คาร์กิลล์ (Cargill) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านอาหารและเกษตรกรรม ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของโลก ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนสังคมไทยผ่านการสานต่อ ‘โครงการเกษตรอาหารกลางวัน’ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนด้วยอาหารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยโภชนาการ ผ่านการจัดอบรมเพื่อมอบองค์ความรู้และความเข้าใจในการทำการเกษตรให้กับนักเรียนในจังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครราชสีมากว่า 6,000 คน โดยคาร์กิลล์จะยังคงดำเนินโครงการเกษตรอาหารกลางวันต่อไปเป็นระยะเวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี พร้อมเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนโครงการอีกจำนวน 6 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการและสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่คาร์กิลล์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของประเทศไทย และด้วยโครงการเกษตรอาหารกลางวัน คาร์กิลล์ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขจัดปัญหาความหิวโหยและภาวะขาดสารอาหารที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ซึ่งโครงการนี้ คาร์กิลล์ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ให้กับเยาวชนอายุตั้งแต่ 7-14 ปี พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาสนใจประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ โครงการเกษตรอาหารกลางวันยังส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ พร้อมผลักดันให้นำผลผลิตทางการเกษตรจากโครงการมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันภายในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมกับการเจริญเติบโตตามวัย
โครงการเกษตรอาหารกลางวันยังช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเรียนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นผักที่ปลูกบนดิน ผักไฮโดรโปนิกส์ ไข่โอเมก้า 3 ปลานิล ปลาดุก รวมถึงเห็ดนางฟ้า ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของนักเรียน ในปีที่ผ่านมา โครงการนี้สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรรวมมูลค่ากว่า 1.3 ล้านบาท ซึ่งได้นำไปใช้เพื่อการบริโภคภายในโรงเรียนและการวางจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โครงการนี้ได้ดำเนินการในโรงเรียนไปแล้วกว่า 40 แห่ง โดยมีนักเรียนที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 6,000 คน และยังขยายผลกระทบเชิงบวกไปยังชุมชนและพื้นที่โดยรอบอีกด้วย
นอกจากนี้ คาร์กิลล์ยังดำเนินโครงการ ‘น้องอิ่มท้อง พี่อิ่มใจ’ จัดหาผลิตภัณฑ์ไก่สดและไก่ปรุงสุกส่งมอบให้กับโรงเรียน 8 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา และอีก 9 แห่งในจังหวัดสระบุรีทุกสัปดาห์ โดยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ตั้งแต่ดำเนินโครงการทั้งสองโครงการนี้ คาร์กิลล์ได้สนับสนุนมื้ออาหารให้กับโรงเรียนในประเทศไทยไปแล้วกว่า 5 ล้านมื้อ
ล่าสุด คาร์กิลล์ได้ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการเกษตรอาหารกลางวันอีก 2 ปี โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนา Agriculture School จำนวน 4 โรงเรียน เพื่อนำร่องให้เป็นโรงเรียนต้นแบบของการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่ โดยมุ่งถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการเกษตรแก่บุคลากรครูและนักเรียน พร้อมนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาปรับใช้ และจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนในโครงการร่วมปลูกผักและแลกเปลี่ยนความรู้กัน โครงการนี้ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนที่เข้าร่วมสามารถใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าผ่านการลงมือปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรกรรมในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ยังสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นเกษตรกร ชี้แนะแนวทางการศึกษาต่อและโอกาสในสายอาชีพเกษตรกรรม พร้อมช่วยยกระดับโรงเรียนให้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับการทำเกษตรสมัยใหม่อีกด้วย
วัชรพล ประสพเกียรติโภคา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคาร์กิลล์โปรตีน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้แทนคณะผู้บริหาร กลุ่มบริษัทคาร์กิลล์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความไม่มั่นคงทางอาหารยังคงเป็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คาร์กิลล์ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ เพราะเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ประชากรทั่วโลกควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างทั่วถึงและปลอดภัย เราจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตในทุกมิติเพื่อให้มั่นใจว่า ตลอดเส้นทางจากฟาร์มสู่เมนูอาหารจานโปรดจะเป็นมื้อที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อการบริโภค คาร์กิลล์ไม่เพียงแต่สานต่อโครงการเกษตรอาหารกลางวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่คาร์กิลล์ยังเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเพื่ออนาคตสู่การยกระดับการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก”
ทั้งนี้ โครงการเกษตรอาหารกลางวันจึงเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการเชื่อมโยงทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชนเข้าไว้ด้วยกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย นอกจากนี้ ยังสอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายด้านการยุติความหิวโหย (Zero Hunger) การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม ยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure) การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) รวมถึงการเสริมความเข้มแข็งผ่านความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals)
จากการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2573 และในทุกวันจะมีประชากรกว่า 840 ล้านคนต้องเผชิญกับความหิวโหย ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารขึ้นถึง 70% เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรทั่วโลก คาร์กิลล์จึงได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) หล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลกมาตลอดหลายทศวรรษ และในปีที่ผ่านมา คาร์กิลล์มีการส่งมอบอาหารมากกว่า 34 ล้านมื้อ เพื่อยุติความหิวโหยในวิกฤตการณ์อาหาร เพื่อยกระดับคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลก คาร์กิลล์พร้อมสานต่อความมุ่งมั่นในการส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อการบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างระบบอาหารที่มีความเท่าเทียมและยืดหยุ่นสำหรับทุกคน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการและผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) ของคาร์กิลล์ สามารถค้นหาได้ที่ https://www.cargill.com/sustainability/2024-impact-report