TIA ปิดฉาก สัมมนาสัญจร ให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” ครั้งที่ 3 จังหวัดสงขลา สุดคึกคัก นักลงทุนเข้าร่วมฟังล้น!! ปลื้มจัดสัมมนาความรู้ 3 จังหวัดขอนแก่น-เชียงใหม่ และสงขลา หวังเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลและรับมือ “ภัยในตลาดเงิน และ ภัยในตลาดทุน
สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ร่วมมือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) สัมมนาสัญจรให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” ครั้งสุดท้ายของปี ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายของปีนี้ โดยยังคงได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุน เนื่องจากจังหวัดสงขลาถือว่าเป็นพื้นที่ ที่มีบริษัทหลักทรัพย์(บล)หรือโบรกเกอร์มาเปิดสาขา และมีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากเป็นอันดับ 5 ของตลาดทุน และยังมี กลุ่มผู้นำทางสังคม-ทนายความ กว่า 100 คน เข้าร่วมฟัง
นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า สมาคมเดินหน้าให้ความรู้ และผลักดันให้กฎหมาย ฟ้องคดีแบบกลุ่ม – Class Action เข้ามาเป็นกลไกในการดูแล ช่วยเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย หากเกิดกรณีถูกฉ้อฉล ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการลงทุน โดยการจัดสัญจรครั้งสุดท้ายของปี ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งยังคงได้รับความสนใจอย่าง มากโดยเฉพาะ จาก กลุ่มนักลงทุน กลุ่มโบรกเกอร์ กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย กลุ่มข้าราชการปกครองในภาคส่วนขบวนการยุติธรรม และกลุ่มสื่อมวลชน กว่า 100 คนเข้าร่วมสัมมนา
“สมาคม ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) จัดสัมมนาสัญญจรมาต่อเนื่อง และที่สงขลาถือเป็นครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้ายของปีนี้ และได้รับความสนใจ สามารถส่งผ่านความรู้ในเรื่อง Class Action ผ่านการสัญจรให้เข้าถึงตามหัวเมืองสำคัญได้ดี โดยในการจัดสัญจรทั้ง 3 ครั้งมีผู้ร่วมเข้ารับฟังกว่า 300 คน “ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าว”
ทั้งนี้หากดูตัวเลขสถิติการทำผิดในตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่วนกรณีของ STARK ที่ส่งผลกระทบวงกว้าง กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และในส่วนของสมาคมฯ ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้น STARK และมีผู้เสียหายมาลงทะเบียนกว่า 1,759 ราย ที่จะดำเนินการต่อไปภายใต้ กฎหมาย Class Action ก็มีความคืบหน้ามากขึ้น
ขณะที่ความคืบหน้าในการ จัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม – Class Action” ยังอยู่ในขบวนการจัดตั้ง และอยู่ในการพิจารณาว่า มูลฐานความผิดที่จะเข้าข่ายและใช้ Class Action ได้ จะมีประมาณ 7 มูลฐานประกอบด้วย 1.ผิดสัญญา 2.การเปิดเผยข้อมูล 3.การเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต 4.การทุจริตของกรรมการและผู้บริหาร 5.การสร้างราคา 6.การใช้ข้อมูลภายใน และ 7.การครอบงำกิจการ
คุณมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประธานในการเปิดงานสัมมนาสัญจร กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและ ธปท จัดสัญจรให้ความรู้ประชาชนเรื่องภัยการเงิน และการลงทุน จังหวัด สงขลา เป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจของภาคใต้ ซึ่งภัยทางการเงิน และการลุงทน อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลากับทุกคน ดังนั้นการให้ความรู้ การมีมาตรการ และเครื่องมือเข้ามาช่วยก็จะสามารถดูแลประชาชนได้ และ Class Action ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้รวมกลุ่มกันสู้กรณีถูกเอาเปรียบ ซึ่งสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีโบรกเกอร์จำนวนมาก การจัดงานจึงจะเป็นประโยชน์ที่ดีต่อพี่น้องประชาชน “การลงทุนเปรียบเหมือนเหรียญสองด้าน ต้องรู้เท่าทัน รอบรู้ในหุ้นที่จะเข้าลงทุน ไม่มุ่งเก็งกำไรอย่างเดียว เพราะการลงทุนเป็นเรื่องที่อาจจะทำให้ชีวิตมั่นคง ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยง“
