280 บจ.คว้าคะแนนเต็ม 100 AGM Checklist ปี 67

490

TIA เปิดผลประเมิน AGM Checklist ปี 2567 พบ 280 บจ.คว้าคะแนนเต็มร้อย! ดีขึ้น 21% เทียบปีก่อน ขณะที่มี 4 บริษัท ทำคะแนนเต็มร้อย ติดต่อกัน17 ปี ขณะที่มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม แค่ 1.56 แสนราย จากจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดกว่า 8 ล้านรายใน 808 บริษัท วอนผู้ถือหุ้นให้ความสำคัญเข้าประชุมเพราะเป็นเวทีที่สำคัญ ต่อการสื่อสารปีละครั้ง ระหว่าง ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น ในโลกการลงทุนที่เปลี่ยนไป

นายยิ่งยง นิลเสนา นายก สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) องค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน เพื่อความยั่งยืน ที่อยู่คู่ตลาดทุนไทยมากว่า 35 ปี เปิดเผยว่า “การประเมินการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2567” หรือ AGM Checklist ปี 2567 ของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีจำนวน 808 บริษัท และจัดที่จัดประชุมภายใน 30 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดย เน้นในมิติของการเปิดเผยข้อมูล และการให้ความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น เป็นสำคัญ และในการทำการประเมินปีนี้นั้นมี บจ.จำนวน 280 บริษัทที่ได้รับคะแนนเต็มร้อย เพิ่มขึ้น 21.21 % เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มี บจ.ที่ได้รับคะแนนเต็มร้อย จำนวน 231 บริษัท

“เป็นที่น่าชื่นชมมากที่มี บจ.4 บริษัทที่ได้รับคะแนนเต็มร้อยติดต่อกันเป็นเวลา17 ปี ซึ่งประกอบด้วย OCC,PG,TIPH และ TK” นายยิ่งยงกล่าว

นางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า จากข้อมูลภาคสนามที่มีนัยยะสำคัญ จากประเมินโครงการ “การประเมินการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2567” ซึ่งดำเนินการโดย TIA มี 9 ประเด็นสำคัญดังนี้ คือ

บริษัทจดทะเบียน ที่ทำการประเมิน จำนวน 808 บริษัท มี บริษัทที่สามารถทำคะแนนเต็มร้อย จำนวน 280 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีคะแนนเต็มร้อย 231 บริษัทหรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 มีการจัดประชุม ผ่านระบบ Online ราว ร้อยละ 57, จัดแบบ Physical ร้อยละ 36 และแบบ Hybrid ร้อยละ 7 จำนวนผู้ถือหุ้น รวมกันทุกบริษัทจดทะเบียน ราวกว่า 8 ล้านราย มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม เพียง 156,000 ราย หรือร้อยละ 1.93 (ลดลง จากร้อยละ 4 ก่อนเกิดสถานการณ์ โควิด-19) ค่าเฉลี่ยของเวลาในการประชุม ราว 1.30 ชั่วโมง (นานสุด ราว 4 ชั่วโมง และ เร็วสุด ราว 25 นาที) บริษัทจดทะเบียน ที่ทำคะแนนเต็มร้อย ต่อเนื่อง 17 ปี มี 4 บริษัท ได้แก่ OCC,PG,TIPH และ TK

จุดยืน 4 ข้อ ของ TIA ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ลงทุนรายบุคคล พบสถิติ ว่า มีประเด็นจากผู้สอบบัญชี 28 บริษัท,มีวาระจร 3 บริษัท, มีกรรมการอิสระที่นั่งนานเกิน 9 ปี 227 บริษัท และมีการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) 40 บริษัท มีผู้บริหารระดับสูงไม่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ประธานบริษัท 30 บริษัท,ประธานกรรมการตรวจสอบ 23 บริษัท,CEO 5 บริษัท,CFO 15 บริษัท และ ผู้สอบบัญชี 3 บริษัท

การจัดประชุมผ่านระบบ Online  พบว่า ผู้ถือหุ้นสามารถ เข้าพบเห็น คำถามของผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ในระบบ ได้ จำนวนเพียง 45 บริษัท นอกนั้น จะเห็นเฉพาะคำถามของตัวเอง ที่ส่งเข้าระบบเท่านั้น มีเพียง 22 บริษัทจดทะเบียน ที่ รับคำมั่นว่า ในการจัดประชุมครั้งต่อไป จะเป็นการจัดประชุมแบบ Hybrid จากปี 2567 มีการจัดประชุมแบบ Hybrid จำนวน 54 บริษัท

อย่างไรก็ตาม สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย มีข้อสังเกต ว่า การจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น มีความสำคัญ ต่อการสื่อสารระหว่าง ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น ปีละครั้งและโลกการลงทุนที่เปลี่ยนไป ทุกคนต้องมีการปรับตัว รวมถึงผู้ถือหุ้น ก็ควรต้องเรียนรู้ ชีวิตออนไลน์ ศึกษาข้อมูลในการลงทุน รู้เท่าทันโลกยุคดิจิทัล ขณะที่ในส่วนของผู้บริหาร ควรต้องมีความจริงใจ มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ สำหรับในส่วนของหน่วยงานกำกับ จะต้องมีความเข้มแข็ง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดทุนไทย เดินทางคู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ได้อย่างยั่งยืน