จากร้านสุกี้ MK ก้าวสู่เจ้าโลจิสติกส์ห้องเย็นอาเซียน

3655

จากร้านอาหารไทยเล็กๆ ในสยามสแควร์ ซอย 3 ที่ตั้งขึ้นในปี 2505 เติบโตเป็นร้านสุกี้อันดับ 1 ของคนไทย ด้วยการถูกชักชวนโดยสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเครือเซ็นทรัล ในปี 2529

วันนี้ เอ็มเค คือ บริษัทผู้ดูแลครัวขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทย “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)” มีแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ  ประกอบด้วย ร้านเอ็มเค สุกี้ 426 สาขาทั่วประเทศ (รวมร้านเอ็มเค โกลด์ 6 สาขา), ร้านเอ็มเค ไลฟ์ 2 สาขา,  ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ 171 สาขา,  ร้านอาหารญี่ปุ่นฮากาตะ 3 สาขา,  ร้านมิยาซากิ 27 สาขา,  ร้านอาหารไทย เลอ สยาม 4 สาขา,  ร้านอาหารไทย ณ สยาม 1 สาขา และร้านกาแฟ/เบเกอรี่ เลอ เพอทิท 3 สาขา  รวมถึงการขายแฟรนไชส์ร้านเอ็มเค สุกี้ ที่ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว และมิยาซากิให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศลาว

ด้วยการมีเครือข่ายร้านอาหารกว่า  600 สาขา ทำให้เอ็มเคมีระบบการจัดเตรียมอาหาร การจัดเก็บ การขนส่ง ที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  ผู้บริหารเอ็มเค กรุ๊ป จึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจนี้

โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ฤทธิ์ ธีระโกเมน CEO เอ็มเค กรุ๊ป แวะเวียนไปญี่ปุ่น อยู่บ่อยครั้ง เพื่อพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ในธุรกิจโลจิสติกส์จากญี่ปุ่น  เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มาร่วมลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ด้านอาหาร เพราะเล็งเห็นถึงภาพรวมธุรกิจอาหาร และธุรกิจการขนส่ง กระจายสินค้า (โลจิสติกส์) ในประเทศไทย เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักแสนล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จึงกลายเป็นดิวใหญ่แห่งปีของกลุ่มเอ็มเค ด้วยกลยุทธ์พันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ในการร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์จากประเทศญี่ปุ่น บริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (SENKO Group Holdings Co., Ltd.) จัดตั้ง บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ เพื่อรุกธุรกิจบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยแต่ละฝ่ายถือหุ้น 50% เท่ากัน

สมชาย หาญจิตต์เกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า เอ็มเคเห็นโอกาสขยายการเติบโตและต่อยอดธุรกิจ โดยในช่วงแรกบริษัทเตรียมงบประมาณ 1,300 ล้านบาท ใช้ในการสร้างคลังสินค้าห้องเย็น(Cold chain) บนพื้นที่ 33 ไร่ ย่านบางนา –ตราด กม.21  เพื่อรองรับบริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตั้งแต่การให้บริการคลังสินค้า (Warehouse) การขนส่ง (Transport) บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้า (Forwarding) และการซื้อขายสินค้า (Trading) ครบวงจร ด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ เพื่อการขนส่งอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้เล่นในตลาดที่สามารถให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบเย็นได้ทุกมิติ

“เรามีประสบการณ์ในธุรกิจอาหาร และมีความสามารถในการส่งสินค้าไปทั่วประเทศ ด้วยรถควบคุมอุณหภูมิตลอด 365 วัน จึงมีความมั่นใจที่จะยกระดับงานบริการด้านนี้ออกมาเป็นบริษัทใหม่ โดยได้เซนโค ยักษ์ใหญ่โลจิสติกส์อันดับ 2 ของญี่ปุ่น  ที่มีอายุมากถึง 100 ปี มีธุรกิจกระจายอยู่ในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ จีน เอเชียกลาง และอาเซียน  และมีสาขาในญี่ปุ่นมากถึง 500 แห่ง มาช่วยสร้างระบบขนส่งให้แข็งแกร่ง ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่จะมองถึงการส่งถึงประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วย”

นอกจากการลงทุนในคลังสินค้าห้องเย็นแล้ว เอ็ม-เซ็นโค โลจิสติกส์ ยังเตรียมงบประมาณ  200 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างคลังสินค้าแห้ง(Dry Warehouse) รองรับการให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ทั้งกลุ่ม Food และ Non Food

โดยเป้าหมายลูกค้าที่จะใช้บริการ สมชาย กล่าวว่า ช่วงแรกจะเน้นที่จะให้บริการกับเอ็มเคกรุ๊ปเป็นหลัก วางสัดส่วนไว้ 50% ขณะที่อีก 50% จะเน้นเจาะลูกค้าภาคธุรกิจ (B-2-B)  ทั้งกลุ่ม Food และ Non Food  ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหารแบบเครือข่ายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ รวมถึงธุรกิจค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ท เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าติดต่อแล้วราว 7-8 ราย และในอนาคตจะลดสัดส่วนของเอ็มเคกรุ๊ปลงเหลือ 25% เพิ่มสัดส่วนลูกค้านอกให้มากขึ้น พร้อมพัฒนารูปแบบการบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภครายย่อย (B-2-C) ในอนาคตด้วย

สมชาย กล่าวต่อว่า ในส่วนของ เซนโค กรุ๊ป ที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยกับการวางระบบโลจิสติกส์ให้กับโตโยโต้ ทูโช ก็จะทำหน้าที่หาลูกค้าให้กับ เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ ทั้งลูกค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย และลูกค้าญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย  วางเป้าหมายว่า ภายในปี 2562 จะทำรายได้ไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท และภายใน 3 ปี เมื่อเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ จะผลักดันรายได้ให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาทต่อปี และสร้างรากฐานสู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลจิสติกส์แบบเย็นอย่างครบวงจร