“มหานคร” เป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านบาท หนึ่งในตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยด้วยความสูง 314.2 เมตร จำนวน 77 ชั้น (สูงกว่าตึกใบหยก 2) ประกอบไปด้วยส่วนโรงแรม ร้านค้าปลีก และส่วนห้องชุดพักอาศัยโดยกลุ่มริทซ์-คาร์ลตัน จำนวน 209 หน่วย ตั้งอยู่บนพื้นที่จำนวน 9 ไร่ ติดกับสถานีช่องนนทรี บริเวณสีลมและสาทรซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ลงทุนโดยบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE
โครงการนี้ถูกออกแบบให้เสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้น 3 มิติหรือ พิกเซล เป็นอาคารกระจกทั้งหลัง สร้างสรรค์โดยบริษัทสถาปนิกในกลุ่มบริษัท บูโร โอเล่อ เชียเรน กรุ๊ป โดยราคาของห้องชุดเฉลี่ย 3.5 แสนบาทต่อตร.ม. หรือเริ่มต้นที่ 32 ล้านบาทไปจนถึง 600 ล้านบาท
ส่วนชั้น 1, 5-6, 8-21 เป็นโรงแรม “แบงค็อก เอดิชัน บาย แมริออท” โดยกลุ่มแมริออทอินเตอร์เนชั่นแนล จำนวน 155 ห้อง เป็นโรงแรมในกลุ่มเอดิชั่นแห่งที่ 5 และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชั้น 1, 7, 23-73 เป็นห้องชุดเพื่อการพักอาศัย ภายใต้แบรนด์ “เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน แบงค็อก” จำนวน 209 หน่วย ชั้น 74-77 จุดชมทัศนียภาพ (Observation Deck)
นอกจากนี้ยังมีรูฟท็อปบาร์, มหานคร คิวบ์, ดีน แอนด์ เดลูกา สาขาแรกในประเทศไทย, โว้ก เลาจน์, ลัตเตอลิเย เดอ โจเอล โรบูชง, เอ็ม ครับ โดย เชฟ แมน, โมะริโมะโตะ, เวอริตา เฮลธ์, ดิจิทัล เวนเจอร์ส รวมทั้งลานกิจกรรมมหานครสแควร์ และทางเชื่อมไปยังสถานีช่องนนทรีของรถไฟฟ้าบีทีเอสอีกด้วย
โครงการมหานคร ตั้งอยู่บริเวณช่องนนทรี ในย่านสีลมและสาทร กรุงเทพฯ
มีปัญหาหนี้สะสม-ประกาศเร่ขายมานาน
หลังจากที่โครงการ “มหานคร” เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 29 สิงหาคม 2559 หลังจากนั้นไม่ถึงปี ก็มีข่าวลือสะพัดว่า “เพซ ดีเวลลอปเมนท์” ออกอาการย่ำแย่เขย่าขวัญเจ้าหนี้ว่าจะมีเงินชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (บี/อี) และหุ้นกู้ตามกำหนดได้หรือไม่ โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ออกอาการหนาวๆ ร้อนๆ ไม่แพ้กัน เพราะแบกตัวเลขไว้หลายพันล้าน
นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่มีปัญหาด้านการเงินและมีข่าวประกาศเร่ขายมาเป็นระยะ นับตั้งแต่ ต้นปี 2560 ที่ “เพซ ดีเวลลอปเมนท์” ปิดดีลกับ “อพอลโล-โกลแมน แซ็คส์” มูลค่า 8,400 ล้านบาท (240 ล้านเหรียญสหรัฐ) ร่วมลงทุน 49% ใน 3 ส่วนหลักของโครงการมหานคร ได้แก่ โรงแรมบางกอก เอดิชั่น ส่วนรีเทล มหานคร คิวบ์ รวมถึงจุดชมวิว ออบเซอร์เวชั่นเด็คและรูฟท็อปบาร์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย
จากนั้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2560 “เพซ ดีเวลลอปเมนท์” ได้ประกาศผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่จากประเทศจีน “ซิติค คอนสตรัคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)” ยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างของจีน โดย “ซิติค คอนสตรัคชั่น” จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบด้านการเงินและการก่อสร้าง ในขณะที่ “เพซ ดีเวลลอปเมนท์” จะรับหน้าที่วางแผนด้านงานออกแบบ การขายและการตลาดทั้งหมด
และเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมาก็มีข่าวการการเจรจาซื้อ 2 โครงการคอนโดหรูระหว่าง “แสนสิริ” หรือ SIRI กับ “เพซ ดีเวลลอปเม้นท์” คือ คอนโดมิเนียมหรู “มหานคร” และโครงการ “นิมิตหลังสวน” แต่ในที่สุดดีลนี้ก็ล่มไป
PACE หนี้สะสม 4 ปีรวม 4.3 พันล้านบาท
จากรายงานตัวเลขของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่าน นับตั้งแต่ปี 2557-2560 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE มีตัวเลขหนี้สะสมรวม 4,319 ล้านบาท
โดยในปี 2557 มีสินทรัพย์รวม 19,236.70 ล้านบาท มีรายได้รวม 607.63 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 378.77 ล้านบาท ปี 2558 มีสินทรัพย์รวม 25,932.15 ล้านบาท มีรายได้รวม 3,512.30 ล้านบาท ขาดทุนสิทธิ 1,785.02 ล้านบาท ปี 2559 มีสินทรัพย์รวม 31,831.16 ล้านบาท มีรายได้รวม 5,466.74 ล้านบาท และปี 2560 มีสินทรัพย์รวม 32,422.63 ล้านบาท มีรายได้รวม 9,270.89 ล้านบาท มีกำไรสิทธิ 171.12 ล้านบาท
โครงการคิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ
“คิงเพาเวอร์” ทุ่ม 1.4 หมื่นล้านซื้อ “โรงแรม” โครงการมหานคร
กระทั่งล่าสุดบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อ10 เมษายน 2561 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัทเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา อนุมัติให้บริษัทฯ เข้าทำรายการเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ดังนี้ 1. จำหน่ายทรัพย์สิน มูลค่ารวมไม่เกิน 14,000 ล้านบาทให้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด
ประกอบด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด (“PP1”) และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด (“PP3”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมผ่านบริษัท เพซ เรียลเอสเตท จำกัด (“PRE”) ในสัดส่วนร้อยละ 51.00 และร้อยละ 51.28 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ตามลำดับ
สำหรับทรัพย์สินที่ PP1 และ PP3 จำหน่ายได้แก่ ที่ดิน โรงแรม อาคารจุดชมวิว อาคารรีเทลคิวบ์ ปฏิมากรรม ภาพวาด ใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจของ PP1 (โรงแรม) และ PP3 (อาคารจุดชมวิวและอาคารรีเทลคิวบ์) ในโครงการมหานคร คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 12,617 ล้านบาท
โดยการจำหน่ายที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่าง PP1 บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทู จำกัด (“PP2”) PP3 และ PRE คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 183 ล้านบาท ซึ่งในการเข้าทำรายการครั้งนี้ บริษัทเพซฯ ได้รับค่าตอบแทนสำหรับการจัดหาและดำเนินการให้เกิดรายการเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท
2.อนุมัติให้บริษัทฯ เข้าซื้อหุ้นที่อพอลโล เอเชีย สปริ้นท์ คอมปานี ลิมิเต็ด (“อพอลโล”) และโกลด์แมน แซคส์ อินเวสเมนท์ส โฮลดิ้งส์ (เอเชีย) ลิมิเต็ด (“โกลด์แมน”) ถืออยู่ใน PP1 และ PP3 ร้อยละ 49.00 และร้อยละ 48.72 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว ตามลำดับ ทั้งหมดรวมเป็นเงินจำนวนไม่เกิน 320 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่เกิน 10,000 ล้านบาท (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 9 เมษายน 2561 ที่ 31.25บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ)
ทั้งนี้ จากข้อมูลระบุว่าบริษัทเพซฯ เข้าซื้อหุ้นจากอพอลโลและโกลด์ แมนใน PP1 และ PP3 ร้อยละ 49.00 และ ร้อยละ 48.72 ตามลำดับ ทำให้บริษัทเพซฯ และ PRE ถือหุ้นทั้งหมดใน 2 บริษัทดังกล่าว และทำให้ข้อผูกมัดตามเอกสารสัญญาต่างๆ ที่บริษัทฯมีต่ออพอลโล และโกลด์แมนเป็นอันสิ้นสุดลง
