โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อภิมหาโครงการมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท ที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศด้านอุตสาหกรรมการผลิต และการท่องเที่ยว เป้าหมายหลัก 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา อาจเป็นความสงสัยของคนไทยว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจที่มุ่งขยายตลาดมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นี่คือ โอกาส
เหมือนดังเช่น บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตเครื่องซักผ้าเชิงพาณิชย์จากสหรัฐอเมริกา บริษัท อลิอันซ์ ลอนดรี้ ซิสเต้มส์ (Alliance Laundry Systems) ที่มองหาที่ตั้งของโรงงานแห่งใหม่เพื่อการกระจายสินค้าสู่ตลาดเอเชียแปซิฟิก จาก 8 ประเทศในย่านนี้ ตัดสินใจเลือกที่จะตั้งโรงงานในประเทศไทย บนพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี 2 “HESIE 2” ด้วยมองเห็นว่าที่คือพื้นที่ที่มีศักยภาพที่ดีรอบด้านของภูมิภาคนี้
บริษัท อลิอันซ์ ลอนดรี้ ซิสเต้มส์ มีรากฐานอยู่ที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย 5 แบรนด์ภายใต้บริษัทได้แก่ Speed Queen®, UniMac®, Huebsch®, Primus® และ IPSO® รวมถึง SoftWash® นวัตกรรมการซักผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการดูแลรักษาผ้าชนิดพิเศษเช่น ผ้าไหม ผ้าวูล และหนัง มีการใช้งานอยู่ใน 140 ประเทศทั่วโลก รวงถึงประเทศไทยที่เครื่องซักผ้าแบรนด์ IPSO มีการใช้งานอยู่ตามโรงแรมมานานร่วม 30ปี แต่สำหรับผู้บริโภคชาวไทยอาจไม่เป็นที่รู้จักนัก
ยาน โฟลเกิ่ล ประธานฝ่ายปฏิบัติการบริหารการต่างประเทศ บริษัทอลิอันซ์ ลอนดรี้ ซิสเต้มส์ กล่าวถึงปัจจัยที่เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแห่งที่ 3 นอกสหรัฐอเมริกา ต่อจาก สาธารณรัฐเช็ค และจีน เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่สะดวกที่สุดในการกระจายสินค้าออกไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ไปจนถึงอินเดีย และนิวซีแลนด์ แรงงานของไทยก็ถือว่ามีคุณภาพสูง มีผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งวัตถุดิบและส่วนประกอบพร้อม เพราะไทยเป็นฐานการผลิตให้กับสินค้าหลากหลาย อีกทั้งนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC ใกล้แหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากนั้นบรรยากาศในการลงทุนของไทยในเวลานี้ถือว่าดีเยี่ยม
โดยอลิอันซ์ ลอนดรี้ ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานเฟสแรก 24,000 ตารางเมตร หรือ 1ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด 82,000 ตารางเมตร หรือราว 51 ไร่ มีกำลังการผลิต 32,000 ยูนิตต่อปี ใช้พนักงานรวมทั้งสิ้น 350 คน เริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายนนี้ และจะเริ่มกระบวนการผลิตสินค้าได้ในช่วงเมษายน ปี 2562 จากนั้นภายใน 3 ปี จะมีการลงทุนเฟสที่ 2 ด้วยงบประมาณเท่ากัน และขยายพื้นที่โรงงานอีกเท่าตัว
โรงงานผลิตแห่งใหม่ในประเทศไทยของอลิอันซ์ ลอนดรี้ จะเน้นการผลิตเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งภายในพื้นที่โรงงานจะประกอบไปด้วยศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงห้องทดลอง อลิอันซ์ สตาร์ (Alliance STAR)ที่จะใช้ทีมวิจัยและค้นคว้าที่เป็นคนไทย เพื่อวิจัย และปรับปรุงสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดเอเชียแปซิฟิก และเป็นศูนย์กระจายสินค้า โดยกำลังการผลิตของโรงงานในประเทศไทยนี้ ราว 85-90% จะส่งออกไปยังตลาดทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และนิวซีแลนด์ ที่เป็นตลาดสำคัญของอลิอันซ์ ลอนดรี้ ขณะที่โรงงานในประเทศจีน มีกำลังการผลิตเพียงพอกับการรองรับตลาดในประเทศจีนเท่านั้น
“เราเห็นโอกาสในการเติบโตอย่างมากในหลายๆด้านของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงแรม กลุ่มโรงพยาบาล ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจองค์กร เป็นต้น ดังนั้นการตัดสินใจเพิ่มกำลังผลิตในประเทศไทย จะเป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายของเราในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อโรงงานสามารถออกแบบ เตรียมวัสดุ ผลิตและขนส่งได้อย่างครบวงจรแล้ว ระยะเวลาในการผลิตก็จะลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อลูกค้าของเราในตลาดนี้” ยาน โฟลเกิ่ล กล่าว
สำหรับในประเทศไทย นอกเหนือจากเครื่องซักผ้าและอบผ้าของอลิอันซ์ ลอนดรี้จะมีการใช้งานในโรงแรมมาเป็นเวลานาน ในปีที่ผ่านมา อลิอันซ์ ลอนดรี้ ก็มีการนำเครื่องซักผ้า และอบผ้าขนาดครอบครัว 8-35 กิโลกรัม มาทำตลาดในกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการความแข็งแรง ทนทาน บ้างแล้ว และในปีนี้ ก็จะเริ่มรุกเข้าสู่ตลาดเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ หรือร้านสะดวกซักในประเทศไทย
โดยร้านสะดวกซัก ถือเป็นเทรนด์การบริการที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดเอเชีย ที่ในหลายประเทศมีร้านสะดวกซักเปิดขึ้นนับพันแห่ง ขณะที่ประเทศไทยมีร้านสะดวกซักไม่ถึง 100 ร้านน้อยที่สุดในภูมิภาคนี้ อีกทั้งรูปแบบการให้บริการเป็นการนำเครื่องซักผ้าบ้าน ที่ไม่เหมาะกับการใช้งานหนักมาดัดแปลงให้บริการ ซึ่งนอกเหนือจากความสะอาดของการซักแล้ว ในแง่ผู้ลงทุนก็ไม่คุ้นค้าเพราะการใช้งานหนักทำให้เครื่องมีอายุการใช้งานสั้นลง เสียหายบ่อย เป็นโอกาสในการทำตลาดของอลิอันซ์ ลอนดรี้
อลิอันซ์ ลอนดรี้จึงมีการเปิดโมเดลร้านสะดวกซักที่ให้บริการด้วยเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้ามาตรฐานเดียวกับการใช้งานในอุตสาหกรรม มาให้บริการ มีจุดเด่นใช้เวลาการซักน้อยกว่า คิดค่าบริการในราคาที่ไม่ต่างจากร้านสะดวกซักทั่วไปคือ 40-50 บาท และในแง่ผู้ลงทุนก็ประหยัดค่าซ่อมบำรุงมากกว่า โดยมีการเปิดร้านต้นแบบที่ซอยลาซาล รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ และกระบี่ ซึ่งในช่วงกลางปีนี้จะมีการเปิดตัวโมเดลร้านสะดวกซักนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อชักชวนนักลงทุนมาร่วมธุรกิจ
“ตลาดเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตสูงมาก ทั้งตลาดโรงแรม , ร้านอาหาร, โรงพยาบาล ไปจนถึงที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม ทำให้เรามีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนอย่างเต็มตัว และการมีฐานการผลิตที่ประเทศไทย ก็ทำให้เราสามารถผลักดันสร้างความต้องการให้กับตลาดได้มากขึ้น เพราะทำให้สินค้ามีค่าการผลิต และการขนส่งถูกลง อีกทั้งสามารถส่งของได้เร็วขึ้น และทำให้เราสามารถขยายตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย” ยาน โฟลเกิ่ล กล่าว