กฤตธี มโนลีหกุล ผู้สร้าง JOOX พลิกฟื้นอุตสาหกรรมเพลง

2904

การล่มสลายของอาณาจักรค่ายเพลงในเมืองไทยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นอุตสาหกรรมด่านแรกๆ ที่ถูกคุกคามจากดิจิทัล

ความรุ่งเรืองของยุคเทปคาสเซ็ท ทำให้ 2 ค่ายยักษ์ อโศก และลาดพร้าว กลายเป็นบริษัทในฝันของวัยรุ่นในยุคสมัยนั้น และกลายเป็นบริษัทเนื้อหอมในตลาดหลักทรัพย์

มาวันนี้ หนึ่งค่ายเพลงทรานฟอร์มตัวเอง จากสื่อกลายเป็นบริษัทพาณิชย์ขายเครื่องสำอาง ขณะที่อีกค่ายแม้ยังพยุงธุรกิจเพลงไว้ได้ แต่แทบหารายได้จากขายเพลงโดยตรงไม่ได้มาเป็นเวลานาน แม้จะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และบริษัทไอทีหลายราย พยายามสร้างแพลตฟอร์มในการขายเพลงมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำกลับมาได้

จนกระทั่ง 3 ปีที่แล้ว กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ ประเทศไทย ได้นำแพลตฟอร์มการฟังเพลงรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกง ในรูปแบบแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ “JOOX”  มาเปิดตัวในประเทศไทย

“หลังหมดยุค เทป CD ไป พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้บริโภคฟังเพลงไม่ต้องจ่ายเงินแล้ว โจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรที่จะลอนซ์แพลตฟอร์มเพลงขึ้นมา”

กฤตธีนำเอา Pain Point ของการฟังเพลงฟรีที่ได้รับความนิยมในรูปแบบต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อหาแพลตฟอร์มใหม่  อย่าง MP3 ที่มีความยุ่งยากต้องหาเพลงดาวน์โหลดมาลงในอุปกรณ์ และต้องใช้ลำโพงหรือหูฟังมาเชื่อมต่อเพื่อการรับฟัง ขณะที่การฟังเพลงจากยูทูป ก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ต สิ้นเปลืองดาต้า อีกทั้งหากฟังบนสมาร์ทโฟนก็ต้องเปิดหน้าจอค้างไว้ตลอดเวลา เปลืองแบตเตอรี่

JOOX ตัดข้อจำกัดเหล่านี้ออกไป เพราะแอพพลิเคชั่นนี้สามารถรับฟังเพลงได้โดยตรงผ่านมือถือ รวมถึงสามารถดาวน์โหลดเพลงที่ชอบเก็บไว้บนมือถือ รับฟังได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และระหว่างฟังเพลงแม้หน้าจอจะดับเพลงก็ยังเล่นต่อเนื่องไป

แต่ กฤตธี ก็ยอมรับว่า การนำ JOOX ไปเสนอค่ายเพลงในครั้งแรกก็ไม่ได้รับการตอบรับจากทุกค่าย เพียงเพราะการเข้าไปนำเสนอในนาม “สนุกออนไลน์” ที่เคยมีความร่วมมือกับค่ายเพลงในการขายริงโทนมาก่อน ทำให้หลายค่ายให้ความร่วมมือ แม้บางคนก็อาจคิดว่าสุดท้ายก็คงไม่ต่างจากรายก่อนๆ ที่เคยมาเสนอ  และก็มีบางค่ายเพลงไม่สนใจร่วมมือ

JOOX มีการหารายได้จากรูปแบบการให้บริการ 2 ทางเลือก คือ สามารถเปิดฟังเพลงได้ฟรี แต่จะมีโฆษณาเข้ามาคั่นระหว่างเปลี่ยนเพลงอยู่เป็นระยะ และจะฟังเพลงบางเพลงที่ถูกจัดให้อยู่ในบริการ Premium ไม่ได้ หรือหากไม่ต้องการฟังโฆษณา หรือต้องการฟังเพลงทั้งหมด ก็ต้องซื้อบริการ Premium ในราคาเดือนละ 129 บาท

ใน 3 ปีที่ผ่านมา JOOX มีผู้ใช้ที่เปิดใช้งานสม่ำเสมออยู่ราว 3 ล้านคนต่อเดือน และตั้งแต่เปิดให้บริการมา มีผู้ใช้บริการ Premium จ่ายค่าฟังแล้วราว 3.6 แสนคน สร้างรายได้ก้อนใหญ่กลับไปหาค่ายเพลง ทำให้วันนี้บางค่ายเพลงที่เคยปฏิเสธเข้าร่วม ก็เปลี่ยนใจมาร่วมบริการ

แต่ที่มากกว่านั้น คือการได้รับการยอมรับจากค่ายเพลง และศิลปินนักร้อง นักดนตรี ที่มอง JOOX เป็นหนึ่งในสถาบันมาตรฐานในการมอบรางวัลให้กับผลงานเพลงยอดเยี่ยมในแต่ละปี

ปัจจุบัน JOOX มีอีเวนท์มอบรางวัลให้กับศิลปินหลัก 2 รายการ คือ JOOX Thailand Music Award ช่วงต้นปี และ Thailand Top 100 Award ในปลายปี กฤตธี เล่าว่า การจัดงานในครั้งแรกๆ ต้องจ้างศิลปินให้มาร่วมงาน แต่ปัจจุบัน ทั้ง 2 รายการ เป็นอีเวนท์สำคัญของปีที่ศิลปินไทยต้องมา

และในบรรดาศิลปินที่ก้าวขึ้นมารับรางวัลในแต่ละปี ไม่ใช่ทุกคนโด่งดังเพราะมีค่ายใหญ่สนับสนุนมาตั้งแต่แรกเริ่ม  ชื่อศิลปินชื่อดังอย่าง Urboy TJ แร็ปเปอร์รุ่นใหม่มาแรง หรือ The Toys นักร้องรูปหล่อเสียงรัว ต่างได้รับการสนับสนุนจาก JOOX ในช่วงก้าวเดินแรกๆ ก่อนที่จะโด่งดังสุดๆ ในทุกวันนี้ จากเวที  “JOOX Spotlight”

Spotlight คือพื้นที่ของศิลปินที่ไม่มีค่าย หรือศิลปินมีค่ายที่คิดจะทำแนวเพลงใหม่ๆ ให้กับตนเอง หรือทำร่วมกับศิลปินต่างค่าย โดยต้องได้รับอนุญาตจากค่ายที่สังกัดอยู่

กฤตธี กล่าวว่า ตั้งแต่  JOOX เริ่มลอนช์โปรแกรม Spotlight ก็เริ่มเห็นกลุ่มศิลปินไร้ค่าย ศิลปินอินดี้ ที่ก่อนหน้าเคยใช้ยูทูปเป็นช่องทางในการนำเสนอเพลง เดินเข้ามาหา JOOX มากมาย

“เมื่อศิลปินหน้าใหม่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเราก็จะมีคนฟังหลายล้านคน  เราไม่ได้สร้างเขา เพราะเขาสร้างตัวเอง เขามีของอยู่แล้ว เราเป็นคนช่วยให้คนฟังได้เห็นสิ่งเหล่านี้ สมัยก่อนอาจต้องไปผ่านระบบหลายๆ อย่างในอุตสาหกรรมเพลง เราตัดระบบเหล่านั้นออกไปหมดเลย ถ้าคุณเจ๋งจริงคุณก็จะมาอยู่ตรงนี้ได้ และมีโอกาสเกิดได้”

โดยหากศิลปินได้ถูกคัดเลือกเข้าสู่โปรแกรม Spotlight มีสัญญา Exclusive ให้ JOOX เป็นผู้เผยแพร่ผลงานเป็นเวลา 1 ปี นอกจากการนำเพลงขึ้นเผยแพร่ผ่านแอพพลิเคชั่น JOOX แล้ว ยังมีการโปรโมทผ่าน Media Support ที่ JOOX มีอยู่ อาทิ สื่อ Out of Home บนรถไฟฟ้า BTS และ MRT สื่อบนแอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ รวมมูลค่าราวกว่า 2 ล้านบาท นอกจากนั้น การจัดคอนเสิร์ตต่างๆ ของ JOOX ทั้งอีเวนท์หลัก 2 รายการ รวมถึงโปรแกรม School Tour ที่จัดร่วมกับสปอนเซอร์เจ้าของสินค้าต่างๆ ก็จะมีการพาศิลปินเหล่านี้ไปร่วมแสดงด้วย

วันนี้ Spotlight มีศิลปินอยู่ 60 ราย และมีเพลงเผยแพร่อยู่ 90 เพลง เดินสู่กระบวนการแจ้งเกิดตามศิลปินรุ่นพี่อย่าง Urboy TJ และ The Toys

แม้บทบาทของ Spotlight จะเป็นเหมือนการสร้างศิลปินใหม่ๆ เข้าสู่วงการเพลง แต่กฤตธีก็ไม่ได้มองว่า JOOX จะกลายเป็นค่ายเพลง ยังคงเป็นบริษัทเทคโนโลยีเหมือนเช่นเดิม

“JOOX เป็นแพลตฟอร์มตรงกลาง มีค่ายเพลงอยู่ฝั่งหนึ่ง ผู้ฟังอยู่ฝั่งหนึ่ง ในอดีตเคยเป็นวิทยุ  เทปคาสเซ็ท หรือแผ่นซีดี แต่เราก็ไม่ได้ใหญ่พอที่จะเปิดรับกับทุกคนได้ ทำได้เพียงพยายามหาว่าคนไหนที่มีของ แต่ไม่อยู่ในค่าย ดึงศิลปินเหล่านั้นเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา มีเด็กๆ มากมายที่เดินเข้ามาหาเรา แต่ก็ต้องบอกว่าคนที่เข้ามาหาเราประมาณ 90% ไม่ผ่าน เราก็ต้องหา 10% นี้ให้เจอ สุดท้ายแล้วศิลปินทุกคนก็ต้องการมีค่ายในการช่วยโปรโมท เมื่อแจ้งเกิดได้แล้วก็ส่งต่อไปให้กับค่ายเพลง แล้วเราก็ต้องทำงานกับทางค่ายอย่างใกล้ชิดอยู่ดี”

วันนี้ JOOX จึงกลายเป็นเส้นเลือดเส้นใหม่ที่ช่วยฟื้นให้อุตสาหกรรมเพลงกลับมาโลดแล่น มีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง 15 ปีที่อุตสาหกรรมเพลงตกต่ำ Physical ขายไม่ได้ แต่ Digital เองก็ทำรายได้น้อยนิด แต่ 2 ปีที่ผ่านมา IFPI สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ ได้รายงานว่า รายได้จาก Digital ของอุตสาหกรรมเพลง มีมูลค่าสูงกว่ารายได้จาก Physical และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นไปทุกปี

กฤตธี เชื่อว่า วันนี้ค่ายเพลงคงรู้สึกพอใจ เพราะไม่เพียงแต่ JOOX จะสามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่อุตสาหกรรมเพลง ยังเป็นผู้สร้างศิลปินหน้าใหม่เข้ามาสู่วงการ ขณะที่บทบาทของ JOOX เองก็ยังต้องก้าวต่อไป

ในมุมมองที่เป็น Technologist กฤตธี คิดว่าสำหรับสิ่งที่ง่ายของ JOOX ได้ก้าวผ่านมาแล้ว โดยคนในกลุ่มผู้นำทางเทคโนโลยี ทั้ง Innovator คนกลุ่มแรกที่เกาะเทรนด์ และ Early Adopters กลุ่มที่สองที่ตามมา คือผู้ใช้หลักของ JOOX ในปัจจุบัน แต่คน 2 กลุ่มนี้มีเพียง 25% ของคนทั้งประเทศ

ขณะที่ผู้คนอีกราว 60-70% ถูกเรียกว่ากลุ่ม Majority คนที่อยู่ห่างไกลจากเทคโนโลยี ทั้งกลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มคนที่อยู่ในต่างจังหวัด ยังเป็นความท้าทายที่ JOOX ต้องก้าวไปให้ถึง และเป็นงานหินของกฤตธี

 

ขอบคุณภาพจาก : www.tencent.co.th