เรื่องโดย : ผศ.ดร.ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ International University of Health and Welfare ประเทศญี่ปุ่น
เทรนด์การใช้ชีวิตในแบบ “Minimalism” หรือ “แนวการใช้ชีวิตแบบมีพอดีๆ เท่าที่จำเป็น” กำลังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ
นับตั้งแต่ ฟุมิโอะ สาสะคิ (Fumio Sasaki) ได้ออกรายการโทรทัศน์และเขียนหนังสือเปิดเผยความเปลี่ยนแปลงหลังการเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบคนมักน้อย จนได้รับการจับตามองจากคนวัยหนุ่มสาวมากมาย และมีคนหันมาใช้ชีวิตตามแบบเขามากขึ้น
กลุ่มคนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “มินิมอลลิส” หรือ ผู้มักน้อยแบบพอดีๆ นั่นเอง
ถึงแม้ว่าการใช้ชีวิตแบบนี้น่าจะเป็นการทวนกระแสสังคมในยุคดิจิทัลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนใคร
หนังสือชื่อ『ぼくたちに、もうモノは必要ない』“ของไม่จำเป็นสำหรับพวกผมแล้ว” โดย Fumio Sasaki
ฟุมิโอะ สาสะคิ ถือว่าเป็นผู้หนึ่งที่จุดประกายไลฟ์สไตล์แบบนี้ เขาได้เปิดเผยถึงการใช้ชีวิตในแบบมินิมอลว่า แต่เดิมเขาเคยเหน็ดเหนื่อยกับการที่ต้องเก็บและดูแลรักษาทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์และข้าวของต่างๆที่มีอยู่มากมายเป็นประจำซึ่งข้าวของเหล่านั้นทำให้เขาต้องเสียเวลาที่จะอยู่กับครอบครัวและเพื่อนๆ
ดังนั้น เขาเลยตัดสินใจเริ่มจัดการสิ่งของต่างๆที่คิดว่าเป็นส่วนเกินในชีวิตออกไป เขาบอกว่าการตัดสินใจทำลักษณะนี้เป็นผลดีกับชีวิตของเขามาก ทำให้มีเวลาเพิ่มขึ้นและได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
Fumio Sasaki ตอนออกรายการเปิดเผยชีวิตสไตล์มินิมอลลิส เขาเปิดเผยว่าในตู้เสื้อผ้าของเขามีเพียง ชุดเท่านั้น
เขาอธิบายว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการใช้ชีวิต ข้าวของเครื่องใช้ที่มีในห้องจะเลือกจัดวางไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการใช้สอยเท่านั้น สิ่งที่มีอยู่ในห้องทุกอย่างล้วนเรียบง่าย แต่มีคุณค่าในการใช้งานที่ยาวนาน
นอกจากของใช้ที่จำเป็นแล้ว การมีขนาดพื้นที่อยู่อาศัยที่พอดี มีเฟอร์นิเจอร์ไม่มากชิ้น เพียงพอต่อการใช้งาน มีพื้นที่ทำครัวเล็กๆ มีจำนวนเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็น ไม่มีเตียง มีแต่ฟูกนอนที่สามารถเก็บเข้าที่ได้ บ้านก็ไม่ได้ประดับประดาอะไร ซึ่งจะทำให้ห้องโล่ง โปร่ง สบายตา
นี้คือ สไตล์การจัดบ้านแบบพอดีๆ และมีเท่าที่จำเป็นของ “ฟุมิโอะ สาสะคิ”
Kondo Marie กับหนังสือที่เธอเขียนได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาต่างๆ มีวางจำหน่ายในกว่า25ประเทศ ภาพจาก http://www.gov-online.go.jp/eng/publicity/book/hlj/html/201509/201509_11_en.html
คนญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งที่ถือว่าเป็นบุคคลที่นำเสนอแนวคิดแห่งการมีอย่างพอเพียง และนำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลได้ที่น่ากล่าวถึงอีกคนหนึ่งคือ “คนโด มาริเอะ” (Kondo Marie) ซึ่งหากดูจากภายนอกเธออาจเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่หนังสือของเธอที่ชื่อ『人生がときめく 片付けの魔法』หรือชื่อภาษาไทย “เวทมนต์แห่งการเก็บกวาด เปลี่ยนชีวิตให้ดูดี”ได้สร้างปรากฏการณ์มาแล้วทั้งในญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรปจนนิตยสารไทม์ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2015 (100 Most Influential People)
สิ่งที่เป็นแนวคิดที่สำคัญที่ “คนโด มาริเอะ” กล่าวย้ำเสมอในหนังสือและในรายการที่เธอให้สัมภาษณ์อยู่เป็นประจำนั่นคือ “การละทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไป” นั่นเอง
ข้อความของเธอตอนหนึ่ง เขียนเพื่อกระตุ้นเตือนสำหรับคนที่ทิ้งของยากว่า “คุณคิดว่าเราควรเก็บสารพัดข้าวของที่กระตุ้นให้นึกถึงสิ่งต่างๆที่ควรลืมไปตั้งนานแล้วหรือคะ คนเรามีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าเรื่องราวตอนนั้นจะยอดเยี่ยมสักแค่ไหนเราก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับอดีตได้ ความสุขและความตื่นเต้นที่เราได้สัมผัสในตอนนี้ต่างหากที่มีความสำคัญกว่า”
และ “อดีตจะคอยฉุดรั้งไม่ให้คุณได้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันและก้าวไปสู่อนาคตได้ เมื่อคุณจัดระเบียบข้าวของ นั่นหมายความว่าคุณกำลังจัดระเบียบอดีตด้วยเช่นกัน สิ่งที่คุณทำคือการสะสางทุกสิ่งทุกอย่าง และกดปุ่มเริ่มชีวิตใหม่เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า”
