วิบูลย์ นิมิตรวานิช (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ ดร.กานต์เปรมปรีดิ์ ชิตานนท์ (ที่ 3 จากขวา) รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี, องพจนกรโกศล (ที่ 4 จากซ้าย) เจ้าอาวาสวัดเขตร์นาบุญญาราม, ธนภณ กิจกาญจน์ (ที่ 2 จากซ้าย) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยอ.คฑา ชินบัญชร (ที่ 4 จากขวา) ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ร่วมแถลงข่าวเทศกาล “งานบูชาดาว ปีจอ ขอพรไท้ส่วย ร่ำรวย ร่มเย็น” ซึ่งจะมีขึ้น ณ วัดเขตร์นาบุญญาราม ถ.ขวาง อ.เมือง จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม 2561 โดยมี อาร์ต-พศุตม์ บานแย้ม (ซ้ายสุด) มาร่วมงาน ณ โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว บางกอก ฟอร์จูน กรุงเทพมหานคร
ตามความเชื่อของอนัมนิกาย พระพุทธเจ้าได้จุติเป็นเทพยดาประจำดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 พระองค์ ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ จึงเป็นที่มาของ “พิธีบูชาดาวนพเคราะห์” ของวัดเขตร์นาบุญญาราม อนัมนิกาย ที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 181 ปี โดยจะมีการอัญเชิญองค์ดาวนพเคราะห์ประทับเหนือเกี้ยว เสด็จออกประทานพรเป็นปฐมฤกษ์ในขบวนบาดาวรอบเมืองจันทบุรี ให้ประชาชนได้กราบสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ขณะที่ ททท.ซึ่งให้การสนับสนุนการจัดงานเป็นปีที่ 4 แล้ว ก็จะร่วมจัด “ขบวนบูชาดาว” และ “โคมไฟประติมากรรม” โดยถือเป็นกิจกรรมทางการตลาดท่องเที่ยวเก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร ในจ.จันทบุรี ซึ่งเป็น 1 ในโครงการ 12 เมืองต้องห้าม…พลาด
โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ขบวนบูชาดาวทั้ง 19 ขบวน จะเคลื่อนออกจากวัดเขตร์นาบุญญาราม ฝั่งประตูโบสถ์ ในเวลา 18.09 น. ไปทางถ.ตรีรัตน์-ถ.อัญมณี-สี่แยกตังเอ็ง-พลาซ่า-ตลาดโต้รุ่ง-วงเวียนน้ำพุ กลับมาที่วัดเขตร์นาบุญญาราม เพื่อทำพิธีเปิดงาน “บูชาดาว ปีจอ ขอพรไท้ส่วย ร่ำรวย ร่มเย็น” และร่วมพิธีจุดเทียนบูชาดาวนพเคราะห์ เสริมบารมีแห่งแผ่นดิน พร้อมชมความงดงามของประติมากรรมโคมไฟ ชุด 9 ดวงดาวทั้งนี้ อ.คฑา ชินบุญชร ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการเข้าร่วมพิธีบูชาดาวว่า ถือเป็นการไปสัมผัสพลังแห่งธรรมะและดวงดาว เป็นการอธิษฐานจิตสั่งสมบารมีจากการขอพรจากดาวนพเคราะห์ และยังถือเป็นการสืบสานประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์สองแผ่นดิน ได้แก่ ไทย-เวียดนาม เพราะวัดเขตร์นาบุญญาราม เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธฝ่ายมหายาน และเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มาตลอดชั่วอายุคน