ในช่วง 4-5 ปีมานี้ “เมียนมา” เป็นตลาดที่มีความน่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็ยังมีอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนหลายประการที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาเพื่อมองหาแนวทางแก้ปัญหา โดยอุปสรรคสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญยังมีอยู่จำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่างๆ ที่บังคับใช้ กฎระเบียบด้านการเงินการธนาคาร ปัญหาความไม่สงบ มาตรการการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากภาษีศุลกากรปกติ การคมนาคขนส่ง รวมถึงการผูกขาดระบบการค้าของรัฐบาล
“วีโร่” บริษัทตัวแทนด้านการประชาสัมพันธ์ การสื่อสารการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อดิจิทัล และงานการสื่อสาร ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคชาวเมียนมา ถึงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชื่อว่า Who Are Myanmar Millennials? (WAMM?) ซึ่งจัดทำโดยบริษัท อินโดไชน่า รีเสิร์ช
จากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ประชากรเมียนมากลุ่มที่เรียกว่า “มิลเลนเนียล” ได้หันมาสนใจคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์มากกว่าชื่อแบรนด์เมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน
โดยประชากรมิลเลนเนียลชาวเมียนมาส่วนใหญ่หรือคิดเป็นร้อยละ 54 มองเรื่องคุณสมบัติการใช้งานของผลิตภัณฑ์และบริการเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด รวมถึงความเป็นเก่าแก่และเรื่องราวของแบรนด์อีกด้วย
“มิลเลนเนียล” คือกลุ่มคนที่เกิดในระหว่างปี 2525-2543 ปัจจุบันในประเทศเมียนมามีชาวมิลเลนเนียลอยู่ราว 16.6 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 33 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้เกิดมาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล จึงเชื่อกันว่าพวกเขาจะเป็นผู้สร้างเทรนด์ต่างๆ และเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของพฤติกรรมต่างๆ ในสังคม
“ไบรอัน กริฟฟิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วีโร่ กล่าวว่า ผลสำรวจนี้เผยให้เห็นพลังของประชากรชาวมิลเลนเนียลของเมียนมาที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ตลาดและส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของครอบครัว
ผลสำรวจยังชี้อีกว่าประชากรเมียนมายุคมิลเลนเนียลไม่ได้คอยดูทิศทางหรือตามผู้ใหญ่เสมอไป พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียในการกระจายข่าว ซึ่งส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคของคนในครอบครัวและแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบ
ที่สำคัญคือ ประชากรมิลเลนเนียลชาวเมียนมาไม่ได้ให้ความสนใจถึงความภักดีต่อแบรนด์หรือคำสัญญาของแบรนด์มากนัก เมื่อเทียบกับมิลเลนเนียลในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ โดยมีมิลเลนเนียลชาวเมียนมาเพียงร้อยละ 46 เท่านั้นที่บอกว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ ตรงกันข้ามกับมิลเลนเนียลในประเทศลาวและกัมพูชาที่สนใจแบรนด์มากถึงร้อยละ 72 และ 73 ตามลำดับ
ในขณะเดียวกัน ประชากรมิลเลนเนียลชาวเมียนมา ร้อยละ 54 มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าโดยคำนึงการใช้งานของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ
ผลสำรวจ WAMM ของวีโร่ แสดงให้เห็นว่า สำหรับพวกเขาแล้ว ปัจจัยอื่นๆ เช่น ประเทศแหล่งต้นกำเนิดผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี ความคุ้มค่า และรางวัลระดับนานาชาติ มีความสำคัญมากกว่าความนิยมหรือความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์
“ภัทร์นีธิ์ จีริผาบ” รองประธานบริหารวีโร่ประจำภูมิภาคอาเซียนบอกว่า มิลเลนเนียลชาวเมียนมาเชื่อว่าการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งช่วยหล่อมหลอมตัวตนของพวกเขา พวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโลกและชีวิตสมัยใหม่ที่เห็นมาจากโลกออนไลน์
การเข้าใจว่ากลุ่มคนมิลเลนเนียลมองแบรนด์อย่างไร ถือเป็นโอกาสสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในตลาดเมียนมาที่มีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ ยังเป็นเหมือนการได้สร้างเทรนด์ใหม่ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่นี้อีกด้วย
ผลสำรวจอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจจาก WAMM ของวีโร่ครั้งนี้คือ ประชากรมิลเลนเนียลของเมียนมาร้อยละ 66 ให้ความสำคัญของโซเชียลมีเดียในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ ยิ่งไปกว่านั้นโซเชียลมีเดียเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่มีอิทธิพลมากกว่าครอบครัว เพื่อน และอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
ทั้งนี้ พบว่าเฟสบุ๊ค เป็นแพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลต่อประชากรมิลเลนเนียลชาวเมียนมามากที่สุดในขณะนี้ (ร้อยละ 99) ตามมาด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ
ไม่เพียงเท่านี้ เฟสบุ๊คยังเป็นประตูสู่เว็บไซต์ต่างๆ สำหรับชาวเมียนมา และยิ่งสำคัญกว่ามากสำหรับชาวมิลเลนเนียล เพราะการตัดสินใจซื้อของพวกเขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเฟสบุ๊ค
ดังนั้น กลยุทธ์โซเชียลมีเดียที่แข็งแรงจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักการตลาดในประเทศเมียนมาในขณะนี้