ผู้เขียนมองว่า แนวคิดของ “คนโด มาริเอะ” จะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับอดีตจนต้องเก็บของทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในความทรงจำ และหันกลับมาสำรวจของใช้ในห้องของเรา แล้วจัดลำดับความสุขและความตื่นเต้นที่ได้สัมผัสกับมัน จัดลำดับหมวดหมู่ของมัน เรียงลำดับความสำคัญ ความถี่ของการใช้งาน และนำสิ่งที่ไม่ค่อยจำเป็นทิ้งไปโดยไม่เสียดายหรืออาลัยอาวรณ์กับมัน
ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าที่อยู่ในตู้ที่บ้านของเรา โดยพิจารณาไปทีละตัวว่าถ้าตัวไหนที่มองแล้วรู้สึกไม่โดนใจก็ให้แยกออกมาแล้วจัดการให้พ้นจากตู้เสื้อผ้าของคุณหรือนำไปบริจาค
เพียงเท่านี้ก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจากการจัดบ้าน ซึ่งจะมีพลังบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
แนวคิดการใช้ชีวิตของ “ฟุมิโอะ สาสะคิ” ที่เน้น “การมีใช้เท่าที่จำเป็นและพอดีๆ” และของ “คนโด มาริเอะ” ที่เน้น “การจัดระเบียบข้าวของในบ้าน” ถึงแม้ทั้งสองคนจะมีแนวคิดที่แตกต่างกันในเรื่องลำดับก่อน-หลัง กล่าวคือ ฟุมิโอะ สาสะคิ จะตัดสินใจลด-ละสิ่งของที่เกินความจำเป็นออกไป ส่วนคนโด มาริเอะจะเน้น “การโละ ละ” สิ่งของที่มีอยู่
แต่ถ้าหากเรามองให้ลึกๆ แล้วทั้งสองแนวคิดล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างความพอดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ซึ่งเป็นวิถีการใช้ชีวิตที่มีตรรกะแฝงอยู่ในตัว
การได้เริ่มจัดลำดับความจำเป็นและละทิ้งสิ่งที่เกินความจำเป็นออกไป ถือเป็นกระบวนการคิดและตัดสินใจว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นที่น่าพอใจสำหรับตัวเอง เหมาะสมมากน้อยเพียงใด เมื่อได้ตัดสินและลงมือทำแล้ว ความคิดก็เป็นระเบียบ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “พื้นที่ว่างในใจ”
เป้าหมายสำคัญของการใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่ใช่การทิ้งข้าวของทุกอย่าง แต่เป็นการฝึกคิด พิจารณา และทบทวนความผูกพันของเรากับสิ่งของเหล่านั้น แล้วเลือกทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิตนั่นเอง
การจัดห้องให้เป็นระเบียบ นำสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปนับว่ายังเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากสำหรับหลายคน
ผู้เขียนเอง หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นมามากกว่า 10 ปี ได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้ถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นมามากมาย การได้เห็นตัวอย่างการใช้ชีวิตในแบบ “ฟุมิโอะ สาสะคิ” และแบบ “คนโด มาริเอะ” ทำให้เข้าใจแก่นแท้ของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น
ชีวิตของทั้งสองท่านเป็นครูที่ชี้แนะสไตล์การใช้ชีวิตให้กับเราได้เป็นอย่างดี การมองและแยกแยะว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็นและไม่จำเป็น น่าจะเป็นข้อคิดที่ช่วยให้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทันที
โดยส่วนตัวตอนนี้สิ่งที่ตัดสินใจทำคือ การไม่ซื้อเสื้อผ้าเพิ่มเติมในแต่ละช่วงของการเปลี่ยนฤดู การไม่ซื้อข้าวของเครื่องใช้มากักตุน หรือแม้กระทั่งนำหนังสือที่อ่านแล้ว หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้วไปบริจาคหรือให้คนที่เขาต้องการ เพียงแค่ได้ลองทำแบบนี้ก็รู้สึกชีวิตโล่งขึ้นในระดับหนึ่ง และเป็นการฝึกให้ตัวเราไม่ตระหนี่และหวงของอีกด้วย
หากวิเคราะห์กันให้ดีจะเห็นว่า เทรนด์การใช้ชีวิตในแบบ “Minimalism” อาจจะกำลังมาทวนกระแสสภาพชีวิตในสังคมทุนนิยมที่เน้นการมีมากจนเหลือเฝือเหลือใช้ ซึ่งแนวคิด “แบบมีน้อย พอดีๆ” นี้ กำลังมาเตือนสติเราๆ ท่านๆ ให้รู้ว่าถ้าขาดความพอดี หรือมีมากเกินความพอดีแล้วมักจะเป็นภาระและอาจจะทำให้ทุกข์ได้
การฝึกตัดสินใจ “ลด โละ ละ” ในสิ่งของที่มีหรืออยากมีจะทำให้เราเอาชนะความอยากของตนที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ ไม่เพียงจำเพาะสิ่งของเท่านั้นการนำแนวคิดนี้มา “ลด โละ ละ” ความคิดเก่าๆที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตที่แทรกซึมอยู่ในความทรงจำต่างๆ ออกไป ก็น่าจะทำให้เราทุกข์น้อยลง และมองเห็นความสุขต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวมากขึ้น คุณว่าจริงไหมครับ?
ขอบคุณภาพ Featured จาก https://facthacker.com/minimalism-when-less-is-more/