ตลาด ถ่านไฟฉายในประเทศไทย มูลค่าไม่เล็กไม่ใหญ่ ปีละราว 4,000 ล้านบาท แต่การแข่งขันในตลาดกลับขาดสีสันมานาน
ส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดนี้ไม่คึกคัก เนื่องจากตัวสินค้าถ่านไฟฉาย แทบไม่มีเทคโนโลยีที่สร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ต่อแบรนด์ ทำให้ Brand Royalty หรือความจงรักภักดีต่อแบรนด์ มีก็เหมือนไม่มี
เพราะปัจจัยสำคัญที่แต่ละแบรนด์จะชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้ ก็คือการเข้าไปจับจองช่องทางการจัดจำหน่ายที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด ผู้บริโภคที่ต้องการหาซื้อถ่านไฟฉาย เดินเข้าร้านค้ามีขายถ่านยี่ห้อใด มีขนาดตรงกับที่ต้องการ ก็ซื้อได้ทันที
จึงไม่น่าแปลกที่แบรนด์ที่เข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อที่เป็นเหมือนความจำเป็นประจำวันของคนเมือง อย่าง 7-11 หรือแฟมิลี่มาร์ท และผูกขาดเป็นแบรนด์เดียวในร้าน อย่างพานาโซนิค จะกลายเป็นผู้นำในตลาดถ่านไฟฉาย โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 83% ทิ้งแบรนด์อันดับ 2 และต่อๆมา ที่มีส่วนแบ่งแบรนด์ละหลักหน่วยเปอร์เซ็นต์
ความจริงแล้ว พานาโซนิค ก็ถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดถ่ายไฟฉายทั้งในระดับโลก และในประเทศไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ปีค.ศ.1918 สินค้าตัวแรกที่ผลิตออกมาในประเทศญี่ปุ่น คือ ไฟฉายสำหรับจักรยานพร้อมถ่าน และในปี ค.ศ 1961 หรือ พ.ศ.2504 พานาโซนิคก็ออกมาตั้งโรงงานผลิตถ่านไฟฉายนอกประเทศญี่ปุ่นแห่งแรก ที่เมืองไทย ทำให้คนไทยรู้จักถ่านไฟฉายเนชั่นแนล มาจนถึงปัจจุบันในชื่อ พานาโซนิค
ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถ่านไฟฉายพานาโซนิค ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่พานาโซนิคให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดค้น และสร้างสรรค์ในยุคเริ่มต้น และได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดจำหน่ายไปยังทั่วโลก
ถึงวันนี้เทคโนโลยีของถ่านไฟฉายกำลังจะเปลี่ยนจากถ่านคาร์บอนซิงค์มาสู่ถ่านอัลคาไลน์ที่มีพลังงานสูงกว่า และเก็บได้นานกว่า ซึ่งพานาโซนิคก็ได้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้สอดรับกับความต้องการของตลาด และให้ก้าวทันกับการใช้งานที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณความต้องการใช้งานถ่านอัลคาไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งต้องการพลังงานที่สูงกว่าถ่านธรรมดา
ด้วยเป้าหมายของพานาโซนิคญี่ปุ่น ที่มอง 3 ประเทศสำคัญในการขยายตลาดอัลคาไลน์ ประกอบด้วย อินเดีย, บราซิล และไทย ด้วยเหตุเป็นประเทศที่มีประชากรมาก โดยในประเทศไทยพานาโซนิค ตั้งเป้าที่จะครองส่วนแบ่งตลาดถ่านอัลคาไลน์ให้ได้ถึง 91% (จากปัจจุบัน 72%) ในปี พ.ศ. 2565 หรืออีก5 ปีข้างหน้า วันนี้ พานาโซนิคจึงเริ่มรุกตลาดถ่านอัลคาไลน์ โดยการเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ถ่านพานาโซนิค อัลคาไลน์ Panasonic Alkaline รุ่นใหม่ ด้วยแนวคิด “10 Times Longer Lasting” พลังไฟยาวนานกว่า 10 เท่า ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการถ่านไฟฉายพลังงานสูงยิ่งขึ้น
