์จีมีแผนเปิดอย่างต่ำ 10 สาขา ในปีนี้ โดย 3 สาขาแรกเปิดให้บริการแล้วที่ สีลม ซอย 32, ปั๊ม ปตท สายไหม และไทวัสดุ บางนา และมีเป้าหมายที่จะเปิดให้ถึง 100 สาขา

แบรนด์ที่ 2 คือ  สุกี้เฮาส์” ร้านสุกี้ในสไตล์ซีอาร์จี ที่เน้นบรรยากาศความสนุกสนานให้กลุ่มลูกค้า ฉีกแนวการกินสุกี้แบบเดิมๆ โดยจะเปิดสาขาแรกในเดือนเมษายนนี้ นอกจากนั้น ซีอาร์จีก็ยังมีแผนเปิดแบรนด์ใหม่อย่างน้อย 2-3 แบรนด์ เป็นอาหารในกลุ่มร้านคาเฟ่ขนม และอาหารจีน โดยมองรูปแบบการทำธุรกิจทั้งการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions หรือ M&A) และการหาพาร์ทเนอร์รายย่อย เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาร่วมกันสร้างกิจการร้านอาหารแนวใหม่ๆ

นอกจากการสร้าง Innovation ด้านร้านอาหารแล้ว ซีอาร์จี ยังสร้าง Innovation ด้านการบริการ  ด้วยการเปิดบริการ Multi Brand Delivery  มิติใหม่ของบริการสั่งอาหารดิลิเวอรี่ในเมืองไทย

โดย ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายการตลาด ซีอาร์จี กล่าวว่า ซีอาร์จีจะรุกขยายบริการ Multi-brand Delivery เต็มรูปแบบ หลังเปิดตัวบริการใหม่ “1312 สั่งครั้งเดียว อร่อยหลายร้าน” จัดส่งมื้ออร่อยให้ลูกค้าจากแบรนด์ร้านอาหารในเครือซีอาร์จีทั้ง 11 แบรนด์ ในการสั่งอาหารเพียงครั้งเดียวและจ่ายค่าบริการจัดส่งเพียงครั้งเดียว ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การขายเหนือคู่แข่งในตลาด

ซึ่งปีนี้ซีอาร์จีจะขยายเข้าสู่ช่องทาง Omni Channel  ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากร้านอาหาร ทั้งกลุ่มซีอาร์จี รวมถึงการจองร้านอาหาร และออเดอร์ต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น “CRG 1312” คาดจะเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายนนี้ ขณะเดียวกัน จะพัฒนาฟอร์แมทใหม่ Online Virtual Stores รวมแบรนด์ร้านอาหารสไตล์สตรีทฟู้ดชื่อดัง เพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างในตลาด โดยลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากร้านสตรีทฟู้ดชื่อดังผ่านแอพพลิเคชั่นของซีอาร์จี ได้ และเตรียมเปิดแพลตฟอร์มใหม่  Hub Model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการดีลิเวอรี่ สร้างจุดแข็ง ตอบรับตลาดดีลิเวอรี่ที่เติบโตสูงมากในขณะนี้

โดยจุดเด่นของความร่วมมือกับร้านสตรีทฟู้ดชื่อดัง คือการซื้อโนว์ฮาวสูตรอาหารของร้านดังนี้ มาผลิตที่ครัวกลางของซีอาร์จี  ทำให้ผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากร้านสตรีทฟู้ดนั้น สามารถสั่งอาหารจากร้านมารับประทานได้ โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือจาก 4-5 ร้านสตรีทฟู้ด และจะเพิ่มร้านให้มากขึ้นในอนาคต

“การเปิดตัวดีลิเวอรี่ 1312 เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาผลักดันยอดขายช่องทางดีลิเวอรี่เติบโตมากกว่า 20% และตลาดดีลิเวอรี่กลุ่มอาหารมีแนวโน้มเติบโตสูง 10-15% ต่อปีตามเทรนด์การบริโภคของกลุ่มลูกค้า ซึ่งซีอาร์จีมีจุดแข็งในแง่การจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ระดับ Key Food Aggregator ทั้ง Grab Food, Line Man และ Food Panda รวมทั้งจะขยายพันธมิตรเพิ่มขึ้น เพื่อเจาะตลาดดีลิเวอรี่และเพิ่มฐานกลุ่มลูกค้าทุกเซกเมนต์”

ณัฐ วงศ์พาณิช ยังคาดการณ์ตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยในปีนี้ว่า จะขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี จากการเร่งขยายสาขาของผู้เล่นทุกค่ายและการเข้ามาเปิดร้านอาหารของผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (Food chain restaurant) ที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 และแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างงัดกลยุทธ์การแข่งขันเชิงรุกอย่างร้อนแรง เพื่อเจาะตลาดหวังขยายฐานลูกค้าทุกเซกเมนต์

ขณะที่ซีอาร์จี ตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2562 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งรายได้และกำไร โดยวางเป้ารายได้ที่ 13,400 ล้านบาท เติบโตขึ้น 12% จากรายได้ปีที่ผ่านมา 12,000 ล้านบาท และตั้งเป้าซีอาร์จีจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 9% ของตลาดเซกเมนต์ร้านอาหารเครือข่ายหรือ Food Chain ที่มีมูลค่ามากกว่า 140,000 ล้านบาท

“ปีนี้จะเป็นปีที่ซีอาร์จีรุกธุรกิจร้านอาหารมากที่สุดในรอบหลายปี และเชื่อมั่นว่าทุกแบรนด์สามารถเป็นกำลังหลักในการผลักดันรายได้ โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น เคเอฟซี, โอโตยะ, มิสเตอร์ โดนัท และกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ทั้ง เปปเปอร์ ลันช์, โยชิโนยะ, คัตสึยะ และเทนยะ ซึ่งมีอัตราเติบโตสูงถึง 29% ยอดขายพุ่งทะลุระดับ 1,000 ล้านบาท และในปีนี้ซีอาร์จีจะมีการเปิดสาขาอีกราว 120-130 สาขา โดยเน้นในกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ยังสามารถขยายตลาดไปได้อีก” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์จี กล่าว