อี-คอมเมิร์ซ ส่อแววแข่งดุ ไพรซ์ซ่า เร่งขยายธุรกิจรับเทรนด์

1112

จากกลุ่มสตาร์ทอัพ บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เล็งเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของเทรนด์อี-คอมเมิร์ซ  สร้างเทคโนโลยีในการเปรียบเทียบราคาสินค้าที่จำหน่ายอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ราคาสินค้าที่ดีที่สุด  ผ่านมา 8 ปี วันนี้ กลายเป็นบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ที่มีธุรกิจอยู่ใน 6 ประเทศทั่วอาเซียน ทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับหนึ่งของประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซเมืองไทยที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปีละ 20% ทำให้การแข่งขันของผู้ให้บริการแม้จะมีผู้เล่นบางรายถอยออกไปจากตลาด แต่ก็มีหลายใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศจีน

“ช่วงครึ่งปีหลังมาร์เก็ตเพลส จะยิ่งมีแนวโน้มแข่งขันกันดุเดือดขึ้น เพราะมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่จากต่างชาติ เริ่มบุกตลาดหนักขึ้น ขณะเดียวกัน รายที่เคยพักการทำตลาดในไทยก็หวนคืนสู่ตลาดประเทศไทยอีกครั้ง ยังไม่แน่ว่าอาจมีการทำ Cross border หรือกลุ่มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือไม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงจำเป็นต้องปรับตัว เพิ่มกลยุทธ์และจุดขาย เพื่อรองรับการแข่งขันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รวมถึงการแข่งขันกับสินค้าข้ามพรมแดนจากต่างชาติ”

ธนาวัฒน์ เปิดเผยข้อมูลสถิติเชิงลึกของไพรซ์ซ่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ว่า มีผู้เข้าเยี่ยมชมไพรซ์ซ่าผ่านทั้งเว็บไซต์และแอปกว่า 70 ล้านครั้ง ขณะที่จำนวนสินค้าบนแพลตฟอร์มของไพรซ์ซ่าเติบโตขึ้น 28% จากจำนวน 28 ล้านชิ้น ในช่วงปี 2560 เป็นจำนวน 36 ล้านชิ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ สาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนสินค้าเหล่านี้เติบโตขึ้น มาจากการเติบโตของกลุ่มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือ Cross border ทำให้การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีฐานข้อมูลสินค้าประเภทนี้บนแพลทฟอร์มไพรซ์ซ่า 17 ล้านชิ้น หรือคิดเป็น 47% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ขณะที่สินค้าไทยมีอยู่ราว 19 ล้านชิ้น หรือคิดเป็น 53%

แต่ธนวัฒน์ก็ยอมรับว่า การจะทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ชเมืองไทยเติบโตก้าวกระโดดจำเป็นต้องมีการลงทุนสูง ดังนั้นภาพความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีน อาลีบาบา จึงถือเป็นเรื่องดี ที่จะเข้ามาทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ชไทยเติบโตขึ้น แม้จะมีสินค้าจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามา แต่ก็เป็นโอกาสของสินค้าไทยจะได้มีแพลตฟอร์มในการขายสินค้าออกสู่ตลาโลกเพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งมาร์เก็ตเพลส ร้านค้า และผู้บริโภคในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น ไพรซ์ซ่า จึงได้จับมือพันธมิตรธนาคารชั้นนำ ที่ทำให้นอกจากจะช่วยในเรื่องการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าให้ได้ราคาดีที่สุดแล้ว ไพรซ์ซ่ายังช่วยเรื่องการให้ข้อมูลการชำระเงินผ่านการช้อปปิ้งออนไลน์ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกช่องทางการชำระเงินที่คุ้มค่าและได้สิทธิพิเศษสูงสุดด้วย

“ที่ผ่านมา ไพรซ์ซ่าได้เปิดตัวบริการ Priceza Money  ผ่าน https://money.priceza.com ให้บริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ด้านการเงินและประกันภัย 3 ด้าน ได้แก่ 1. บริการเปรียบเทียบประกันรถยนต์ มากกว่า 1.6 ล้านแผนประกัน จาก 30 บริษัทประกัน  2. เปรียบเทียบบัตรเครดิต จากสถาบันการเงินชั้นนำมากกว่า 72  ใบ และ 3.เปรียบเทียบสินเชื่อส่วนบุคคล จากสถาบันการเงินชั้นนำ เพราะมองเห็น Pain Point ของผู้คนหลายเรื่อง เช่น การทำประกันภัยรถยนต์ดั้งเดิมใช้เวลานาน และ 90% ของคนขับรถจะรู้สึกไม่สบายใจในการขับเมื่อประกันรถยนต์ขาด เราจึงมองหาแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มของเราให้เชื่อมโยงกับโลกฟินเทค เพื่อแก้ไข Pain Point ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง” ธนาวัฒน์ กล่าว

ธนวัฒน์ มั่นใจว่าบริการใหม่ๆ นี้จะทำให้จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ไพรซ์ซ่า จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 50% จาก 120 ล้านวิว เป็น 180 ล้านวิว และสามารถเพิ่มอัตราการซื้อ โดยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ราว 70 ล้านวิว มีค่าเฉลี่ยการซื้อสินค้าจากมาร์เก็ตเพลสที่ลิงก์ผ่านไพรซ์ซ่า 2.98%  เติบโตจากค่าเฉลี่ยปีที่แล้ว 2.81% แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในข้อมูลของไพรซ์ซ่าของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น  ซึ่งค่าเฉลี่ยของเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาระดับโลกจะอยู่ในราว 1% เท่านั้น ทำให้ไพรซ์ซ่า สามารถสร้างมูลค่าการซื้อสินค้าให้กับมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ได้ถึง 1.42 พันล้านบาท  โดยในครึ่งปีแรกมียอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 1,702 บาทต่อออเดอร์

“ตลาดอี-คอมเมิร์ชในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีก โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดเติบโตขึ้นคือการมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย อำนวยความสะดวกผู้บริโภคได้มากขึ้น  มีข้อเสนอที่ดึงดูดใจ รวมถึงระบบการส่งสินค้าก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคเองก็มีช่องทางการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ดีมากขึ้น ซึ่งวันนี้การที่สินค้าจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาโดยที่ผู้ซื้อชาวไทยไม่รู้ตัว  เชื่อว่า ภายใน 5 ปี อี-คอมเมิร์ชจะกลายเป็นตลาดสากล สินค้า ระบบการชำระเงิน ระบบการขนส่งไม่ว่าผู้ซื้อ ผู้ขายจะอยู่มุมใดของโลก ก็สามารถติดต่อซื้อขายกันได้แบบไร้รอยต่อ”