หากจะถามว่าเม็ดเงินโฆษณาที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจโทรทัศน์ในวันนี้ปรับเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนที่ยังไม่มีทีวีดิจิทัล บอกเลยว่าหากนำตัวเลขงบโฆษณาของทีวีเดิม (อนาล็อก) มารวมกับงบโฆษณาของทีวีดิจิทัล มูลค่ารวมยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
โดยมีมูลค่ารวมร่วม 70,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ราว 58-66% ของอุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมที่มีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาทมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ประเด็นสำคัญคือ เมื่อ 5 ปีก่อน ประเทศไทยมีผู้ให้บริการทีวีเชิงพาณิชย์อยู่เพียง 4 สถานี แต่ละสถานีจึงมีรายได้ในแต่ละปีเป็นตัวเลขมหาศาล ขณะที่ปัจจุบันมีช่องทีวีดิจิทัลประเภทบริการทางธุรกิจถึง 24 ช่อง ส่งผลให้สมรภูมิการแข่งขันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เจอศึกหนัก “รายได้ลด-ต้นทุนพุ่ง”
สถานียักษ์ใหญ่ที่เคยครองเรตติ้งสูงสุดอันดับ 1 อันดับ 2 อย่างช่อง 7 สี และช่อง 3 มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น รายได้ที่เคยได้จากงบโฆษณามหาศาลต่อปีถูกสถานีอื่นๆ แย่งส่วนแบ่งไป การแข่งขันก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว
โดยกลุ่มที่ต้องปรับตัวอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นกลุ่ม “บีอีซี เวิลด์” ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 33, ช่อง 28 และช่อง 13 เพราะขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของตัวเองถูกแบ่งออกไปนั้น ตัวเลขรายได้และกำไรยังตกลงเรื่อยๆ แถมยังมีภาระต้นทุนค่าเช่าสถานีถึง 3 ช่อง
นั่นหมายความว่า “บีอีซี เวิลด์” ต้องเจอกับปัจจัยลบถึง 2 เด้ง คือ ทั้งรายได้-กำไรลด และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากรายงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ในปี 2557 บีอีซี เวิลด์ มีรายได้รวม 16,381.5 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,414.9 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้รวม 16,017.9 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,982.7 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้รวม 12,534.5 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,218.2 ล้านบาท และครึ่งปีแรกปี 2560 มีรายได้รวม 6,275.3 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 361.6 ล้านบาท
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการบริหาร ผังรายการ แนวทางการทำงาน ฯลฯ
โดยเมื่อกลางปีที่ผ่านมา “บีอีซี เวิลด์” ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแม่ทัพครั้งใหญ่ในรอบกว่า 40 ปี โดยตั้ง “ประชุม มาลีนนท์” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท พร้อมทั้งดึง “มืออาชีพ” อีกหลายคนเข้ามาทำงานร่วมขบคิดกับผู้บริหารใน “ตระกูลมาลีนนท์”
ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เกิดขึ้น และเพื่อรักษารายได้และกำไรไม่ให้ตกต่ำไปกว่าปี 2559 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
แผนปี’61 ชูคอนเทนต์หลากหลายดึงงบโฆษณา-ผู้ชมกลับคืน
ล่าสุด “ประชุม มาลีนนท์” ซีอีโอ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร จัดงานแถลงข่าว “ก้าวที่มั่นคงของ บีอีซี เวิลด์” เพื่อประกาศทิศทางกลยุทธ์ในการดำเนินงานสำหรับปี 2561 เพื่อสู้ศึกทีวีดิจิทัลว่า ไม่ว่าสถานการณ์ของสื่อจะเป็นอย่างไร สื่อทีวีก็ยังคงที่ได้รับความนิยมสูงสุด
ดังนั้น “บีอีซี เวิลด์” จะยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในด้านการนำเสนอคอนเทนต์ใหม่ ๆ ทั้งด้านข่าวสารและความบันเทิงที่มีคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ชม และมองว่าแนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาในปีนี้จะโตขึ้น เนื่องจากการแข่งขันทางการตลาดที่สูง
ขณะเดียวกัน ยังยึดหลักการดำเนินธุรกิจในลักษณะการสร้างพันธมิตรทางการค้า (Business Partnership) เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ นอกจากการขายเวลาให้ลูกค้าเพื่อลงโฆษณาสินค้าทั่วไป โมเดลความร่วมมือระหว่าง “บีอีซี เวิลด์” กับลูกค้าทางธุรกิจที่มากกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงผู้บริโภคของแบรนด์ต่างๆ ได้มากขึ้น และลึกซึ้งขึ้น
อีกส่วนที่สำคัญคือ การขยายตลาดต่างประเทศในลักษณะการสร้างพันธมิตรกับคู่ค้าต่างประเทศทั่วโลก โดยจะเริ่มที่กลุ่มประเทศ CLMV ก่อนเป็นอันดับแรกเพราะเป็นตลาดที่คุ้นเคยกับรายการและละครช่อง 3 เป็นอย่างดี ด้วยการทำงานร่วมกัน ซึ่งการสร้างพันธมิตรนี้นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จในรูปแบบของการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เสริมทัพทีมผู้บริหารในสายต่างๆ ผนวกกับกลุ่มดาราและผู้จัดมากความสามารถในการพัฒนาคอนเทนต์เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง
โดย “ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” หัวหน้าคณะผู้บริหารสายกิจการองค์กร บอกว่า แม้ในขณะที่สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่กลุ่ม “บีอีซี เวิลด์” ยังมองว่า เป็นความท้าทายที่สำคัญซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ และด้วยความที่สถานีมีคอนเทนต์ที่แข็งแรง ผนวกกับทีมผู้บริหารที่มากด้วยประสบการณ์ บวกกับแนวทางการตลาดที่เข้าถึงและครอบคลุม 360 องศาจะทำให้ก้าวต่อไปเป็นก้าวที่สำคัญและมั่นคง
ซึ่งจุดเด่นของ “บีอีซี เวิลด์” คือการมีองค์ความรู้ มีผู้จัดรายการละครและวาไรตี้ที่มากด้วยความสามารถ มีผู้จัดที่สามารถสร้างเรตติ้งละครได้ดี สร้างละครที่มีคุณค่าต่อสังคม มีรายการที่ให้ความรู้และฝึกปฎิภาณความคิดของเยาวชน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีศิลปินและดาราอีกกว่า 200 คนที่ทั้งมีความสามารถและมีทัศนคติที่ดีที่จะร่วมก้าวไปกับ “บีอีซี เวิลด์” ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าและเพิ่มอัตราการรับชมให้กับช่องต่อไป
พร้อมย้ำว่า “บีอีซี เวิลด์” จะยังคงลงทุนเพิ่มเติมในการผลิตคอนเทนต์ใหม่ที่ดีและมีจุดขายเพื่อบรรจุในผังรายการพร้อม ๆ กับพัฒนานิวมีเดียเพื่อเพิ่มช่องทางการรับชม เพราะมั่นใจว่ารายการที่ดี สนุก และมีคุณภาพจะยังคงเป็น “ทัพหน้า” ที่จะสู้ศึกทีวีดิจิทัลดึงผู้ชมกลับมารับชมรายการของช่องมากขึ้น ทั้งบนจอทีวีและสื่อดิจิทัล ซึ่งในภาพรวมจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินโฆษณาที่เพิ่มขึ้นตามมา