จากจุดเริ่มต้นในปี 2490 ที่จิราธิวัฒน์รุ่นแรก “นี่เจียง แซ่เจ็ง” หรือ เตียง จิราธิวัฒน์ ชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ล่องลำน้ำโขงเข้าสู่เมืองไทย เปิดร้านขายของชำเล็กๆ ใครเลยจะรู้ว่า วันนี้ร้านเล็กๆ นั้นได้กลายเป็นอาณาจักรห้างสรรพสินค้าอันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีกิ่งก้านสาขาขยายออกไปสู่หลายเมืองสำคัญของโลก
เตียง จิราธิวัฒน์ คือผู้บุกเบิก แต่ผู้วางรากฐานให้เซ็นทรัล เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงวันนี้ได้ คงต้องยกให้ทายาทรุ่นที่ 1 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ที่ยกระดับร้านโชห่วยขึ้นเป็นห้างสรรพสินค้าที่รวมเอาสินค้าหลากหลายเข้ามาจำหน่ายอยู่ในที่เดียวกัน เป็นครั้งแรกในเมืองไทย
เส้นทางของห้างเซ็นทรัล ตลอด 70 ปี ภายใต้การบริหารของจิราธิวัฒน์ 3 เจเนอเรชั่น ผ่านคู่แข่งทางธุรกิจมาหลายรูปแบบ ช่วงแรกของการเปิดเป็นห้างสรรพสินค้า ราวปี 2505 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ไดมารู เข้ามาเปิดห้างสรรพสินค้าในเมืองไทย บนถนนราชดำริ ในปี 2507 ด้วยจุดขายบันไดเลื่อนแห่งแรกในเมืองไทย สร้างความนิยมให้กับคนไทยมากกว่าแบรนด์เซ็นทรัล แต่สุดท้าย ไดมารู ก็ต้องพับฐานกลับประเทศไปเพราะแพ้ภัยเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าดาวรุ่ง โรบินสัน ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2520 และเติบโตขยายสาขาอย่างรวดเร็ว จนสามารถพาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ท้ายที่สุดก็พบจุดจบจากพิษเศรษฐกิจ กิจการถูกโอนมาอยู่ในมือกลุ่มเซ็นทรัลเสียเอง
มาถึงช่วงปี 2530 คู่แข่งของเซ็นทรัล เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มเดอะมอลล์ ของตระกูลอัมพุช ที่เริ่มต้นจากห้างสรรพสินค้าเล็กๆ บนถนนราชดำริ ก่อนจะพบว่า การจะอยู่รอดในธุรกิจนี้ได้ ต้องทำตัวให้ใหญ่ จนกลุ่มเดอะมอลล์กลายเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ที่ต่อกรกับกลุ่มเซ็นทรัลจนมาถึงปัจจุบัน ก็ไม่ได้สร้างความสั่นสะเทือนเท่าไรนัก
เพราะปัจจุบัน เซ็นทรัล ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์การค้าของคนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ ห้างเซ็นทรัลได้ขยายครอบคลุมไปในหลายประเทศทั่วโลก ภายใต้ชื่อแบรนด์ต่างๆ ตั้แต่ ห้างเซ็นทรัล 22 สาขาในประเทศไทย รวมเซน และเซ็นทรัลออนไลน์ และ 2 สาขาในอินโดนิเซีย , ห้างโรบินสัน, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี รวมไปถึงเมืองใหญ่ในยุโรป ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าอิลลุม ในประเทศเดนมาร์ก ห้างสรรพสินค้าอัลสแตร์เฮาส์ โอเบอร์โพลลิงเกอร์ และคาเดเว ในประเทศเยอรมนี และห้างสรรพสินค้า ลา รีนาเชนเตในประเทศอิตาลี ล้วนเป็นเครือข่ายของเซ็นทรัลทั้งสิ้น
แต่ในขณะที่เซ็นทรัลมีการเติบโตที่สุดในรอบ 7 ทศวรรษ กลับพบว่า นี่คือช่วงเวลาที่องค์กรต้องปรับตัวเพื่อรับการการแข่งขันทางธุรกิจมากที่สุด
ยุวดี จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า แม้ผู้บริโภควันนี้จะมีเงินอยู่ในกระเป๋า แต่พฤติกรรมการใช้จ่ายกลับเปลี่ยนไป หันไปใช้เงินกับการท่องเที่ยวมากขึ้น ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงใช้ไปกับการรับประทานอาหาร มากกว่าการซื้อสินค้า ส่งผลให้คนเข้าห้างสรรพสินค้าลดลง
ยุวดี จิราธิวัฒน์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่
กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด
เมื่อผู้คนเข้าห้างน้อยลง โอกาสในการขายก็น้อยลงตาม สินค้าใหม่ สินค้าลดราคา โปรโมชั่นกระหน่ำเซลล์ ไม่ใช่ตัวดึงดูดที่มีประสิทธิภาพไปได้ตลอด แต่ไลฟ์สไตล์ต่างหาก แต่ไลฟ์สไตล์ต่างหาก ที่จะเป็นแม่เหล็กในการดึงผู้คนกลับมา ทำให้ 70 ปีของเซ็นทรัล ต้องมีการปรับจุดยืนจากการขายสินค้า ไปเป็นการขายไลฟ์สไตล์
“เมื่อลูกค้าไม่มาซื้อของ เซ็นทรัลจึงต้องปรับตัวเพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้ชีวิต” นี่คือโจทย์ที่ยุวดีวางไว้
ซึ่ง นิตย์สินี จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ก็ได้กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ในการพลิกโฉมหน้าห้างเซ็นทรัลครั้งใหญ่นี้ ว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจต้องสอดคล้องกับเทรนด์ตลาดค้าปลีกโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่มีเข้ามาตลอด โดยเซ็นทรัลรูปแบบใหม่ ได้วางวิสัยทัศน์ว่า “A Second home that transcends generations.” ที่ต้องการสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นเสมือน “บ้านหลังที่ 2 ของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม” ได้เข้ามามีประสบการณ์ที่ดีในทุกโอกาสของชีวิต ด้วยงบประมาณรวม 350 ล้านบาท
ภายใต้แผนดังกล่าว ที่จะสร้างให้เซ็นทรัลเป็นมากกว่าจุดซื้อขายสินค้าทั่วไป มาเป็นพื้นที่แห่งการสร้างประสบการณ์ที่ผู้คนจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันมากยิ่งขึ้น เริ่มจากปีที่ผ่านมามีการปรับปรุงห้างเซ็นทรัล สาขาบางนา, ปิ่นเกล้า เสร็จสมบูรณ์ และดำเนินการปรับโฉมใหม่หมดทั้งส่วนของศูนย์การค้า และขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับโฉมห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพระราม 3 มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่อีก 2 สาขาใหม่ คือ ห้างเซ็นทรัลนครราชสีมา ที่พร้อมให้บริการในเดือนพฤศจิกายนนี้ และห้างเซ็นทรัลภูเก็ต ที่มีกำหนดเปิดในเดือนมีนาคม 2561ก็จะมีการออกแบบห้างในคอนเซปต์เดียวกันทั้งหมด
โดยยุวดีกล่าวว่า ห้างเซ็นทรัลภายใต้แนวคิดใหม่นี้ จะเป็นศูนย์รวมชีวิตผู้คน เพื่อมาเรียนรู้ มามองหาสิ่งใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมา ห้างเซ็นทรัลก็ถือเป็นห้างที่ริเริ่มในการสร้างความแปลกใหม่ให้กับห้างสรรพสินค้ามาตลอด เช่นการเป็นห้างแรกที่มีธนาคารเปิดให้บริการ มีการจัดนิทรรศการ งานแสดงศิลปะ วัฒนธรรมจากต่างประเทศ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้ากลับมาอีก ไม่ใช่กลับมาซื้อสินค้า แต่กลับมาเพราะนี่คือบ้านหลังที่ 2 ที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับชีวิต
“แม้ยอมรับว่าแนวคิดบ้านหลังที่ 2 นี้เป็นงานยากที่จะสร้างให้เกิดขึ้น แต่ห้างเซ็นทรัลก็จะทำให้ดีที่สุด”
นอกเหนือจากการสร้างห้างเซ็นทรัลให้เป็นบ้านหลังที่ 2 แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการช้อปปิ้งในปัจจุบันที่มีพรมแดนน้อยลง เซ็นทรัลยังมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Aux Villes Du Monde.com (AVDM) และแอปพลิเคชั่นภายใต้ชื่อเดียวกันบนสมาร์ตโฟน ที่จะทำให้ประสบการณ์การช้อปปิ้งของลูกค้าห้างเซ็นทรัลและห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ในเครือในทุกประเทศทั่วโลก ได้รับการเชื่อมโยงถึงกันโดยสมบูรณ์ โดยนอกจากลูกค้าจะสามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวของเมืองที่มีสาขาตั้งอยู่แล้ว ยังสามารถติดต่อกับห้างในต่างประเทศเพื่อใช้บริการต่างๆ เช่น จองโรงแรม ร้านอาหาร หรือเลือกซื้อสินค้าในห้างสาขาต่างประเทศที่ไม่มีจำหน่ายในไทย เปิดให้ดาวน์โหลดใช้งานได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ทั้งระบบ iOS และ Android
ห้างเซ็นทรัลนำเทคโนโลยีระบบใหม่ที่มาใช้เพื่อสร้างบริการที่รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที ครอบคลุมทุกช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ www.central.co.th และแอปพลิเคชั่น Central โฉมใหม่ ที่พัฒนาปรับโฉมใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ทุกมิติ ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างประสบการณ์ช้อปปิ้งในห้างและการช้อปปิ้งออนไลน์ผสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน (Omnichannel) กลายเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ผนวกกันแบบไร้รอยต่ออย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งการให้ข้อมูลแบบอินเตอร์แอ็คทีฟ โปรโมชั่นที่สามารถเลือกได้ตามเพศชายและหญิง เข้าถึงความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น พร้อมคอนเทนต์ให้อัพเดตเทรนด์แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ และหากถูกใจสินค้าชิ้นใด ก็สามารถช้อปปิ้งได้ง่ายขึ้น เพียงคอนเน็กเข้าไปที่ Central.co.th ภายในแอปฯ และยังสามารถดาวน์โหลด E-coupon เพื่อนำมารับสิทธิพิเศษในห้างเซ็นทรัลทุกสาขาได้ด้วย
ยุวดียอมรับว่า แม้วันนี้มูลค่าการช้อปปิ้งออนไลน์ ยังมีไม่ถึง 1% ของการค้าปลีกโดยรวม แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ แนวคิด Omnichannel จึงถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ ที่ลูกค้าห้างเซ็นทรัลจะสามารถเลือกช้อปปิ้งที่ไหนก็ได้ รับสินค้า หรือคืนสินค้าผ่านช่องทางไหนก็ได้ทั้งออนไลน์ หรือออฟไลน์ โดยห้างเซ็นทรัลไม่ได้มองว่าออนไลน์จะโตมากน้อยเท่าไร แต่เป็นการตอบรับเทรนด์ผู้บริโภค และเป็นบริการที่สนับสนุนซึ่งกันและกันในการพาให้ยอดขายของเซ็นทรัลเติบโตได้
และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดอีกส่วนในวาระ 70 ปีนี้ คือการรีแบรนด์ ปรับเปลี่ยนโลโก้และองค์ประกอบของแบรนด์ห้างเซ็นทรัลให้มีความทันสมัยและเรียบง่ายมากขึ้น ตั้งแต่ฟอนต์ตัวอักษรของโลโก้ (font) ภาพดอกกุหลาบ เพื่อสื่อให้เห็นถึงความหนักแน่น ตั้งใจ และมุ่งมั่นของห้างเซ็นทรัลในการบริการลูกค้า อีกทั้งยังสอดรับกับทิศทางความเป็นห้างสรรพสินค้าระดับโลก ที่จะตอกย้ำความเป็นผู้นำของเซ็นทรัลได้เป็นอย่างดี
ยุวดีวางเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในปีนี้ไว้ 1.3 แสนล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาราว 10% โดยจะเป็นรายได้จากธุรกิจในประเทศ 60% และจากต่างประเทศ 40%
แต่สิ่งสำคัญคือ ก้าวเดินของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในวัย 70 ปี ที่จะไม่ได้เป็นเพียงห้างสรรพสินค้าระดับประเทศ หรือแค่ภูมิภาค แต่เซ็นทรัลคือ ผู้นำในธุรกิจห้างสรรพสินค้าหรูระดับโลก ที่ไม่เพียงแต่เป็นความภูมิใจของผู้บริหารเซ็นทรัลเท่านั้น แต่นี่คือความภูมิใจของคนไทย ที่มีเซ็นทรัลอยู่คู่สังคมไทยจนผูกพันมาถึงวันนี้
เป็นตำนานห้างสรรพสินค้าที่ยังเดินหน้าสู้กับกาลเวลาอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น