สุขภาพหัวใจที่ดี เป็นเรื่องที่ควรดูแลใส่ใจ

216

‘หัวใจ’ เป็นเรื่องภายในที่ต้องได้รับการใส่ใจดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้หัวใจสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจึงต้องหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจอยู่เป็นประจำ 

ถึงแม้โรคหัวใจจะครองสถิติการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยและของโลก แต่ถ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โรคหัวใจก็สามารถป้องกันและรักษาได้ บทความโดย พญ.ณหทัย ฉัตรสิงห์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช นำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง ‘หัวใจ’ มาอธิบายให้เข้าใจง่าย โดยเน้นไปที่ความสำคัญของการตรวจสุขภาพหัวใจ รูปแบบการตรวจ รวมไปถึงแนวทางในการป้องกันและดูแลเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

พญ.ณหทัย ฉัตรสิงห์

การตรวจสุขภาพหัวใจมีความสำคัญอย่างไร

หัวใจเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งหัวใจเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไปการทำงานของหัวใจก็จะเริ่มเสื่อมลง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจนับเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมาโดยตลอด ดังนั้น การตรวจสุขภาพหัวใจจึงมีความจำเป็น เพื่อค้นพบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและรักษาก่อนที่จะมีอาการรุนแรง

การตรวจสุขภาพหัวใจมีกี่ประเภท

1. การตรวจสุขภาพหัวใจ เครื่องมือแรก คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG, ECG) เป็นการตรวจคัดกรองที่ง่าย ไม่มีความเจ็บปวด สะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 5 นาที โดยใช้วิธีการติดแผ่น Electrode ที่หน้าอก เพื่อจับสัญญาณไฟฟ้าที่ออกจากหัวใจ ผลของการตรวจจะบันทึกออกมาในรูปแบบของกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจชนิดนี้สามารถบอกภาวะหัวใจที่เต้นผิดจังหวะบางชนิด บอกลักษณะเส้นเลือดหัวใจที่ตีบ หรือลักษณะโครงสร้างหัวใจที่ผิดปกติได้

2. การเดินสายพาน หรือเรียกย่อ ๆ ว่า EST (Exercise Stress Test)  เป็นวิธีการตรวจที่ให้ผู้ตรวจออกกำลังกาย พร้อมทั้งติดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยจะสามารถประเมินสมรรถภาพของหัวใจ ความแข็งแรงของร่างกาย คัดกรองเส้นเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะระหว่างการออกกำลังกาย หรือดูความดันโลหิตสูงระหว่างการออกกำลังกายที่อาจจะเป็นข้อห้ามของการออกกำลังกายได้

3. การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรืออัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง เพื่อดูการทำงานของหัวใจ จะเห็นลักษณะหัวใจ ขนาดหัวใจ การบีบตัว การคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจ โดยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจใช้เวลาสั้น ๆ ประมาณ 15-30 นาที ไม่มีอันตราย และไม่มีความเจ็บปวด

4. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อหาแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Scan ; CAC) เพื่อดูแคลเซียมในผนังของเส้นเลือดหัวใจ เป็นการตรวจวิธีใหม่ ซึ่งการตรวจทำได้ง่ายใช้เวลาประมาณ 15 นาที ไม่ต้องอดอาหาร ไม่ต้องเจาะเลือด ไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี หลักการคือ ถ้าเส้นเลือดหัวใจเริ่มมีความเสื่อมจะเกิดการอักเสบและเกิดลักษณะคล้ายแผลเป็นที่เรียกว่า ‘แคลเซียม’ ดังนั้น ถ้ายังไม่พบแคลเซียมในเส้นเลือดหัวใจโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยกว่า 1% ใน 10 ปี ซึ่งถือว่าต่ำมาก ดังนั้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะใช้ตรวจในคนที่มีความเสี่ยงกับการเกิดโรคหัวใจที่ต้องการดูว่าจำเป็นที่ต้องรักษา หรือป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจ

ควรป้องกัน และดูแลรักษาไม่ให้เกิดโรคหัวใจอย่างไร

‘โรคหัวใจ’ เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยการป้องกันการเกิดโรคหัวใจต้องเริ่มจากการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดการสูบบุหรี่ และพยายามควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต และไขมันในเลือดสูง ซึ่งโรคหัวใจรักษาได้ ถ้ามาตรวจคัดกรองสุขภาพหัวใจก่อนที่จะมีอาการรุนแรง และสามารถช่วยดูแลหัวใจให้แข็งแรงไปนาน ๆ 

โรงพยาบาลนวเวช มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดีมีคุณภาพ และเข้าถึงง่าย Accessible Quality Healthcare พร้อมดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์เฉพาะทาง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก โทร. 02 483 9999 I www.navavej.com