ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมายให้บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (PICNI) อยู่ในข่ายถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยประกาศให้อยู่ในกลุ่มที่เข้าข่ายต้องปรับปรุงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท และถูกขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขายเป็นเวลา 2 ปี ก่อนในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ถอนหุ้น PICNI ออกจากกระดานซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะไม่สามารถปรับปรุงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานได้ภายในเวลา 2 ปี
ผ่านมา 10 ปี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปิคนิคฯ ที่ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) ในปี 2557 และเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ หรือ WP ได้รับอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้พ้นเหตุถูกเพิกถอนและให้เปิดซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง
WP หรือ บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ ได้ทำการปรับปรุงฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานเป็นเวลา 1 ปี และงวดสะสมก่อนยื่นคำขอ ซึ่งพิจารณาจากงบการเงินประจำปี 2559 เท่ากับ 36 ล้านบาท และงบการเงินงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 เท่ากับ108 ล้านบาท โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 เท่ากับ 675 ล้านบาท รวมทั้งสามารถแสดงได้ว่าบริษัทมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่มั่นคงตามสภาพธุรกิจของบริษัทไปอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ กลุ่มผู้ถือหุ้นที่เข้ามาผลักดันให้ WP กลับมาสู่การซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ครั้งใหม่นี้ ปรากฏชื่อของกลุ่มนักลงทุนนามสกุลดัง ที่นำโดยตระกูลพุ่มพันธุ์ม่วง ของอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนดัง สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน พร้อมด้วย อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา จากคิงพาวเวอร์, วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ จากกลุ่มสามารถ และชัชวาลย์ เจียรวนนท์ จากกลุ่มซีพี ซึ่งผูกติดกันมาตั้งแต่วงการฟุตบอลไทย มาจนถึงตลาดหุ้นไทย สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุุนได้พอสมควร
WPเคยทำยอดขาย LPG ได้สูงถึงกว่า 1 ล้านตันในปี 2558 แต่การตกต่ำของราคาน้ำมันโลกในปี 2559 ทำให้ความนิยมในการติดตั้งถังก๊าซของรถยนต์บ้านหดหายไป ยอดขาย LPG ตกลงไปเหลือหลัก 9 แสนตันเศษ และลดลงเหลือราว 8.7 แสนตันในปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับแผนรุกเข้ามาหาลูกค้าภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม พร้อมการรุกตลาดประเทศเพื่อนบ้าน
ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ หรือ WP กล่าวว่า ตลาดยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ตลาดก๊าซ LPG กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง และส่งผลบวกต่อผลประกอบการของบริษัทให้เติบโตตามไปด้วย โดยปี 2561 บริษัทคาดว่ายอดขายรวมจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 3% พร้อมตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร ซึ่งบริษัทมีความสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานทุกรูปแบบหากสิ่งนั้นให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
การกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์รอบนี้ WP มีแผนที่ระดมเงินมาเพื่อสร้างคลังกระจายสินค้าแห่งใหม่ ความจุ 9,500 ตัน ด้วยงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน WP มีคลังกระจายสินค้า อยู่จำนวนทั้งสิ้นใน 5 แห่ง ได้แก่ ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ประกอบด้วย 2 เฟส, ที่อำเภอบ้านแฮดจังหวัดขอนแก่น 1 คลัง และที่อำเภอท่าพระ จังหวัดขอนแก่น 1 คลัง, ที่อำเภอบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม 1 คลัง และที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 1 คลัง โดยคลังกระจายสินค้าที่จะสร้างเพิ่มเติมเป็น เฟส 3 ของคลังกระจายสินค้าที่อำเภทบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
นพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ กล่าวว่า การสร้างคลังกระจายสินค้าเพิ่มนอกเหนือจากเป็นการรองรับความต้องการของการใช้ LPG ทั่วประเทศแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมในปี 2564 ที่จะมีกฎหมายการเพิ่มอัตราการสำรองก๊าซอีก 1% ซึ่งที่ผ่านมา WP มีการเช่าคลังสินค้าภายนอกในการเก็บการสำรองก๊าซ ใช้งบประมาณส่วนนี้ไปปีละมากกว่า 100 ล้านบาท โดยปัจจุบันคลังกระจายสินค้าของ WP ทั้งหมดมีความจุรวมราว 8,000 ตัน เมื่อรวมกับเฟสใหม่ที่จะสร้าง ทำให้มีความจุเพิ่มเป็น 18,500 ตัน เพียงพอกับการสำรองก๊าซในอนาคต และประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มหาศาล
ปัจจุบัน WP มีส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นอันดับ 3 โดยเป็นการจำหน่ายให้กับโรงงานขนาดใหญ่ อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์นิสสัน โรงงานสหมิตรถังแก๊ส ฯลฯ ขณะที่ตลาดภาคครัวเรือน ที่มีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี WP มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 2 รองจาก ปตท
ในส่วนแผนขยายฐานลูกค้า ชนกมล เผยว่า นอกจากกลุ่มลูกค้าในประเทศ WP ยังมีแผนขยายตลาดประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนใหม่ (CLMV) โดยล่าสุดได้ขยายตลาดไปที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และมีแผนขยายตลาดไปที่สปป.ลาว เพิ่มเติม เนื่องจากมองว่ากลุ่ม CLMV เป็นตลาดที่ยังขยายตัวได้อีกมาก เพราะยังมีความต้องการใช้ก๊าซค่อนข้างสูงทั้งในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม โดยปีที่ผานมาสามารถส่งออกได้ราว 200 ตัน คาดว่าปีนี้จะสามารถเพิ่มการส่งออกได้ถึง 1,000 ตัน
ปัจจุบัน WP มีโรงบรรจุก๊าซ 11 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ สถานีบริการก๊าซ 2 แห่ง มีบริษัทลูก Eagle Intertrans ที่เป็นเจ้าของรถขนส่งก๊าซมากถึง 160 คัน รวมถึงบริษัท Logistic Enterprise ดูแลด้านการขนส่งด้วยรถขนส่งก๊าซขนาดเล็ก สู่โรงบรรจุก๊าซเอกชน 130 แห่ง และธุรกิจพาณิชยกรรม อาทิ คิงพาวเวอร์, สยามพารากอน และบิ๊กซี เป็นต้น นอกจากนี้ WP ยังมีบริษัทลูก WP Solution ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซ่อมบำรุงถังก๊าซ และบริษัท WP Solar ที่เปิดเพื่อทำธุรกิจพลังงาน Solar ที่รัฐบาลเคยให้การสนับสนุน แต่ปัจจุบันหยุดไป
“วันนี้ WP จะไม่ผูกขาดอยู่กับธุรกิจก๊าซเท่านั้น ชื่อ WP Energy หมายถึงการรุกไปสู่ธุรกิจพลังงานงานครบวงจร ที่อยู่ระหว่างการศึกษา โดยปัจจุบันเราเหมือนทำธุรกิจอยู่ในส่วนกลางน้ำแต่ก็มีศักยภาพที่จะขยายไปในส่วนต้นน้ำ และปลายน้ำให้ครบวงจร ทั้งการทำระบบการขนส่งก๊าซผ่านเรือ ต้นทางในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิต และปลายน้ำ คือเป็นผู้ผลิตถังบรรจุก๊าซ ส่งต่อไปสู่ลูกค้า นอกจากนั้นในส่วนของพลังงานอื่นที่ไม่ใช่ก๊าซ LPG ก็จะมีการศึกษาเพื่อต่อยอดธุรกิจออกไปเช่นกัน”
การกลับมาอีกครั้งของหุ้นพลังงานก๊าซปิโตรเลียมเหลว ในชื่อใหม่ WP อาจจะยังไม่สดใสนัก เปิดตลาดวันแรก 1 กุมภาพันธ์ 2561 ด้วยราคา 15.40 บาท ปิดต่ำสุดในรอบสัปดาห์ที่ 9.50 บาท ก่อนขยับขึ้นมาปิดสัปดาห์ที่ 2 ด้วยราคา 11.50 บาท หลักทรัพย์ เคจีไอ มองว่าเป็นหุ้นที่มีศักยภาพดี ให้ราคาเป้าหมาย 8.50 บาท อาจทำให้นักลงทุนต้องรอกันหน่อย