“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากเดิมที่มองไม่เห็นอะไร แต่เดี๋ยวนี้เรามองเห็นโอกาสมากมายไปหมด ยุคของผม เราทำงานจากจุดที่เรารัก แต่ตอนนี้ เราคือองค์กรที่ประกอบธุรกิจ เราต้องหาวิธีบริหารจัดการเพื่อทำให้เกิดความสำเร็จ” สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ประธาน บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เปิดใจในวันที่อากาศร้อนแรง พอๆ กับบรรยากาศอันร้อนแรงของอุตสาหกรรมสื่อยุคดิจิทัลในวันนี้
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 “ทีวีบูรพา” แจ้งเกิดอย่างสง่างามจากรายการ “คนค้นฅน” ที่ออกอากาศครั้งแรกทางช่อง 9 อสมท และนับแต่นั้น ทีวีบูรพาก็เดินหน้าผลิตเนื้อหาแนวสารคดีสร้างสรรค์ผ่านรายการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นบริษัทที่มี DNA คนพันธุ์สร้างสรรค์ที่แข็งแกร่งและชัดเจนมาตลอด 15 ปี แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มรสุมทีวีดิจิทัลระลอกใหญ่จะซัดรายได้ในฝั่งธุรกิจมีเดียหายไปกว่า 80% แต่หลังจากปรับแนวรบใหม่ วันนี้ จอทีวีในประเทศก็ดูจะเล็กไปแล้วสำหรับ “ทีวีบูรพา 2561”
ชนวัฒน์ วาจานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ตอกย้ำผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการปรับแนวรบใหม่ครั้งนี้ว่า การขยับออกจากธุรกิจมีเดียด้วยการรุกคืบสู่ธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ยอดรายได้ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน) แตะหลัก 150 ล้านบาทแล้ว โดยมีการเซ็นสัญญาแล้ว 100 ล้าน และกำลังจะปิดดีลอีก 50 ล้านบาท จึงคาดการณ์ว่าบริษัทฯ จะสามารถทำรายได้รวมปี 2561 ได้ตามเป้า 250-280 ล้านบาทอย่างแน่นอน
โดยจะเป็นรายได้จาก 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ คอนเทนต์ 60 ล้านบาท, มีเดีย (คนค้นฅน-กบนอกกะลา-คนมันส์พันธุ์อาสา) 35 ล้านบาท, ไอเอ็มซี หรือการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร 90 ล้านบาท, ดิจิทัล 10 ล้านบาท, บิสิเนส ดีเวลอปเมนต์ (ตลาดต่างประเทศ) 5 ล้านบาท และรายได้จาก บริษัท ทีวีบูรพา พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจด้านคอนเทนต์เอเยนซี่ ประมาณ 50-80 ล้านบาท
“BUSINESS 4 FOCUS & CLIENTS 4 FOCUS” การโฟกัส 4 กลุ่มธุรกิจและ 4 กลุ่มลูกค้า จึงเป็นทิศทางหลักที่ทีวีบูรพามุ่งเน้น โดย 4 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย คอนเทนต์, ไอเอ็มซี, สื่อดิจิทัล และเอเยนซี่ ส่วน 4 กลุ่มลูกค้า ประกอบด้วย ลูกค้าคอร์ปอเรท, หน่วยราชการ, สถานีโทรทัศน์ และตลาดต่างประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ “CONTENT SOLUTION” การสื่อสารตรงเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบมัลติ-แพลตฟอร์ม โดยกระจายคอนเทนต์สู่ออนไลน์-ออนกราวด์-ออนแอร์
ชนวัฒน์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า ที่ผ่านมาทีวีบูรพาผลิตคอนเทนต์เผยแพร่ในมีเดียของตัวเอง แต่ด้วยกลยุทธ์ “CONTENT SOLUTION” ทำให้สามารถขยายการทำงานได้ครบวงจร ทั้งการผลิตคอนเทนต์ เช่น ไวรัลวิดีโอ และการวางแผนสื่อให้ลูกค้า ได้แก่ ธนาคารธนชาต, เชฟรอน, เอเจ และซีพีเอฟ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน กลยุทธ์นี้ก็ได้นำมาใช้กับรายการของบริษัทฯ เองด้วย เช่น คนค้นฅน เริ่มจากการประชาสัมพันธ์รายการล่วงหน้า 2 สัปดาห์ทาง ‘ออนไลน์’ ผ่านแฟนเพจของรายการซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 4.7 แสนคน เพื่อชวนให้คนไปดู ‘ออนแอร์’ ทางช่อง 9 และหลังจบรายการก็มีคลิปกลับมา ‘ออนไลน์’ อีกครั้ง พบว่ามียอดคนดูทั้ง 2 ช่องทางรวมแล้วถึง 4 ล้านคน เช่นเดียวกับรายการกบนอกกะลา ที่มีผู้ติดตามทางแฟนเพจร่วม 4 แสนคน ก็ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ซึ่งต่อไป รายการก็อาจมีรายได้จากทั้ง 2 ทาง คือออนแอร์และออนไลน์
ในส่วนของตลาดต่างประเทศนั้น นอกจากคอนเทนต์ของทีวีบูรพาจะเข้าตาสถานีโทรทัศน์ของบรูไน ฮ่องกง NHK ของญี่ปุ่น หรือช่อง Discovery Asia แล้ว รายการอาหารและท่องเที่ยว Tasty Journey และรายการ The Snake Master แดนอสรพิษ ยังได้ขึ้นปกงานเทศกาล mipdoc & mip tv ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสด้วย รวมถึงรายการสารคดีชีวิตสัตว์ป่าของไทยก็ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Amongst Monkeys เรื่องของลิงจ.ลพบุรี หรือ Learning to be Wild สารคดีชีวิตนกกระเรียน ที่ทีมงานใช้เวลาร่วม 2 ปีในการติดตามและบันทึกภาพนกกระเรียนตั้งแต่แรกฟักไข่ที่จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น
“เรามีความทะเยอทะยานอยากเอาสารคดีไทยไปให้โลกเห็นมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่รู้จะขายใคร ไม่รู้มาตรฐานเป็นยังไง แต่ ณ วันนี้ เงื่อนไขพวกนี้เราทะลุหมดแล้ว ตอนนี้เบื้องหลังคือคนทำสารคดีจับมือกัน และกำลังขอจดทะเบียนเป็นสมาคม วันข้างหน้าเราก็อาจจะได้ไปในฐานะโปรดักชั่นของประเทศ โดยภาครัฐให้การสนับสนุน หรือไม่เราก็อาจเป็นตัวแทนจำหน่ายสารคดีไทยก็ได้” สุทธิพงษ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ขณะที่ในฝั่งบริษัทน้องใหม่ กฤษณพล พงศ์ธนาวรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีบูรพา พลัส จำกัด กล่าวว่า แม้จะเพิ่งเปิดตัวในฐานะคอนเทนต์เอเยนซี่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ด้วย DNA ที่ชัดเจนด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้หลากหลายแนว ทั้งลุ่มลึก จับใจ สวยงาม หรือตลก ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้า 10-15 ราย โดยมีทั้งการทำคอนเทนต์ไวรัลและเข้าไปดูแลเพจให้ลูกค้าแบบครบวงจร
หนึ่งในนั้นคือการได้รับเลือกจากบริษัท BMW Thailand ให้เป็น Lead Agency ของรถยนต์ BMW X3 โดยบริษัทฯ รับผิดชอบแคมเปญตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากแคมเปญเปิดตัว, การลอนช์สินค้าโดยใช้ Influencer ร่วม, การวางแผนซื้อสื่อทางช่อง ONE, การเข้าไปดูแลเพจ ฯลฯ ซึ่งแคมเปญนี้สามารถวัดผลได้ชัดเจนว่ามีการเข้าถึงลูกค้ามากที่สุดแคมเปญหนึ่ง เช่นเดียวกับแคมเปญเปิดตัวรถยนต์ BMW X2 ที่ทีวีบูรพา พลัส ยังคงได้รับความไว้วางใจให้เป็น Lead Agency ต่อเนื่อง
“เวลาคุยกับลูกค้า เราเริ่มจากคอนเทนต์เป็นหลัก ถึง DNA ด้านสร้างสรรค์สังคมของทีวีบูรพาจะแข็งแกร่งมาก แต่เราก็พิสูจน์แล้วว่าเราสามารถทำ commercial ได้ จะเห็นว่าลูกค้าแต่ละแบรนด์ที่ทำกับเราประสบความสำเร็จ วัดผลได้ชัดเจน สำหรับปีนี้เราคาดว่าจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 50-80 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทีวีบูรพามียอดรายได้รวม 250-280 ล้านบาทแน่นอน”