พร้อมทั้งระบุว่า โครงการมหานครเป็นโครงการที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะจำหน่ายเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) ภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น ดังนั้น การจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินในครั้งนี้จึงทำให้บริษัทฯ ได้รับกระแสเงินสดเร็วกว่ากำหนด ซึ่งภายหลังจากการจำหน่ายทรัพย์ สินในครั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การดำเนินงานอีก 4 โครงการ คือ โครงการนิมิตหลังสวน โครงการวินด์เชล โครงการมหาสมุทร วิลล่า และโครงการมหาสมุทร คันทรี่ คลับ อีกทั้งยังมีธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ “DEAN & DELUCA” ด้วย
“อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์
“คิงเพาเวอร์มหานคร” แลนด์มาร์คใหม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ด้าน “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด เปิดเผยว่า การตัดสินใจเดินหน้าต่อยอดธุรกิจในครั้งนี้ เนื่องจากทรัพย์สินต่างๆ ที่ซื้อมานั้นเป็นทรัพย์สินที่สอดคล้องกับธุรกิจที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้ดําเนินการอยู่ นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยสําคัญในการสนับสนุนให้บริษัทฯ กล้าตัดสินใจทุ่มงบประมาณ 14,000 ล้านบาทในครั้งนี้ และมั่นใจว่าจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจในกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้มีความมั่งคงยิ่งขึ้น
โดยการเข้าซื้อทรัพย์สินฯ ครั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าถือครองทรัพย์สินในตึกมหานคร ได้แก่ โรงแรม, จุดชมวิว Observation Deck, ร้านค้าปลีกบริเวณพื้นที่รีเทล 4 ชั้น, อาคารรีเทลมหานครคิวป์, รวมถึงที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม
สําหรับเป้าหมายสําคัญในการพัฒนาทรัพย์สินที่กลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ ได้เข้าครอบครองในครั้งนี้นั้นจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สําคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระดับสากล รวมถึงพร้อมที่จะรองรับการเติบโตของประชาคมอาเซียนในอนาคต
โดยจากจุดแข็งของทรัพย์สินที่ได้มาคือ ตึกมหานครเป็นหนึ่งในอาคารที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพ และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาใช้บริการ
อาทิเช่น จุดชมวิว Observation Deck ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่ดีที่สุดในประเทศไทยที่เห็นวิว 360 องศา ทั้งวิวเมืองและโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา และเพียบพร้อมด้วยบริการต่างๆ อีกมากมาย ทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาวที่มีชื่อเสียง และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงจากทั้งในและนอกประเทศ พร้อมที่จะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สําคัญของกรุงเทพมหานครต่อไป
“อัยยวัฒน์” ยังย้ำด้วยว่า ในการตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าเพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต และพร้อมปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นยุทธศาสตร์สําคัญทางเศรษฐกิจ การค้า และศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ที่สําคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต่อไป
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า การเข้าถือครองทรัพย์สินในตึกมหานครของกลุ่มคิงเพาเวอร์ในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย โรงแรม, จุดชมวิว Observation Deck, ร้านค้าปลีกบริเวณพื้นที่รีเทล 4 ชั้น, อาคารรีเทลมหานครคิวป์ ทางกลุ่มคิวเพาเวอร์มีแผนที่จะเปลี่ยนชื่อทรัพย์สินดังกล่าวเป็น “คิง เพาเวอร์มหานคร” ด้วย