“ภูเก็ต” ประกาศความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน Global Sustainable Tourism Conference หรือ GSTC 2026 พร้อมผลักดันย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) สร้างแบบอย่างด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกันจัดตั้ง “มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน” ขึ้นเมื่อสองปีที่ผ่านมา โดยเห็นว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวของโลกเป็นไปในแนวของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะตลาดหลักของภูเก็ตคือตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปที่ใส่ใจเรื่องนี้มาก ถ้าหากภูเก็ตไม่เข้าสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คนรุ่นหลังของภูเก็ตก็จะประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวต่อไปไม่ได้ มูลนิธิฯ จึงสมัครเป็นสมาชิกสภาการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council : GSTC) ซึ่งเป็นองค์กรให้การรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
มูลนิธิฯ มีแนวคิดการเสนอตัวให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมงานระดับโลก Global Sustainable Tourism Conference เพื่อสร้างหมุดหมายสำคัญให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงได้นำแนวคิดนี้ไปหารือกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐในการประมูลการเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก มูลนิธิฯ มองว่าทีเส็บเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีมาก เพราะทีเส็บมีบทบาทในการทำเอกสารการประมูลและมีความเชี่ยวชาญในการทำยื่นข้อเสนอ ทำให้จังหวัดภูเก็ตได้รับการประกาศชื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Global Sustainable Tourism Conference 2026 หรือ GSTC 2026 ในเดือนเมษายน 2569
ขณะเดียวกัน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการ Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030 ยกระดับย่านเมืองเก่าภูเก็ตสู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากล คู่ไปกับการประกาศสนับสนุนภูเก็ตเป็นเจ้าภาพการประชุม GSTC 2026 ในปี 2569 โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ มียุวทูตสิ่งแวดล้อม 60 คนเป็นกลุ่มแรกที่จะดูเรื่องการแยกขยะ จะมีการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยเครื่องย่อยขยะอินทรีย์เพื่อให้แน่ใจว่าขยะอินทรีย์ทั้งหมดจะไม่ออกไปนอกพื้นที่เมืองเก่า รวมทั้งมีการพัฒนาระบบขนส่งคาร์บอนต่ำ สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ เพื่อการปรับลดให้ได้ตามเป้าหมาย และจะเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่มีการวางแนวทางในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 โดยมีการรวบรวมวิธีดำเนินการเพื่อเป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่นนำไปปรับใช้ได้ด้วย
การจัดงาน Global Sustainable Tourism Conference 2026 หรือ GSTC 2026 ในเดือนเมษายน 2569 ภายใต้แนวคิด “Regenerative Tourism” เป็นการประชุมและสัมมนาเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวระดับโลกและในท้องถิ่น มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ โรงแรม บริษัททัวร์ บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้เกี่ยวข้องอีกมากมายเข้าร่วมงาน จะมีการหารือกันหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ประชาชน ไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้ได้