บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPJ ผู้นำโลจิสติกส์แบบครบวงจรและเป็นผู้นำด้านลานตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีฟลีตรถบรรทุกหัวลาก 237 คัน และหางพ่วง 268 คัน ด้วยทำเลยุทธศาสตร์ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง เตรียมเดินหน้าระดมทุนเสนอขาย 53 ล้านหุ้น เข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)
จีระศักดิ์ มานะตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)หรือ MPJ เปิดเผยว่า “MPJ เป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร ที่มีประสบการณ์กว่า 16 ปี ให้บริการขนส่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ครอบคลุมการให้บริการขนส่งทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เรามีจุดแข็งหลายประการคือ 1. เป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่ให้บริการครบวงจรในตลาดหลักทรัพย์ มีธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์และมีฟลีทรถบรรทุกขนาดใหญ่กว่า 237 คัน 2. บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรด้วยตนเอง จึงควบคุมคุณภาพและบริหารต้นทุนได้ 3. มีลูกค้าหลักเป็นสายเรือชั้นนำต่างๆ และมีการร่วมทุนกับลูกค้าหลักคือกลุ่มของ OOCL ซึ่งได้แก่ สายเรือ OOCL และ COSCO ซึ่งเป็นสายเรือขนาดใหญ่ 4. ทำเลยุทธศาสตร์ ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง และอยู่ในเขต EEC และ 5. ทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจกว่า 20 ปี”
MPJ และ 2 บริษัทย่อย คือ บริษัท เอ็ม พี เจ ดีสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ (MPJDC) และ บริษัท เอ็ม พี เจ แวร์เฮ้าส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (MPJWD) ซึ่งให้บริการโลจิสติกส์ 4 ประเภท คือ 1. บริการขนส่งทางบก ต่อเนื่องกับทางเรือ ด้วยรถบรรทุกหัวลาก 237 คัน และหางพ่วง 268 คัน ซึ่งเป็นฟลีทขนาดใหญ่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง 2. บริหารลานตู้คอนเทนเนอร์และให้บริการซ่อมแซมตู้คอนเทนเนอร์ของผู้ให้บริการสายเรือ โดยมีลานตู้คอนเทนเนอร์ 2 แห่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง 3. บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) จัดหาระวางเรือและเครื่องบิน 4. บริการให้เช่าคลังสินค้า ขนาด 4,900 ตารางเมตร ในย่านแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และขนาด 12,463 ตารางเมตร ในพื้นที่จังหวัดระยอง พร้อมส่งมอบในไตรมาส 2 ปี 2567
โดยในปี 2562 บริษัทฯ ได้เข้าร่วมทุนกับ OOCL Logistics (Hong Kong) Limited ผู้ให้บริการสายเรือระดับโลก OOCL และ COSCO ผ่านบริษัทย่อย MPJDC ในการจัดตั้งบริษัท โอเอ็ม ดีโพ จำกัด (OM) ซึ่ง MPJDC ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 เพื่อการบริหารการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ของกลุ่ม OOCL และ COSCO เป็นหลัก มีลานตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 2 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวได้ว่าบริษัทฯ เป็นผู้นำด้านลานตู้อันดับต้นๆ ของประเทศไทย
“ธุรกิจของบริษัทฯ มุ่งเน้นการให้บริการแก่สายเรือระดับโลกเป็นลูกค้าหลัก โดยให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เริ่มต้นจากขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบัง นำมาเก็บที่ลานตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างแหลมฉบังและกรุงเทพฯ (ลาดกระบัง) และมีธุรกิจคลังสินค้า ไว้บริการแก่ลูกค้าสายเรือและลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีบริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร”
“MPJ มีแผนจะเข้าระดมทุนเพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 53 ล้านหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ประมาณไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เพื่อรองรับการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มีแผนจะนำเงินที่ได้ไปดำเนินการซื้อรถหัวลากหางพ่วงทดแทน ปรับปรุงลานตู้ และลงทุนอุปกรณ์ในลานตู้รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และธุรกิจลานตู้ เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับการลงทุนต่างๆ ในอนาคต พัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร (ERP) และชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัทฯ” จีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 3 เดือนแรกปี 2566 และ 2567 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 211.51 ล้านบาท และ 222.59 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวน 11.08 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.24 จากงวด 3 เดือนแรกปี 2566 โดยรายได้หลักมีสัดส่วนจากธุรกิจขนส่งร้อยละ 51.74 จากธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์ร้อยละ 34.35 จากธุรกิจ Freight Forwarder ร้อยละ 13.05 และ ธุรกิจคลังสินค้าร้อยละ 0.86 ส่วนในงบปี 2566 MPJ มีรายได้จากการให้บริการรวม 910.24 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ 80.45 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 101.34 ล้านบาทในปี 2565 และกำไรสุทธิ 76.74 ล้านบาทในปี 2564 ส่วนในปี 2565 และ 2564 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการรวม 1,300.27 ล้านบาท และ 1,014.74 ล้านบาทตามลำดับ โดยในปี 2565 รายได้รวมสูงกว่าปกติเนื่องจากกลุ่มบริษัทได้รับงานโครงการขนาดใหญ่ในการจัดการการขนส่งสินค้าด้วยเรือเทกองในปี 2565 และอัตราค่าระวางเรือในการส่งออกด้วยตู้คอนเทนเนอร์มีการปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณระวางเรือที่จำกัดและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งได้อ่อนตัวลงสู่อัตราปกติในปี 2566 รวมถึงงานโครงการใหญ่ในปี 2565 ได้เสร็จสิ้นไป จึงทำให้รายได้ในปี 2566 น้อยกว่าปี 2565
ด้าน เอกจักร บัวหภัคดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ที่ปรึกษาการเงิน กล่าวว่า “MPJ เป็น บริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจรอย่างแท้จริง และมีจุดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งด้วยฟลีทรถบรรทุกหัวลากมากถึง 237 คัน จึงสามารถให้การบริการและควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การร่วมทุนกับสายเรือระดับโลกOOCL และ COSCO ซึ่งทำธุรกิจร่วมกันมายาวนาน ทำให้บริษัทฯ มีปริมาณธุรกิจที่มั่นคงและต่อเนื่อง พร้อมจะเติบโตกับการขยายตัวของการส่งออกนำเข้า และการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยบริษัทฯ มีแผนการลงทุนในหลายด้าน เช่น ลงทุนซื้อรถบรรทุกหัวลากและอุปกรณ์สำหรับธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์ ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจ ในขณะที่แผนการคืนหนี้สถาบันการเงิน จะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง เพิ่มความสามารถในการทำกำไร และมีสถานะการเงินที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น”