“ฐากร ชัยสถาพร” ผลักดัน “ศรีนานาพร” จากยี่ปั๊วขายขนมเล็กๆ สู่ Regional Company

8032

หากพูดถึงขนมเด็กๆ ที่มีชื่อเป็นที่รู้จัก อย่าง “เบนโตะ-เจเล่-โลตัส-ช็อกกี้” บางคนอาจจะมองว่าเป็นธุรกิจเล็กๆ ไม่มีมูลค่า แต่จริงๆ แล้ว ขนมเด็กๆ เหล่านี้ สร้างรายได้หลายพันล้านบาทต่อปี ให้กับ “บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง”

และขนมเด็กๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้วางขายอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ขยายตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงกำลังจะขยายไปสู่ตลาดซีแอลเอ็มวี ด้วยฝีมือการผลักดันของผู้บริหารที่ชื่อ “ฐากร ชัยสถาพร” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานธุรกิจ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (SNNP)

“ฐากร” เล่าว่า “ศรีนานาพร” เติบโตมาจากร้านยี่ปั๊วขนมเล็กๆ ย่านมหานาค เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เริ่มจากพี่ชายของเขาเริ่มธุรกิจขนมตั้งแต่ปี 2514 โดยเริ่มต้นจากทำเมล็ดแตงโม ตราระฆังทอง จนมีชาวสิงคโปร์มาซื้อกิจการต่อไป จึงย้ายมาทำโรงงานเวเฟอร์ที่ซอยวัดม่วง 63 ย่านบางแค ภายใต้ชื่อแบรนด์คุณหนู และกามเทพ ซึ่งถือเป็นสินค้าขายดีในยุคนั้น และยังขยายธุรกิจต่อมาสู่การเปิดไลน์บิสกิต หลังซื้อเครื่องทำขนมปังเข้ามาเสริม ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจึงมาซื้อที่แถวอ้อมน้อย 3 แปลง

และเมื่อปี 2533 หลังเรียนจบ เขาจึงได้เข้ามาร่วมบริหาร โดยพี่ชายมอบหมายให้ดูเรื่องของคอร์ปอเรท และการตลาดทั้งหมด

ฐากร” เล่าอีกว่า นอกจากการบริหารตลาดและภาพรวมของบริษัทแล้ว เขายังพัฒนาสินค้าใหม่กับแบรนด์เยลลี่ เจเล่ ขึ้นมาอีกหนึ่งแบรนด์ ซึ่งก็เป็นหนึ่งแบรนด์สินค้าที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

แต่เส้นทางทั้งหมดไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2541 -2542 ธุรกิจขนมที่ก่อนหน้านั้นถือเป็นหนึ่งในดาวรุ่งที่ซื้อง่ายขายคล่อง ผลิตอะไรออกมาเท่าไรก็ขายได้ ก็ต้องเจอกับภาวะสะดุดเช่นเดียวกัน เนื่องจากสภาพตลาดเปลี่ยน ลูกค้าที่เป็นยี่ปั๊วล้มหายตายจาก

บริษัทต้องปรับตัวครั้งใหญ่ “ฐากร” ได้เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการมาสู่ระบบการขายเงินสด (Cash Sale) ช่องทางขายที่เคยขายตรงสู่ร้านยี่ปั๊ว ต้องเปลี่ยนมาสู่ธุรกิจรีเทลที่มีโมเดิร์นเทรดแบรนด์ใหญ่จากต่างชาติเข้ามาเป็นช่องทางใหม่

การทำธุรกิจจึงต้องกระจายให้ครอบคลุมทุกช่องทาง ทั้งโมเดิร์นเทรด เทรดดิชั่นนอลเทรดหรือร้านค้าปลีกทั่วไป และยังต้องจับมือกับโลจิสติกส์รายใหญ่อย่างบริษัท คาราบาวแดง และ บริษัท เดอเบล จํากัด ของค่ายกระทิงแดง ช่วยกระจายสินค้า เสริมกับรถกระจายสินค้าของบริษัท

แน่นอนตลาดออนไลน์ ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ขนมเด็กๆ ของศรีนานาพรฯ บุกไปถึง ซึ่งเขาได้จับมือกับลาซาด้า และอาลีบาบา พร้อมตั้งทีมงานออนไลน์ขึ้นมาพัฒนาช่องทางขาย พัฒนาการตลาด และกำลังพัฒนาสินค้าที่เหมาะสำหรับช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะอีกด้วย

ฐากร” พูดถึงวิธีการทำตลาดของเขาว่า…”เราต้องรู้ว่าลูกค้าเราคือใคร กระแสของโลกไปทางไหน เราต้องตามกระแสผู้บริโภคให้ทัน และต้องใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ เราใช้เงินปีละ 200 ล้าน รายละเอียดเยอะ ต้องแยกย่อย สินค้าบางตัวออนไลน์อย่างเดียว ในอนาคตเราจะทำเรื่องน้ำสมุนไพรที่เป็นธัญพืช เราจะออกออนไลน์อย่างเดียว ถ้าเราทำได้ดี เราสามารถทำคอนเทนต์ยาวๆ ได้ อธิบายที่มาที่ไปของโปรดักส์ได้ อย่างเช่น นมถั่วเหลือง มาอย่างไร จะผสมน้ำมะพร้าวให้ด้วย หรือตัวที่เป็นรวงข้าวโพด เราก็บอกที่มา และประโยชน์ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ถ้าเรามายิงทีวี เงินบานเลย 1 นาที ….พวกนี้เราจะทำเป็นนิชมาร์เก็ตมากขึ้น เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นเออร์เบิร์น หรือลูเลอร์”

แนวคิดของนักการตลาดคนนี้ ให้ความสำคัญกับทั้งการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ และการขยายช่องทางตลาดเพิ่มขึ้นโดยปัจจุบันสินค้าของศรีนานาพรฯ ขยายออกไปเป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่ 1. สแน็กซ์ คือ เบนโต๊ะ 2. เยลลี่คือ เจเล่ และแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยซึ่งอยู่ในพอร์ตเยลลี่ 3. บิสกิต มีแบรนด์ โลตัส กับช็อกกี้ และ 4. เครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ เมจิฟาร์ม

ส่วนช่องทางตลาด นอกจากตลาดในประเทศที่เร่งขยายจนครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว ตลาดใหม่ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีแอลเอ็มวี ก็ถือเป็นตลาดสำคัญ และเป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจ แต่การขยายตลาดใหม่ ศรีนานาพรฯ ก็ต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองเป็นอย่างดี

“ฐากร” บอกว่า สิ่งที่ต้องดูก่อนขยายตลาดคือ คุณภาพที่ต้องสู้คู่แข่งในตลาดได้ มีศักยภาพพอที่จะเข้าไปแข่งขัน เส้นทางการเข้าสู่ตลาดเหล่านั้น ต้องศึกษาว่า จะสร้างดิสทริบิวเตอร์หรือไปร่วมกับพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่น และสิ่งสำคัญคือ การลงลุยตลาดเอง พร้อมตั้งโรงงาน เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง

ขณะนี้ ศรีนานาพรฯ ได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแรกที่เมียนมา หลังจากนั้นจึงขยายการลงทุนไปตั้งโรงงานใน เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนตลาดฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ จีน ก็เป็นตลาดที่มีสินค้าของศรีนานาพรฯ เข้าไปวางจำหน่ายแล้วเช่นกัน

เป้าหมายสูงสุดของผู้บริหารคนนี้คือ การผลักดันสินค้าของบริษัทฯ ไปสู่ตลาดโลก โดยเริ่มสร้างฐานในตลาดซีแอลเอ็มวี หรือ Regional Company ก่อนที่จะขยายไปสู่เอเชีย และจีน ด้วยเป้ายอดขายต่างประเทศในปีนี้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา ที่มียอดขายอยู่ราว 800 ล้านบาท

ความท้าทายของนักบริหารที่ชื่อ “ฐากร ชัยสถาพร” คนนี้ คือ การรักษาการเติบโต รักษามาร์เก็ตแชร์ ด้วยการขยายพื้นที่การขายแบบมั่นคง และมีศักยภาพ ซึ่งเขามั่นใจว่า การก้าวสู่เป้าหมายนั้น ไม่ไกลเกินฝันแน่นอน