นับตั้งแต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยก็ถูกจับจ้องในการเป็นศูนย์กลางของประชาคม ที่การลงทุนจากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก จะวิ่งเข้ามาตั้งศูนย์กลางอยู่ที่นี่
แน่นอนว่า หนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์สุดสุด จากการหลั่งไหลเข้ามาของการลงทุนทั่วโลกนี้ คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ และหนึ่งในบริษัทผู้นำธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย ก็คือ ‘เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์’ หรือ JWD
ในปี 2560 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ดีของ JWD เมื่อธุรกิจของบริษัททุกด้านมีการเติบโตพร้อมๆ กัน เริ่มจาก การเติบโตของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์สินค้าอันตราย เติบโตขึ้นราว 8.8% ส่งผลให้ศูนย์กระจายสินค้าเคมีภัณฑ์ (JWD Chemical Supply Chain หรือ JCS) มีความจุเกือบเต็มพื้นที่ และแนวโน้มสินค้าเคมีที่ยังเติบโตได้ดีในปีนี้ ทำให้มีการลงทุนชั้นวางเพิ่มอีก 150%
ด้านธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์มีการเติบโต 13.2% เนื่องจากการขยายฐานลูกค้าใหม่และได้งานจากลูกค้าเดิมเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการร่วมทุนกับสยามกลการอุตสาหกรรม ขณะที่ธุรกิจห้องเย็นกลับมาฟื้นตัวจากกรณี IUU Fishing ทำให้ความต้องการเช่าห้องเย็นกลับเข้ามาเต็มพื้นที่ 5.7 หมื่นตารางเมตร และมีการขยายห้องเย็นเพิ่มที่สุวินทวงศ์อีก 2.8 พันตารางเมตร ส่วนธุรกิจขนส่งสินค้าในประเทศและข้ามแดนเติบโต 20.1% จากงานขนส่งข้ามแดนและขนส่งด่วน JWD Express
ขณะที่อีก 2 ดิวสำคัญของปีที่ผ่านมา คือ การขายทรัพย์สินให้แก่กองทรัสต์เอไอเอ็ม อินดัสเทรียล โกรท หรือ ‘AIMIRT’ ทำให้มีรายได้ราว 1,450-1,600 บาท และดิวที่ JWD Asia Holding Private Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ โดย JWD ถือหุ้น 99.98% ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท PT. Samudera Sarana Logistik อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ PT. Samudera Indonesia Tbk ผู้ประกอบธุรกิจสายการเดินเรือรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ ‘PT. Samudera JWD Logistics’ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 7.8 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณกว่า 26 ล้านบาท)
โดยดิวการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน PT. Samudera JWD Logistics นั้น ถือเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งของ JWD ที่วางเป้าหมายสร้างเครือข่าย Food & Cold Supply Chain แห่งอาเซียน
ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เผยว่า ปี 2561 ได้วางแผนขยายธุรกิจในไทยและต่างประเทศเพื่อยกระดับสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์โซลูชั่นและซัพพลายเชนระดับอาเซียน ตั้งเป้าสร้างรายได้เติบโตจากปีก่อน 10% โดยได้วางกลยุทธ์หลัก 4 ส่วนที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ ประกอบด้วย 1.Network หรือการขยายเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์ให้ครบทั้งซัพพลายเชนและครบทุกโหมดการขนส่ง 2.การจัดตั้ง Operation Excellence Team เพื่อพัฒนาบริการโลจิสติกส์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ 3.ระบบ IT ยกระดับเทคโนโลยีด้านไอทีเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการโลจิสติกส์ที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. Human Resource เสริมทีมงานและการพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาองค์กรสู่การเป็น Employer of Choice หรือองค์กรในฝัน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ได้บุคลากรที่มีความสามารถและพรสวรรค์เข้ามาร่วมงาน
ในปีนี้ JWD ตั้งงบลงทุนรวมในปี 2561 ประมาณกว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนใหม่และขยายธุรกิจที่ดำเนินการในปัจจุบัน โดยเป้าหมายสำคัญ คือการเป็น Regional Food Supply chain ผู้นำในการบริการซัพพลายเชนสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคอาเซียน
ซึ่งหลังจาก JWD จัดตั้ง PT. Samudera JWD Logistics ได้โนว์ฮาวของการทำให้กับตลาดอาหารฮาลาลซึ่งถือเป็นตลาดอาหารใหญ่ในอาเซียน ล่าสุด JWD ตกลงเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Chi Shan Long Feng (CSLF) ซึ่งเป็นผู้ผลิต ตัวแทนนำเข้าและตัวแทนจัดจำหน่ายธุรกิจให้บริการด้านอาหาร (Food Service) จากไต้หวัน โดย JWD จะเข้าถือหุ้น 60% ใน CSLF ใช้เงินลงทุน 160 ล้านบาท เพื่อรุกสู่การจัดการซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นทาง ซึ่ง CSLF มีความแข็งแกร่งด้านการทำ food service จากฐานซัพพลายเออร์อาหารที่มีอยู่ทั่วโลก รวมถึงเชนธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีกอาหาร สามารถขยายตลาดสำหรับฐานลูกค้าทั้งในไทยและอาเซียน โดยอาศัย JWD เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และฮับในการกระจายสินค้าภายในภูมิภาคอาเซียน (Multi-Country Consolidation) คาดว่าจะสามารถชำระเงินและโอนหุ้นเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้
โดย ในปี 2560 CSLF มีรายได้ประมาณ 589 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 20.7 ล้านบาท และตั้งเป้าเติบโตในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 15%
“บริษัทฯ มองภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในภูมิภาคมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก ตั้งเป้าขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มเติมอีก 2 ประเทศภายในปี 2561 จากปัจจุบันที่มีฐานธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนครบ 5 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเซียและประเทศไทย สำหรับกลุ่มอาหารและห้องเย็นซึ่งตลาดกำลังเติบโต บริษัทฯ มีแผนเปิดให้บริการคลังห้องเย็นเพิ่มเติมในประเทศเวียดนาม ภายในไตรมาสสองปีนี้ นอกจากนี้ มีแผนขยายการลงทุนห้องเย็นเพิ่มเติมในเมืองจาการ์ต้าและเมืองสุราบายาภายในปีนี้”
ชวนินทร์ กล่าวว่า Food & Cold Chain เป็นเทรนด์การเติบโตของภูมิภาคอาเซียน ร้านอาหารมีการเติบโตมากขึ้น โดยภายใน 3 ปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะลงทุนราว 1,500 – 2,000 ล้านบาท ไปในกลุ่ม Food Service พร้อมนำบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มอาหาร โกลบอล ฟู้ดเซอร์วิส เน็ตเวิร์ก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ขณะที่แผนการลงทุนในส่วนธุรกิจอื่นๆ JWD มีแผนขยายการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทท้องถิ่นขนาดใหญ่เกี่ยวกับการให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดิน (In-Land Logistics) ในกลุ่ม CLM เดิมที่บริษัทฯ ได้เปิดดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เช่น คลังและลานวางตู้สินค้า ท่าเรือบก (Dry Port) การขนส่งแลกระจายสินค้าในประเทศ ภายในต้นไตรมาส 2 ของปีนี้ บริษัทฯ มองโอกาสขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อขยายการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ (Air Freight) และทางเรือ (Sea Freight) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งให้ครบทุกรูปแบบ ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศและทางราง (Multimodal Transport)
ขณะที่ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งนโยบายการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ของรัฐบาล ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจหลักทุกกลุ่ม บริษัทฯ มีแผนลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายจำนวนรถ จำนวนเที่ยวและพื้นที่การให้บริการการขนส่งและกระจายสินค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นทั้งภายในประเทศและขนส่งข้ามแดน รอบรับการขยายตัวของธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าเคมีภัณฑ์ (JCS) อยู่ระหว่างการติดตั้งชั้นวางเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่จัดเก็บสินค้าได้อีกกว่า 1.5 เท่า นอกจากนี้ อยู่ระหว่างลงทุน Self-Storage หรือห้องเก็บของให้เช่าส่วนตัวในย่านใจกลางเมืองอีก 2 แห่ง ในทำเลสามย่านและสาทร เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่ม B2C
“วันนี้ JWD ได้หลุดจากการเป็นบริษัทโลจิสติกส์ทั่วไป ที่พึ่งพาเพียงค่าเช่า ค่าขนส่ง แต่ JWD ให้บริการอย่างครบวงจร บริหารทั้งซัพพลายเชน ไปจนถึงช่วยลูกค้าทำการตลาด เราต้องการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุนธุรกิจห้องเย็นในอินโดนีเซีย และยังมีธุรกิจคลังสินค้าและห้องเย็นที่ลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเราตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 25% ภายในปี 2563 และสัดส่วนรายได้ของบริการโลจิสติกส์ จะลดลงเหลือ 60% ขณะที่กลุ่มอาหารจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ” ชวนินทร์ กล่าว