หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพจัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) จัดตั้ง Research consortium: Probiotics เพื่อผลักดันงานวิจัยโพรไบโอติกไทย สู่อุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันธุรกิจโพรไบโอติกของประเทศ ระหว่างหน่วยงานวิจัยด้านโพรไบโอติก ในงานประชุม Expert Forum : Probiotics ยกระดับงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ
โดยความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมการสนับสนุนงบประมาณวิจัย การสร้างเทคโนโลยีการผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก การขยายขนาดการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม การเตรียมความพร้อม และปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการขึ้นทะเบียนโพรไบโอติก การวิจัยตลาดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในตลาดโลก
หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย
1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
2. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
3. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
4. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
5. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6. มหาวิทยาลัยมหิดล
การจัดตั้ง Research Consortium : Probiotics เพื่อผลักดันงานวิจัยโพรไบโอติกไทยสู่อุตสาหกรรมเพื่อความสามารถในการแข่งขันธุรกิจโพรไบโอติกของประเทศ นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข., ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว., ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ผศ.ดร.ศิวลาภ สุขไพบูลย์วัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้แทน รศ.ดร.รัมภา บุญสินสุข ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ศ.ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับงานนี้เป็นการร่วมให้ความเห็นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และจากภาคเอกชน เพื่อสังเคราะห์โจทย์วิจัยและการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานกฎระเบียบและการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับการวิจัยผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกของไทยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรม มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และตลาดผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกโลกที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในงานยังมีวิทยากรมาให้ความรู้ในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจของประเทศ ดังต่อไปนี้
นำโดย รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ หัวหน้าศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ ทางวิจัยด้านโพรไบโอติก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ , รศ.ดร.มัสลิน นาคไพจิตร หัวหน้าศูนย์ Center of Excellence for Microbiota Innovation มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ International Executive Board Committee, AFSLAB โดยทั้ง 2 ท่านได้มาถ่ายทอดประสบการณ์การวิจัยและการขึ้นทะเบียนโพรไบโอติกสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักวิจัย และเอกชนทุกท่าน
นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้เกียรติมาให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ ดร.สรียา เรืองพัฒนพงศ์นักวิจัยอาวุโสศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. มาให้ความรู้ในเรื่อง การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารด้วยเทคโนโลยี จุลินทรีย์โพรไบโอติกท้องถิ่นสายพันธุ์ใหม่ ,รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้แนวทางการบริการทดสอบและประเมินความปลอดภัยของจุลินทรีย์โพรไบโอติกแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อขึ้นทะเบียนโพรไบโอติกในประเทศไทย (Probiotic Registration Guideline) , ดร.ชาลินี คงสวัสดิ์ ผู้จัดการงานความปลอดภัยทางชีวภาพ ฝ่ายวิจัยนโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ได้มาแชร์เทคนิคและข้อควรระวังในการขึ้นทะเบียนโพรไบโอติกไทย, ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชันและนวัตกรรมอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ได้มาแนะนำโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่จากจุลินทรีย์และชีววิทยาสังเคราะห์เพื่ออุตสาหกรรม และ ศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต ผู้จัดการสำนักประสานงานวิจัยอาหารมูลค่าสูง บพข. ได้รวบรวมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสังเคราะห์โจทย์วิจัยและแนวทางการสนับสนุนของ บพข เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโพรไบโอติกให้มีความเข้มแข็งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมอาหารไทย