มิติใหม่ของผู้นำสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. คนล่าสุดที่ยังทำงานในตำแหน่งได้ครบปีไปหมาดๆ สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. ดูเหมือนจะขับเคลื่อนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้ไกลกว่าที่ผ่านมา
เพราะนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เข้ามารับหน้าที่ แนวคิดในการแยกเอสเอ็มอี ออกจากสตาร์ทอัพ เพราะมองเป้าหมาย กระบวนการความคิด และแนวทางในการทำธุรกิจของ 2 กลุ่มนี้แตกต่างกัน ทำให้ สสว.สามารถวางแนวทางการขับเคลื่อนกลุ่มเอสเอ็มอีได้ชัดเจนและตรงเป้ามากขึ้น
หนึ่งในแนวคิดการยกระดับเอสเอ็มอี สุวรรณชัย มองว่า องค์ความรู้ที่มีอยู่ใน สสว. แม้พัฒนาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เติบโต แข็งแรงขึ้นได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ยังมีองค์ความรู้อีกหลายๆ ด้าน ที่ควรให้มืออาชีพในด้านนั้นๆ เข้ามาช่วยดูแล สสว.จึงมีการทำความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ และหนึ่งในองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะช่วยให้ก้าวเดินของเอสเอ็มอี ยาวไกลออกไปสู่การเป็นผู้ประกอบการระดับแนวหน้าของธุรกิจ คือ สถาบันการเงิน
จึงเกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับธนาคารไทยพาณิชย์ ลงนามความร่วมมือ “การส่งเสริมสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปี 2561 – 2564” เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มุ่งกระจายการเจริญเติบโตสู่เศรษฐกิจฐานราก
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า เนื้อหาในความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย การเสริมสร้างโอกาส การส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงบริการของ สสว. และธนาคาร รวมถึงการอำนวยความสะดวก และการพัฒนาขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิก สสว.
ความร่วมมือนี้ ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจัดให้มีที่ปรึกษาธุรกิจ (Business Coach) ให้คำแนะนำปรึกษา รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีได้รับองค์ความรู้ในการทำธุรกิจ มีระบบการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด (High Value) ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการพัฒนาวิสาหกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และการส่งเสริมผู้ประกอบการในระดับชุมชน (Community-based) หรือผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย (Micro) เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจรากฐานต่อไป
“สสว.มีการมองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับเอสเอ็มอี ที่เรามีฐานข้อมูลอยู่ราว 3 ล้านราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการรายย่อยราว 2.2 – 2.3 ล้านคน และผู้ประกอบการในรูปแบบบริษัท 7-8 แสนบริษัท โดยในความร่วมมือนี้ ในระยะแรก สสว. จะนำผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ ตั้งแต่แต่ครั้งที่ 1 – ครั้งที่ 10 ที่มองเห็นศักยภาพในการสร้างรายได้ และมีวิสัยทัศน์ในการยกระดับธุรกิจ มีกระบวนความคิด และมีความพร้อม จำนวน 19 กิจการ จากหลากหลายประเภทธุรกิจ เช่น ธุรกิจเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ธุรกิจไฟฟ้าและอีเล็กทรอนิคส์ ธุรกิจซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชัน ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจงานสร้างสรรค์และออกแบบ ธุรกิจการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ เข้าร่วมกิจกรรมที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้จัดเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ MAI ยกระดับธุรกิจและการหาแหล่งเงินทุนสู่การขยายและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับกิจการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทของ สสว. ในการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้มีความเข้มแข็ง และเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ” ผอ.สสว. กล่าว
ด้าน พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด SME Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าที่ผ่านมา เอสเอ็มอีสามารถสร้างจีดีพีให้กับประเทศถึง 40% ความร่วมมือระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอี โดยทั้งสององค์กรจะนำศักยภาพที่มีร่วมกันบูรณาการแนวทางและรูปแบบการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ภายใต้ครือข่ายของทั้งสององค์กรกว่า 2 แสนรายให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
ภารกิจสำคัญของธนาคารคือ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางเลือก (Alternative Financing) นอกเหนือการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามปกติ โดยเฉพาะแหล่งเงินทุนประเภทตราสารทุน ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทต่อภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น ธนาคารจะเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมให้การสนับสนุนอื่นๆ ที่ช่วยผลักดันให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI เพื่อระดมเงินทุนที่จะช่วยรองรับแผนการขยายการลงทุนและการเติบโตของธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและมองเห็นศักยภาพของธุรกิจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นผู้ถือหุ้นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์จะจัดทำหลักสูตรพิเศษเพื่ออบรมให้ความรู้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว ได้รับการคัดเลือกทั้ง 19 ราย เนื้อหาหลักสูตรจะมุ่งตรียมความพร้อมธุรกิจเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI รวมถึงการวางแผนด้านภาษีสำหรับธุรกิจ และกระบวนควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions) และการให้ความรู้ทางการเงินอื่นๆ เช่น การบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล เป็นต้น ใช้เวลาอบรม 2 วัน คาดว่าโครงการจะเริ่มต้นได้ครั้งแรกในเดือนมกราคม 2562
- กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเครือข่าย สสว. รายย่อย จำนวน 1,000 คน เนื้อหาหลักสูตรจะให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการด้านการเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้และเปิดมุมมองใหม่ๆ ทางด้านการเงิน ที่จะเป็นทางเลือกให้เอสเอ็มอีได้มองหาทางเลือกที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองอย่างคุ้มค่าที่สุด
ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้าหมายผลักดันสมาชิกในเครือข่าย สสว. เข้าระดมในตลาด MAI จำนวน 30 รายภายในปี 2562 ซึ่งจะเป็นแบบอย่างของความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังพร้อมนำศักยภาพด้านอื่นๆ ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กทุกกลุ่ม อาทิ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาช่องทางการตลาด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และ Know-how ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากเครือข่ายพันธมิตรของธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีอยู่หลากหลายสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร