“กรุงเทพฯ” แชมป์เมืองจุดหมายปลายทางที่สุดในโลกติดกันเป็นปีที่2 และติด 1 ใน 5 เมืองที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากที่สุด

1477

เป็นประจำทุกปีที่ “มาสเตอร์การ์ด” ได้ทำการสำรวจเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางโลก ประจำปี 2560 (MastercardGlobal Destinations Cities Index –GDCI 2017) ซึ่งทำการสำรวจติดต่อกันเป็นปีที่ 7 เพื่อค้นหาจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาค้างคืน และยอดการจับจ่ายใช้สอยในเมืองปลายทางทั้ง 132 เมืองทั่วโลก

พบว่ากรุงเทพฯ” ของประเทศไทยยังคงครองอันดับหนึ่งเมืองจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเยือนมากที่สุด ติดต่อกันเป็นปีที่2 ตามมาด้วยกรุงลอนดอน

โดยกรุงเทพฯ ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีการค้างคืนมากถึง 19.41 ล้านคนในปี2559 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวจะเติบโตขึ้น4% คิดเป็น 20.2 ล้านคนในปี2560 นี้

และเป็นเมืองที่ยังติด1 ใน 5 ของเมืองที่นักท่องเที่ยวพักค้างคืนมีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดถึง 14.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

การสำรวจดังกล่าวไม่เพียงจัดอันดับ 132 เมืองทั่วโลกที่มีผู้มาเยือนมากที่สุด และมีการใช้จ่ายมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังวิเคราะห์จำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในปีปฏิทิน 2559 เพื่อใช้คาดการณ์การเติบโตในปีถัดไป พร้อมกับนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เข้าใจถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองจุดหมายปลายทาง รวมถึงรูปแบบการเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในเชิงลึกอีกด้วย

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจฯ นักเดินทางที่มาเยือนกรุงเทพฯ (88.6%) เป็นการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจุดประสงค์หลัก ซึ่งมีมากกว่าการเดินทางมาเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด (11.4%) และมี 3 สิ่งที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ ช็อปปิ้ง (22.9%) ที่พัก (22.6%) และการบริการต่างๆ ในกรุงเทพฯ (21.5%)

และจากผลการสำรวจล่าสุด ยังนำเสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับประเทศต้นทาง 5 อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปยังเมืองจุดหมายปลายทาง โดย 5 ประเทศต้นทางที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวยังกรุงเทพฯ มากที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน (34.3%) ญี่ปุ่น (7.1%) เกาหลีใต้ (4.3%) อินเดีย (4.1%) และ สหราชอาณาจักร (3.8%) ตามลำดับ

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางสุดยอดของโลกติด 10 อันดับแรกมากที่สุด และยังมีการใช้จ่ายมากกว่าเมืองจุดหมายปลายทางในภูมิภาคอื่น โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเมืองต่างๆ ที่ติด 10 อันดับในอาเซียน มีการใช้จ่ายรวมในปี 2559 อยู่ที่ 91.16พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในยุโรปซึ่งอยู่ที่ 74.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในอเมริกาเหนือที่ 55.02 พันล้านเหรียญสหรัฐ

“อีริค ชไนเดอร์” รองประธานอาวุโส เอเชียแปซิฟิก ที่ปรึกษามาสเตอร์การ์ด ระบุว่า จากการที่เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากที่สุด ธุรกิจท่องเที่ยวจะยังคงเป็นภาคธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

การที่มีจำนวนนักเดินทางทั้งเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนและเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศควรหันมาลงทุนในเครือข่ายอัจฉริยะและสาธารณูปโภค ที่จะมอบประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวที่ราบรื่นให้กับทั้งประชาชนที่อยู่อาศัยในเมือง นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อพักผ่อน และนักธุรกิจ

และเมืองที่ลงทุนในเครือข่ายและสาธารณูปโภคดังกล่าว จะสามารถพัฒนาศักยภาพของการเป็นเมืองจุดหมายปลายทางโลกอย่างแท้จริง และได้รับประโยชน์มหาศาลทางเศรษฐกิจจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นและอัตราการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากผลสำรวจฯ นี้ ระบุว่า “ลอนดอน” ซึ่งอยู่ในอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่19.06 ล้านคน ในขณะที่สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยวจำนวน 13.11 ล้านคน แซงนิวยอร์กที่ 12.7 ล้านคน ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 5 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในขณะที่โซล กระโดดขึ้นมาถึง 3 อันดับจนมาอยู่ที่อันดับ 7 ที่ 12.39 ล้านคน

สำหรับเมืองจุดหมายปลายทาง 10 อันดับแรกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีการค้างคืนมากที่สุดในปี 2559 พร้อมคาดการณ์การเติบโตในปี 2560 

นอกจากนี้ยังพบว่า  อิสตันบูล  เป็นเมืองเดียวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินไปกับการดินเนอร์มากที่สุด (33.6%) ขณะที่กรุงโซลนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินไปกับการช็อปปิ้งมากที่สุด (56.5%) ตามด้วย ลอนดอน (46.7%) โตเกียว (43.1%) กัวลาลัมเปอร์(31.3%) และดูไบ (31%)

ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวถูกใช้เป็นค่าที่พักและโรงแรมมากที่สุดเมื่อเดินทางไป ปารีส (44.8%) และ นิวยอร์ก (31.8%) เป็นต้น