ทิพาพรรณ ภัทรวิกรม Executive Director, ผู้บริหารกลุ่มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (“กองทุน DIF”) เปิดเผยว่า จากปัจจัยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผันผวน ประกอบกับภาวะนโยบายการเงินจากธนาคารกลางทั้งในประเทศและนอกประเทศยังมีแนวโน้มตึงตัว ทำให้ภาพรวมการลงทุนตลาดหุ้นไทยในปีนี้ยังเป็นความท้าทายสำหรับนักลงทุน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดทุนไทยที่ยังผันผวน การลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และรีทส์ ยังเป็นช่องทางที่สร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดทุนไทยได้ดี โดยล่าสุด คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนฯ มีมติอนุมัติให้กองทุน DIF เตรียมจ่ายผลผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยกองทุน สำหรับรอบไตรมาส 4/2567 จากงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567- 31 ธันวาคม 2567 ในอัตรา 0.2222 บาท/หน่วย ทำให้ปี 2567 กองทุนสามารถจ่ายผลประโยชน์ตอบที่รวมทั้งสิ้น 0.8888 บาท/หน่วย โดยมีกำหนดจ่ายให้ผู้ถือหน่วยในวันที่ 7 มีนาคม 2568
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หริอ DIF เป็นกองทุน Flagship ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บลจ. ไทยพาณิชย์ โดยกองทุน DIF เป็นหนึ่งในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีปัจจัยพื้นฐานกองทุนที่แข็งแกร่ง จากการลงทุนในกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์ด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบสื่อสารในประเทศ โดยกองทุน DIF มีรายได้ที่มั่นคงจากสัญญาเช่าระยะยาวที่เกิดจากการให้เช่าทรัพย์สินเสาโทรคมนาคม และสายใยแก้วนำแสง (FOC; Fiber Optic Cable) กับกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ทำให้กองทุน DIF เป็นกองทุนที่มีเสถียรภาพและสามารถรักษาระดับการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง กองทุน DIF มีอายุสัญญาให้เช่ากับผู้เช่าหลัก 9 ปี ซึ่งด้วยโลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มากขึ้น กองทุนคาดว่ามีโอกาสที่จะได้รับการต่อสัญญาเช่าต่อไป ในอนาคต กองทุน DIF จึงเป็นกองทุนที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่มองหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่สูงมาก และมีโอกาสสร้างกระแสเงินสดจากผลตอบแทนระยะยาวให้กับพอร์ตลงทุน
ทั้งนี้ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทุน DIF มีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และทำให้มูลค่าจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินลดลง รวมถึงกำไรงวดปี2567 ที่ลดลงจากการประเมิน ซึ่งเป็นรายการขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจากเงินลงทุน อย่างไรก็ดี จากมูลค่าการประเมินทรัพย์สินที่เปลี่ยนแปลงเป็นเพียงผลของการบันทึกทางบัญชีที่สะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินที่นำมาใช้ประกอบการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อรายได้ กระแสเงินสด หรือความสามารถในการดำเนินงานของกองทุนแต่อย่างใด
ทิพาพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าทรัพย์สินจากการประเมินเป็นเรื่องของการบันทึกบัญชีที่สะท้อนมูลค่าของกองทุนในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน และไม่ได้กระทบต่อพื้นฐาน หรือลดทอนศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลของกองทุนแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากการที่กองทุน DIF เป็นหนึ่งในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนทุกกลุ่ม จึงสะท้อนได้ถึงความมั่นคงของธุรกิจได้ดี ที่มั่นใจได้ว่ากองทุน DIF ยังเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่มีคุณค่า ซึ่งหลังจากนี้ กองทุน DIF ยังมุ่งเดินหน้าบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาระดับการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้ยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลกองทุน หรือดูรายละเอียดกองทุนเพิ่มเติม ได้ที่ www.scbam.com หรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 02-777-7777