จับตาหุ้นกลุ่ม “นิคมฯ-การเงิน-รับเหมาก่อสร้าง” ตีปีกรับเมกะโปรเจ็กต์ หลังสนช.อนุมัติร่างพ.ร.บ.อีอีซี

1461

ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเรียบร้อยแล้วสำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก พ.ศ. …. หรือ “กฎหมายอีอีซี”

นับเป็นจุดเริ่มต้นโครงการอีอีซี อย่างเป็นทางการ หลังจากที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเฝ้าจับตามองมานาน และเชื่อมั่นว่าหลังจากมีกฎหมายแล้วจะทำให้โครงการอีอีซีเดินหน้าได้อย่างเต็มรูปแบบ ที่สำคัญจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ….นั้นมีหลากหลายประเด็น เช่น มาตรา 6 กำหนดให้พื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.จัดให้มีการบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร และพัฒนาเมืองให้ทันสมัยระดับนานาชาติเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย สะดวก ปลอดภัย ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกฯ เป็นประธาน รองนายกฯ 1 คนที่นายกฯมอบหมายให้เป็นรองประธาน นอกนั้นมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ กับ ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ แต่งตั้งอีกไม่เกิน 5 คน เป็นต้น

หรือมาตรา 11 ที่กำหนดให้บอร์ดอีอีซีมีอำนาจ อาทิ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาอีอีซี

, ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค, กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน, อนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน, กำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายและสิทธิประโยชน์

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลจะส่งเสริมนั้น ตามมาตรา 39 มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.ยานยนต์สมัยใหม่  2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ  4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ  5.การแปรรูปอาหาร  6.หุ่นยนต์  7.การบินและโลจิสติกส์  8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ  9.ดิจิทัล และ 10 การแพทย์และสุขภาพครบวงจร 

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

“อุตตม” เตรียมแผนเดินสายโรดโชว์

“อุตตม สาวนายน”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า การที่ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ… ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาโครงการอีอีซี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน และสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยแผนงานต่อไปหลังจากนี้นั้นคาดว่าจะใช้เวลา 60 วันตั้งคณะกรรมการนโยบายดำเนินการ และภายใน 90 วันสรรหาเพื่อตั้งเลขาฯ อีอีซี  แต่ในระหว่างนั้นจะเริ่มจัดทำแผนแม่บท เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมโดยตั้งกองทุนขึ้นมา 1,000 ล้านบาท เพื่อดูแลเยียวยาพัฒนาชุมชนโดยรอบ แผนการศึกษา รวมถึงแผนการท่องเที่ยว

โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ทางกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มโรดโชว์ประเทศไปในเป้าหมายเพื่อดึงอุตสาหกรรม S-Curve เข้ามาทันที อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา จีน ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้ายอดขอรับการลงทุน (บีโอไอ)ในเขตพื้นที่อีอีซีปีนี้ไว้ที่ 300,000 ล้านบาท

คณิศ  แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 

ขณะที่ “คณิศ  แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เน้นย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้สำหรับคนไทย และรอเปิดรับนักลงทุนชาวไทย รวมถึง SME ไทย ให้เข้ามาใช้สิทธิ์ ไม่ใช่เฉพาะนักลงทุนต่างชาติ และการที่มีโครงสร้างบริหารที่ชัดเจนจะทำให้มั่นใจว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นโอกาสของการลงทุนในระยะยาว

ทั้งนี้จะเร่ง 5 โครงการให้เห็น TOR ตามแผนให้ได้นักลงทุนภายในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ใช้ PPP นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้สัดส่วนเต็ม หรือเกิน 49% และเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้จะมีนักลงทุนทั้งจากญี่ปุ่นและจีนยื่นขอรับการส่งเสริมแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้นักลงทุนในประเทศเหล่านี้ยังรอกฎหมายชัดเจนอยู่

โดยคาดว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีอาจสูงกว่า 300,000 ล้านบาทจากยอดขอรับของบีโอไอทั้งปีที่วางเป้าไว้ที่ 720,000 ล้านบาท และน่าว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงภายในปีนี้ราว 30-40% จากคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปีก่อนที่มีมูลค่ารวม 200,000 ล้านบาท

ภาพจาก : การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 กลุ่มทุน “ไทย-ตปท.” ปักหมุดรอ

แม้ว่าที่ผ่านมาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ…..ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ในฟากของกลุ่มทุนทั้งลงทุนทั้งไทยและต่างชาติต่างให้ความเชื่อมั่นและเริ่มเข้ามาลงทุนปักธงรออยู่เป็นระยะใน 3 จังหวัดพื้นที่อีอีซีกันแล้ว ทั้งธุรกิจในภาพอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า พื้นที่ใน 3 จังหวัดอีอีซีนั้นปัจจุบันมีนิติบุคคลเปิดดำเนินกิจการอยู่รวมทั้งสิ้น 61,284 ราย รวมทุนจดทะเบียนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี 44,975 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 1.02 ล้านล้านบาท จังหวัดระยอง 11,553 ราย ทุนจดทะเบียน 5.60 แสนล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 4,756 ราย ทุนจดทะเบียน 1.44 แสนล้านบาท

โดยบริษัทดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่ดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน การพัฒนาและจัดสรรที่ดิน รับเหมาก่อสร้าง อาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัย ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือในการก่อสร้าง ขายเครื่องมือจักรกล เครื่องไฟฟ้า ฯลฯ รวมถึงบริษัทให้บริการรักษาความปลอดภัย บริษัทให้บริการรับขนส่งสินค้า

นอกจากนี้ยังพบว่าตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนทั้งที่เป็นชาวไทยและต่างประเทศ ขอจดทะเบียนตั้งบริษัทในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด อีอีซี รวมทั้งสิ้นสูงถึง 6,800 บริษัท เพิ่มจากปี 2559 ที่ยอดที่มียอดจดทะเบียนใน 3 จังหวัดดังกล่าวอยู่ที่ 6,378 บริษัท

โดยประเภทธุรกิจที่มีผู้ประกอบการสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย  1. อสังหาริมทรัพย์ 10,851 ราย ทุนจดทะเบียน 7.26 หมื่นล้านบาท 2. ก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,336 ราย ทุนจดทะเบียน 5.27 แสนล้านบาท 3. การขนส่งและขนถ่ายสินค้า-คนโดยสาร 1,773 ราย ทุนจดทะเบียน 4.85 พันล้านบาท 4. ภัตตาคาร ร้านอาหาร 1,577 ราย ทุนจดทะเบียน 6.33 พันล้านบาท และ 5. ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น 1,394 ราย ทุนจดทะเบียน 557 ล้านล้านบาท

 คาดปี’65 ขอรับส่งเสริมการลงทุนพุ่ง 4 แสนล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกร มองว่า พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น ให้กับนักลงทุนภาคเอกชนในการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะยาวจากการให้สิทธิประโยชน์ ที่ไม่ใช่ภาษีแก่นักลงทุนเพิ่มเติม หรือการออกใบอนุญาตต่างๆที่รวดเร็วมากขึ้น นอกเหนือจากความพยายามของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีผ่านโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์ทางภาษี

หากพิจารณาถึงการลงทุนภาคเอกชนในแถบพื้นที่อีอีซี นักลงทุนต่างชาตินับได้ว่าเป็นผู้เล่นสำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกจัดอยู่ในอุตสาหกรรม First S Curve

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้น-กลาง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยให้ทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่อีอีซี เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอด (First S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ

ซึ่งอาจส่งผลดีต่อมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยรวมให้ขยายตัวขึ้นจากราว 283,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2560 ไปเป็น 400,000 ล้านบาทภายในปี 2565 ทั้งนี้ นักลงทุนหลักในพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น แต่อาจจะเห็นโครงการลงทุนมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นจากจีน สหรัฐฯ และ EU

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของความต้องการทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มาจากการลงทุนใน EEC โดยเฉพาะน้ำประปาและไฟฟ้า อาจทำให้อุปทานที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำประปาที่อุปทานอาจรองรับได้ถึงเพียงราวปี 2562

หากมองไปในระยะยาว การพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve บางประเภทที่ใช้นวัตกรรมเข้มข้นอาจเผชิญความท้าทายจากความพร้อมทางด้านนวัตกรรมของไทยที่แข่งขันได้ยากขึ้น ซึ่งคงต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของหลายฝ่ายอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับแนวคิดการจัดตั้ง EECi และ EECd ในพื้นที่ อีอีซี เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

จับตาหุ้นกลุ่มนิคมฯ-การเงิน-รับเหมา

และทันทีที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้จะเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อาทิ  AMATA,  WHA  กลุ่มธนาคาร รวมถึงกลุ่มรับเหมาก่อสร้างแน่นอน

สอดรับกับ “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย บอกว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่ากฎหมายที่ออกมารองรับอีอีซีนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้นแน่นอน โดยกลุ่มทุนที่มองว่าจะได้ประโยชน์ คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยหุ้นที่น่าสนใจประกอบด้วย AMATA, THAICON, WHA เป็นต้น และเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนควรจะซื้อเก็บไว้

ขณะที่ เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASPS มองว่า จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวดีขึ้นและคาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามมองว่า ภาพรวมตลาดยังคงได้รับ

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐเร่งลงทุนตามแผนงาน และเร่งผลักดันเศรษฐกิจ จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยและการลงทุนในอนาคตแน่นอน…