anitech เปิดนวัตกรรมปลั๊กไฟ IoT ประกาศระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุยอาเซียน

2062

การกำหนดมาตรฐานปลั๊กไฟใหม่ของ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยของคนเมืองครั้งสำคัญก็ว่าได้ เพราะหากเรามองย้อนกลับไปในเหตุการณ์ไฟไหม้ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต้นตอสำคัญที่ถูกจับเป็นจำเลยของการเกิดเพลิงไหม้ คือ ไฟฟ้าลัดวงจร  และปลั๊กไฟที่เราซื้อใช้กันทุกบ้าน ทุกครัวเรือน ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรนั่นเอง

     โธมัส – พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ ประเภทคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ ภายใต้แบรนด์  “แอนิเทค” (anitech)  กล่าวยอมรับว่า บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากมาตฐาน มอก. ที่ออกมาใหม่นี้เช่นกัน การจะผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งจะทำให้ต้นทุนราคาสินค้าสูงขึ้นถึง 2 เท่าแต่หากมองภาพรวมว่า การปรับเปลี่ยนนี้จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ และทำให้คุณภาพชีวิตความปลอดภัยของประชาชนดีขึ้น ก็ยินดีที่จะดำเนินการ  โดยปรับราคาขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“สุดท้าย เราเลือกที่จะมองภาพรวมไปถึงอนาคต ตามประกาศมาตรฐาน มอก.  ผู้บริโภคต้องได้รับผลประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุด จึงเลือกพัฒนาคุณภาพของสินค้าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าทำให้ปลั๊กไฟเป็นได้มากกว่าเพียงปลั๊กธรรมดาทั่วไป  เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุเพลิงไหม้หรือมีผู้เสียชีวิตจากการใช้ปลั๊กที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. อีกต่อไป  โดยแอนิเทค เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ที่มีการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และมีฐานการผลิตเป็นของตนเอง ทำให้เราสามารถสร้างสินค้าที่มีความแตกต่าง และสามารกำหนดราคาที่เหมาะสมได้ “

ปัจจุบันตลาดปลั๊กไฟในประเทศไทย มีมูลค่าราว 1,500 ล้านบาท ผู้บริหารสมาร์ท ไอดี กรุ๊ป มองว่าในปีนี้ตลาดมีโอกาสเติบโตได้จากการกำหนดมาตรฐานของ มอก. นี้ ทำให้ราคาปลั๊กไฟสูงขึ้น คาดว่าตลาดน่าจะเติบโตขึ้นราว 20% เป็นมูลค่า 1,800 ล้านบาท

แต่แนวทางการทำธุรกิจของสมาร์ท ไอดี กรุ๊ปไม่ได้หยุดแค่การผลิตปลั๊กตามมาตรฐานอุตสาหกรรม  เพราะด้วยพื้นฐานของบริษัทเกิดมาจากผู้ผลิตสินค้าไอที อุปกรณ์เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ ที่มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง ประกอบกับเทรนด์ IoT หรือ Internet of Things ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ทีวี เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า จนถึงตู้เย็น  สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมานานแล้ว  ปลั๊กไฟก็ควรถึงเวลาที่จะก้าวสู่เทคโนโลยี IoT ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นกว่ามาตรฐานที่ มอก. กำหนด

ก่อนหน้า แอนิเทค  ได้พัฒนาปลั๊กไฟที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ผ่านเครือข่าย  Wifi  ผ่านแอปพลิเคชั่น Anitec  ออกวางตลาดมาแล้ว  ในรุ่น H900 โดยผู้ใช้สามารถสั่งงานเปิด-ปิดปลั๊กไฟผ่านแอปพลิเคชั่น  และในเดือนกันยายนนี้ แอนิเทค ก็จะเปิดตัว ปลั๊กไฟ IoT รุ่นใหม่ ที่สามารถเชื่อมต่อผ่าน  eSIM  บนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G หรือ 4G  ซึ่งมีความเสถียรของซอฟแวร์มากกว่า  และสามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นได้มากกว่าการเปิด-ปิด เท่านั้น

โดยการพัฒนานวัตกรรมของสินค้าในครึ่งปีหลัง  แอนิเทคจะรุกตลาดปลั๊ก IOT หรือ Smart plug เป็น Product Highline  และตั้งเป้ายอดขายปลายปี 2561 ไม่ต่ำกว่า 450 ล้านบาท ซึ่งสามารถผลักดันยอดขายขึ้นมากกว่าปี 2560   ถึง 150 ล้านบาท  เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดปลั๊กในประเทศไทยให้ถึง 30%  และมีเป้าหมายในการที่จะก้าวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมปลั๊กไฟอันดับ 1 ของไทย มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ภายในปี 2563

นอกจากนั้นในตลาดต่างประเทศ ปัจจุบัน สมาร์ทไอดีกรุ๊ป ได้มีการนำแบรนด์แอนิเทคไปจดทะเบียนในประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลก ราว 20 ประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป แต่เป้าหมายสำคัญในช่วงนี้ คือการรุกตลาดสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน AEC  และจะมีการตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยเป็นของตนเองโรงงานแรก โดยจะเป็นโรงงานที่เน้นการวิจัย พัฒนา และผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมพิเศษ ที่ไม่สามารถไปจ้างโรงงานอื่นผลิตได้

โดยทั้งหมดมีเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมสินค้าไอที และอุปกรณ์เชื่อมต่อระดับอาเซียน  ซึ่งก่อนจะก้าวถึงจุดนั้น โธมัส-พิชเยนทร์ มองว่า จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ไปถึง  โดยการนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ คือแนวทางต่อไปของสมาร์ท ไอดี กรุ๊ป

โธมัส – พิชเยนทร์ กล่าวว่า  สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป เกิดขึ้นจากสตาร์ทอัพ เมื่อ 10 ปีก่อน เติบโตเข้ามาทำตลาดคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นเวลา 3 ปี  มีสินค้ามากกว่า 1,000 SKU โดย 20% ของสินค้าทั้งหมด จะเป็นสินค้าที่สามารถเชื่อมต่อ IoT  โดยในปี 2560 สามารถทำยอดขายได้ 300 ล้านบาท  คิดเป็นจำนวนชิ้นอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านชิ้น เติบโตจากปี 2559 อยู่ที่ 25%

ในปีนี้บริษัทได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และคาดว่าจะแปลงสภาพเป็นหลักทรัพย์ระดมทุนได้ในปีหน้า  ซึ่งเงินทุนที่ได้มานี้ โธมัส-พิชเยนส์ กล่าวว่า จะนำไปใช้ในการรุกตลาดอาเซียน ให้บริษัทสามารถลงทุนได้ในทุกรูปแบบ ทั้งการแต่งตั้งตัวแทน การร่วมทุนกับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมไปถึงการซื้อกิจการ

ซึ่ง โธมัส-พิชเยนทร์ เชื่อว่า ภายในปี 2563 สมาร์ทไอดี กรุ๊ป จะติดปีก ทำรายได้แตะหลัก 1,000 ล้านบาท และพร้อมพาแบรนด์ แอนิเทค ออกไปเทียบชั้นกับแบรนด์ระดับโลกได้แน่นอน