ดร.โสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาค ใต้ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดสัมมนาสัญจรเพื่อให้ความรู้เรื่อง ภัยในตลาดเงินและภัยในตลาดทุน เป็นความร่วมมือของ ธปท ทั้ง 3 สำนักงาน คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ร่วมมือกับ TIA เดินสายให้ความรู้กับประชาชน พร้อมรับมือกับภัยทั้งในตลาดเงิน และตลาดทุนที่จะเกิดขึ้นได้ และ ธปท มีบทบาทดูแลความมั่นคงระบบการเงิน ให้ความคุ้มครองผู้ใช้ทุกท่าน ดังนั้นความร่วมมือในการให้ความรู้กับประชาชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ทั้งนี้ สถิติการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1213 พี่น้องประชาชน สามารถ ขอคำปรึกษาและร้องเรียนเกี่ยวกับบริการทางการเงิน ทั้งแก้ไขปัญหาหนี้ และ ภัยหลอกลวงทางการเงินต่างๆ โดยในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2566 มีประชาชนโทรเข้ามาทั้งสิ้น 29,574 สาย ซึ่งเป็นการแจ้งเบาะแส และร้องเรียนเกี่ยวกับภัยการเงิน 3,780 สาย เรื่องหลักๆ ที่ร้องเข้ามาคือ (1) การหลอกให้สินเชื่อ (2) การหลอกให้ลงทุน (3) การหลอกให้โอนเงิน (4) คอลเซ็นเตอร์ และ 5) ถูกบุคคลอื่นสวมรอยทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ สถิติคดีออนไลน์ ก่อน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (1 ม.ค. – 16 มี.ค. 66) เฉลี่ย 790 เรื่องต่อวัน ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค. – 31 ก.ค.66) เฉลี่ย 591 เรื่องต่อวัน ขณะที่สถิติการอายัดบัญชี ก่อนมี พ.ร.ก. (1 ม.ค. – 16 มี.ค. 66) มีการขออายัด 1,346 ล้านบาท อายัดทัน 87 ล้านบาท คิดเป็น 6.5% ซึ่งหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค. – 31 ก.ค.66) มีการขออายัด 2,792 ล้านบาท อายัดทัน 297 ล้านบาท คิดเป็นอายัดได้ทัน 10.6%
รศ.ดร.ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัย เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ประเภทคดีที่อาจดำเนินคดีแบบกลุ่ม Class Action เช่น คดีหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดีคุ้มครองผู้บริโภค คดีแรงงาน คดีป้องกันการผูกขาด คดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คดีคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและคดีที่เกี่ยวกับบริการทางการเงินเป็นต้น
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการฟ้องแบบ Class Action จะเป็นการดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจทย์และสมาชิกกลุ่ม และเมื่อศาลมีคำพิพากษาคนในกลุ่มก็จะได้รับสิทธิในกลุ่มเมื่อมีการรวมตัวกันฟ้อง และจะต้องมีสภาพของข้อหาที่ชัดเจน มีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันและต้องอยู่ในคดีเดียวกัน
รศ.ดร.ปานทิพย์ กล่าวว่า Class Action มีผลบังคับใช้มานานแล้ว แต่ที่ยังไม่มีผลเชิงปฏิบัติ เพราะทนายความยังไม่ค่อยให้ความสนใจ ยังไม่ทราบว่ามีเรื่องของคดีกลุ่ม ซึ่งน่าจะมาจาก Class Action ยังเป็นเรื่องใหม่ อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของค่าตอบแทนอาจไม่ค่อยคุ้มค่า ถึงแม้ว่ากฎหมายจะมีการกำหนดไว้ว่า 30% แต่ในทางปฏิบัติอาจจะได้ไม่ถึง 30% ทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลว่าให้การพิจารณามูลค่าคดีที่ยื่นฟ้องจำนวนเท่าไร
ทั้งนี้ ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้ดำเนินการเชิงรุกในการเดินสายให้ความรู้สร้างความเข้าใจ เรื่อง Class Action โดยประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาอยู่ในขบวนการของการดำเนินคดี ทั้งร่วมสภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการจัดหลักสูตรให้กับทนายความ และผู้ที่มีความสนใจในสายวิชาชีพนี้โดยร่วมกับ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จัดโครงการอบรมให้ข้าราชการศาล ซึ่งในการกิจกรรมการร่วมทั้งหมดได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในการจัดหลักสูตรให้กับทนายความ ขณะนี้ การอบรมหลักสูตรทนายความ G1 (ขั้นพื้นฐาน) ได้ปิดหลักสูตรไปแล้ว และกำลังจะเปิดการอบรมหลักสูตรทนายความ G2 (ขั้นก้าวหน้า) เป็นลำดับไป