ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ส่งผลให้การศึกษาในสาขา STEM ซึ่งประกอบด้วยสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและครอบคลุม การเข้าถึงและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันของผู้คนทั่วโลกในสาขาอาชีพสาย STEM จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี 2030 ของสหประชาชาติ แม้กระนั้น เส้นทางการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเป้าหมายข้อ 4 ประเด็นการส่งเสริมให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันและส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป้าหมายข้อ 5 ประเด็นการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน
จากรายงานของธนาคารโลกในปี 2020 แม้ว่าผู้หญิงจะมีอัตราการสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สูงกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าที่จะศึกษาต่อในสาขา STEM โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และฟิสิกส์ ส่งผลให้ทั่วโลกมีสัดส่วนผู้หญิงในสายงาน STEM น้อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งขัดแย้งกับความคาดหวังที่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความเท่าเทียมทางเพศมากกว่า
ข้อมูลจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ระบุว่า ปัจจุบันมีนักวิจัยทั่วโลกที่เป็นผู้หญิงน้อยกว่า 30% และมีนักศึกษาหญิงเพียง 30% ที่เลือกศึกษาต่อในสาขา STEM สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางประเทศ เช่น เมียนมาร์ อาเซอร์ไบจาน ไทย และจอร์เจีย ซึ่งมีจำนวนนักวิจัยหญิงในสัดส่วนที่สูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความพยายามในการลดช่องว่างทางเพศในสายงาน STEM นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง
สำหรับประเทศไทย สัดส่วนผู้หญิงในสายงาน STEM นับว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า บุคลากรในสายงาน STEM ประกอบด้วยผู้หญิงในสัดส่วนเฉลี่ยถึง 45% ของ โดยแบ่งเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 52% นักวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 48% นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร 47% และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข 51% ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในสายงาน STEM อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังคงต้องร่วมมือกันเพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศ และสนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าที่จะก้าวเข้าสู่สายอาชีพด้าน STEM มากขึ้น
ด้วยพันธกิจส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ บริติช เคานซิล มุ่งยกระดับบทบาทของผู้หญิงในสายงาน STEM ผ่านหลากหลายโครงการทั่วโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสให้กับผู้หญิงสู่การเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
แดนนี่ ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “การส่งเสริมความเท่าเทียมและการสนับสนุนการศึกษาแก่ผู้หญิงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะความหลากหลายในที่ทำงานจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากมุมมอง และไอเดียที่หลากหลาย ซึ่งล้วนนำไปสู่ความก้าวหน้าทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และในด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ค่านิยมของความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการรวมกลุ่ม เป็นหัวใจสำคัญที่สหราชอาณาจักร และบริติชเคานซิล ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเราภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในประเทศไทยเพื่อจัดการกับความท้าทายที่สำคัญเหล่านี้”
หนึ่งในโครงการสำคัญที่ บริติช เคานซิล ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ โครงการทุนการศึกษา Women in STEM ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยมอบทุนให้กับนักศึกษาหญิงจากประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการเพิ่มพูนโอกาสทางการศึกษาและการวิจัยในสาขา STEM ให้กับผู้หญิง
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับดูแลฝ่ายความร่วมมือต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในพันธมิตรหลักของบริติช เคานซิล ในการจัดโครงการทุนการศึกษา Women in STEM ในปีนี้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงในสายอาชีพ STEM ทั่วโลกยังมีค่อนข้างน้อย จากข้อมูลของรายงาน Cracking the code: girls’ education in STEM โดยยูเนสโก้ในปี 2017 เผยว่า มีผู้หญิงเพียง 17 คนทั่วโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ เคมี หรือการแพทย์ ในขณะที่ผู้ชายมีถึง 572 คน และในบรรดานักวิจัย มีเพียง 30% ที่เป็นผู้หญิง ฉะนั้นการสนับสนุนผู้หญิงให้มีการศึกษาในสาย STEM มากขึ้นจึงเป็นการเสริมสร้างความหลากหลาย และย่อมมีผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอนาคต”
สำหรับในปี 2567 นี้ มีนักศึกษาไทยได้รับทุนการศึกษา Women in STEM เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักรจำนวน 3 ทุน จากสองโครงการ คือ โครงการทุน ASEAN-UK SAGE (Supporting the Advancement of Girls’ Education) และทุน British Council Women in STEM โดยทั้งสองโครงการมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในการเข้าถึงการศึกษาในสาขา STEM
โครงการ ASEAN-UK SAGE เป็นโครงการด้านการศึกษาหลักของสหราชอาณาจักรในอาเซียน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นพื้นฐานด้านการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณ สนับสนุนเยาวชนหญิงและกลุ่มชายขอบให้เข้าถึงการศึกษา และก้าวข้ามอุปสรรคในการพัฒนาทักษะดิจิทัลและโอกาสในการทำงาน เพื่อเสริมศักยภาพให้กับเยาวชนหญิงได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เปิดรับสมัครนักศึกษาหญิงจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงติมอร์-เลสเต
ขณะที่ทุน British Council Women in STEM เป็นการมอบทุนการศึกษามากกว่า 100 ทุนทั่วโลก เพื่อการศึกษาปริญญาโทหรือ Early Academic Fellowship จากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร และต่อยอดโอกาสพัฒนาอาชีพในสาขา STEM ต่อไป เปิดรับสมัครนักศึกษาหญิงจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ยุโรป และอเมริกา
ปุณณภา ยศวริศ ซึ่งได้รับทุน ASEAN-UK SAGE เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหลักสูตร MSc Climate Change, Management and Finance มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า “ทุนการศึกษานี้เปรียบเสมือนประตูสู่โอกาสสำคัญในชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอาชีพในสายงาน STEM สำหรับดิฉัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องการนวัตกรรมที่ผสานองค์ความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และธุรกิจเข้าด้วยกัน จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทสาขา Climate Change, Management and Finance ด้วยเหตุผลหลัก ๆ 3 ประการ นั่นคือ เป็นหลักสูตรแบบสหวิทยาการ ผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศและรากฐานทางธุรกิจ ช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำไปใช้ได้จริงในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือกับ Grantham Institute ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และสามารถต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน สอดคล้องกับความสนใจและเป้าหมายในการทำงาน รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย”
สำหรับผู้ที่ได้รับทุน British Council Women in STEM ในปีนี้ คือ ธันย์ชนก นวลพลกรัง ซึ่งจะไปศึกษาต่อในสาขา MSc Biotechnology (Healthcare Biotechnologies) มหาวิทยาลัยบาธ และ ทิพย์วิมล จุลหาญกิจ ศึกษาต่อในสาขา MSc Biotechnology (Healthcare Biotechnologies) มหาวิทยาลัยบาธ