บีจี ต่อยอดธุรกิจต่อเนื่อง ส่ง บีจีอี ลุยธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

2477

แม้สโมสรฟุตบอล บีจี จะทำผลงานไม่สวย ตกชั้นจากลีกสูงสุดลงไปอยู่ลีกรอง แต่สำหรับธุรกิจของบีจีในปีนี้ ดูจะเป็นปีแห่งการขยับขยายเติบโตมากที่สุดปีหนึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมา

โดยการขับเคลื่อนสำคัญเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บีจีซี ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วอันดับ 1 ของไทย ก็เดินหน้าเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อย  และในปีเดียวกันนี้ บีจีอี โซลูชั่น บริษัทน้องใหม่ของกลุ่มบีจีที่เพิ่งเปิดก่อตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ประกาศความพร้อมในการขยายธุรกิจสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

จุดเริ่มต้นของบีจีอี มาจากกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบีจี  เตาหลอมแก้วมีพลังงานความร้อนถูกปล่อยทิ้งออกมา ในปี 2553 จึงเกิดโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนทิ้งจากโรงงาน บีจีซี ขอนแก่นกล๊าส ที่แปลงพลังงานความร้อนทิ้งเป็นไอน้ำผลิตไฟฟ้าทดแทนน้ำมันเตา  ด้วยกำลังการผลิต 40,000 ตันไอน้ำต่อปี และในปี 2557 มีการขยายโครงการนี้สู่โรงงาน บีจีซี อยุธยากล๊าส มีกำลังการผลิต 1.8 เมกะวัตต์  พร้อมทั้งเริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่โรงงาน BGC ขอนแก่นกล๊าส ด้วยกำลังการผลิต 0.6 เมกะวัตต์ เพื่อนำพลังงานที่ได้มาใช้ภายในโรงงาน และจำหน่ายสู่ภายนอก ก่อนแยกออกมาตั้งเป็น บีจี เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ในปี 2560

สมพร เต็มอุดมสมบูรณ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า  บีจีอี โซลูชั่น ได้ดำเนินนโยบายตามแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่ อย่าง บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ที่มีความมุ่งหวังที่จะนำพลังงานเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วมาใช้อย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดเกิดประโยชน์สูงสุด  ซึ่งเป็นการกระตุ้นโดยตรงให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

จากข้อมูลการใช้พลังงานของประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีการใช้งาน 49,822 พันตัน เช่นเดียวกับ น้ำมันดิบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 6.7 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 837,380 ล้านบาท และแนวโน้มการใช้พลังงานของประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยที่น้ำมันสำเร็จรูปยังคงเป็นชนิดของพลังงานที่ใช้มากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 48.6 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ รองลงมา ได้แก่ เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า พลังงานหมนุเวียน และก๊าซธรรมชาติตามลำดับ

ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนในประเทศเพิ่มมากขึ้น  และพยายามผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก แผนการอนรุักษ์พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน พ.ศ. 2558 – 2579

โดย บีจีอี โซลูชั่น ได้วางขอบข่ายในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานบริสุทธิ์ไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย

  1. พลังงานความร้อนจากแหล่งใต้ภิภพ และพลังงานความร้อนทิ้ง (Geothermal & Waste Heat Recovery)
  2. พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)
  3. พลังงานลม (Wind Energy)
  4. พลังงานชีวภาพ ชีวมวล (Bio Energy)
  5. พลังงานน้ำ (Hydro Power)

สมพรกล่าวว่า ในช่วง 5 ปีแรก(นับตั้งแต่ปี 2560) บีจีอี โซลูชั่น จะเน้นธุรกิจพลังงานใน 3  ส่วน คือ พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม และพลังงานชีวิภาพ ชีวมวล  โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ปัจจุบันมีการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานอยุธยา สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 12 เมกะวัตต์ ใช้กับโรงงานของบริษัทในเครือ และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในเวียดนาม ที่มีกำลังการผลิตราว 50 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ก็จะทำให้บีจีอี โซลูชั่น มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 62 เมกะวัตต์ พร้อมในการขยายสู่การจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมภายนอก

“บีจีอี โซลูชั่น ใช้เวลา 2 ปี ในการศึกษาตลาด มองหาโซลูชั่นการผลิตที่เหมาะสม สามารถทำต้นทุนให้ถูกลงแข่งขันกับตลาดได้ ซึ่งปีหน้าเราพร้อมจะทำตลาด  โดยแนวโน้มในการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ถือว่าสดใส โดยเฉพาะความแพร่หลายของ Energy Storage อุปกรณ์เก็บพลังงานไฟฟ้า ที่เริ่มมีมากขึ้น ทำให้ราคาปรับลดลงมาก และจากการที่จะมีผู้ประกอบการวางแผนตั้งโรงงานผลิต Energy Storage ขึ้นในประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากเดิมที่ใช้ได้เฉพาะในเวลากลางวัน สามารถเก็บกักไว้ในในเวลากลางคืนได้ ตลาดก็จะเติบโตยิ่งขึ้นอีก”

ขณะที่พลังงานน้ำ ที่จะใช้พลังงานจากแม่น้ำสายเล็ก และพลังงานชีวภาพ และชีวมวล ที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตเป็นแกลบ, ไม้สับ จะมีการดึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาร่วมงาน ก็มีแผนในการผลิตเพื่อใช้กับโรงงานของบีจีเป็นลำดับแรก ก่อนขยายออกมาทำตลาดภายนอกในอนาคต

สมพร วางเป้าหมายว่า แผนงานภายใน 5 ปี (2560-2565) บีจีอี โซลูชั่น จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนราว 3,000-4,000 ล้านบาท  โดยในปีหน้าที่จะเริ่มทำตลาดขายไฟฟ้าให้กับโรงงานภายนอก คาดว่าจะมีรายได้ราว 500 ล้านบาท  พร้อมเตรียมตัวนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลา 3 ปี  ซึ่งเชื่อว่าภายในเวลา 7-8 ปี บีจีอี โซลูชั่น ก็จะคืนทุน และเดินหน้าทำกำไรอย่างยั่งยืนต่อไป

“บีจีอี โซลูชั่น มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงาน ทั้งภายในและภายนอก เดินหน้าขยายศักยภาพ เติบโตอย่างแข็งแรง บนพื้นฐานการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนในทุกกระบวนการ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน” กรรมการผู้จัดการ บีจีอี โซลูชั่น กล่าว