TPCH สุดแกร่ง! โชว์กำไร 9 เดือนปี 67 แตะ 254.15 ลบ. บอร์ดใจดีแจกปันผลระหว่างกาล 0.128 บ./หุ้น

288
กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี

TPCH เปิดผลงานงวด 9 เดือนปี 67 กำไรสุทธิ 254.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากการรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 8 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตรวม 90.2 เมกะวัตต์ บอร์ดใจดีแจกปันผลระหว่างกาล 0.128 บาท/หุ้น เตรียมรับทรัพย์ 4 ธ.ค.67 ฟากบิ๊กบอส “กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี” ระบุ ความสามารถในการทำกำไรยังอยู่ในระดับที่ดี ลุยพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนทั้งใน-ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ผลักดันกำลังการผลิตรวมแตะ 500เมกะวัตต์ ในปี 69

กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 254.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.55 ล้านบาท หรือ 49.86% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 169.60 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,849.54 ล้านบาท 

ขณะที่ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567)  มีกำไรสุทธิ 67.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.95 ล้านบาท หรือ มากกว่า 100% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 30.32 ล้านบาทและมีรายได้รวม 622.49 ล้านบาท

ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้กำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลและประเภทเชื้อเพลิงขยะ จำนวน 8 แห่ง กำลังการผลิตรวม 90.2 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 80.7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นนทบุรี (SPNT)  กำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์

“ภาพรวมผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปีนี้ บริษัทฯ สามารถทำกำไรออกมาได้ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ รวม 8 แห่งได้ตามปกติ รวมทั้ง มีการบริหารต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น” กนกทิพย์กล่าว

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.128 บาท/หุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 พร้อมจ่ายปันผลในวันที่ 4 ธันวาคม 2567

เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล

เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในประเทศ บริษัทฯ มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9เมกะวัตต์ ล่าสุด ได้ร่วมลงนามสัญญาติดตั้งเครื่องจักรของโครงการเรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรได้ภายในไตรมาส 1/2568 ขณะเดียวกัน บริษัทฯ กำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพิ่มประมาณ 4 โครงการ ประกอบด้วย SP4-SP7 เป็นโครงการพลังงานขยะชุมชนในรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer)

สำหรับการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ โดยพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว ซึ่งเข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% มูลค่า 12.5ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว นั้น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลา 25 ปี นับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)

ปัจจุบันได้มีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้าง และได้เริ่มงานด้านโครงสร้างและรั้วกั้นโซนติดตั้งสถานีไฟฟ้า (Substation) รวมถึงได้เซ็นสัญญางานวิศวกรรม งานจัดซื้อ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction (EPC Contract) กับผู้รับเหมาจากประเทศจีน คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการได้ในช่วงไตรมาส 1/2568 และยังมีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ

ในส่วนของการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลม ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ TPCH ยังคงเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ในปี 2569 แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ รวมถึงโครงการในต่างประเทศ เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 350 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 110 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 80.7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 29.3 เมกะวัตต์