โดยความพิเศษของการทำการตลาดถ่านพานาโซนิค อัลคาไลน์รุ่นใหม่นี้ คือการเปิดตัวพรีเซนเตอร์ถ่านไฟฉายพานาโซนิค คนแรกตั้งแต่ทำตลาดมา โดยการดึงนักฟุตบอลไทยที่ฮอตที่สุดในวันนี้ เมสซี่ เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ มาเป็นพรีเซนเตอร์ ด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสมจากความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความแข็งแกร่ง อดทน เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงาน สามารถสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของสินค้าถ่านพานาโซนิค อัลคาไลน์ ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เมสซี่ เจยังมีความเชื่อมโยงความเป็นไทยและญี่ปุ่นจากการเป็นนักฟุตบอลของลีกในระดับอาชีพของญี่ปุ่นด้วย
โดย วิฑูรย์ เหล่าวีระกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ถ่านไฟฉาย บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้พานาโซนิคจะมีส่วนแบ่งตลาดถ่านอัลคาไลน์ถึง 72% แต่ก็เชื่อว่ายังสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากผลการวิจัยพบว่าผู้บริโภคมีโอกาสเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อถ่านไฟฉายได้หากพบว่ามีคุณภาพดีกว่า หรือ มีอายุการใช้งานยาวนานเพิ่มขึ้น พานาโซนิคจึงกำหนดกลยุทธ์เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขายถ่านอัลคาไลน์ ด้วยการสื่อสารไปยังผู้บริโภคให้เห็นถึงประสิทธิภาพการใช้งานที่ยาวนานกว่า 10 เท่า (เมื่อเทียบกับถ่านธรรมดา) และสามารถใช้ได้ดีกับทุกอุปกรณ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ที่มีความต้องการพลังงานเพิ่มมากขึ้น อาทิ กล้องดิจิทัล ของเล่น เม้าท์ไร้สาย และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าดูแลร่างกาย เป็นต้น
การรุกตลาดครั้งนี้ พานาโซนิคได้วางงบประมาณการตลาดไว้ถึง 100 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้ด้านประสิทธิภาพ พร้อมทั้งตอกย้ำภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำตลาดถ่านไฟฉายในประเทศไทย โดยใช้ เมสซี่ เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ พรีเซนเตอร์คนแรกของผลิตภัณฑ์ถ่านพานาโซนิค อัลคาไลน์ สื่อสารกับผู้บริโภคทุกกลุ่ม ผ่านช่องทางต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่โฆษณาทางโทรทัศน์ สปอทวิทยุ บิลบอร์ด ป้ายโฆษณา Out of Home กิจกรรมโรดโชว์ ป้ายหน้าร้านค้า และช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คและยูทูป
ในส่วนของช่องทางจำหน่าย พานาโซนิคมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง ผ่านผู้แทนจำหน่าย (Dealer) 60% และห้างสรรพสินค้า 40% โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ที่แม้จะเหลือสัญญาอีก 2 ปี แต่วิฑูรย์ก็มั่นใจว่า จะไม่มีปัญหาในการต่อสัญญาเป็นถ่านไฟฉายแบรนด์เดียวที่จำหน่ายในร้าน 7-11 ต่อไปอีก
“พานาโซนิคตั้งเป้าว่าจากแคมเปญการทำการตลาดเพื่อยกระดับความต้องการ จากถ่านพานาโซนิคคาร์บอนซิงค์ เป็นถ่านพานาโซนิคอัลคาไลน์ จะสามารถเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเติบโตเป็น 2 เท่า ทำให้สัดส่วนของการขายถ่านอัลคาไลน์ เพิ่มเป็น 52% สูงกว่าถ่านคาร์บอนซิงค์ ได้ในปี 2565 และมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 91%” วิฑูรย์ กล่าว