“เอสซีจี เคมิคอลส์”จัดทัพพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เคียงคู่การสร้างความยั่งยืน

379

หลังจากนำเอสซีจีแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2563  มาถึงปีนี้ กลุ่มเอสซีจี ก็เตรียมนำเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ตามเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทต่อมา 

เอสซีจี เคมิคอลล์ ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อราว 40 ปีก่อน ในยุคบุกเบิกปิโตรเคมีในเมืองไทย ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ผลิตโอเลฟินส์, พอลิโอเลฟินส์ และเม็ดพีวีซี ที่ใช้ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน บรรจุภัณฑ์สำหรับอุปโภคบริโภค ยานยนต์ เครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ  รวมไปถึงด้านพลังงาน  มีตลาดสำคัญทั้งในประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน  

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า SCGC ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์มา 40 ปี ตั้งแต่ยุคบุกเบิกธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทย และได้ขยายการลงทุนในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค ที่มุ่งสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน” ภายใต้หลักดำเนินการสำคัญ 3 ประการ คือ (1) มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้าและผู้บริโภคด้วยสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ (2) มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ (3) ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  

ปัจจุบัน SCGC จัดจำหน่ายสินค้าในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่โมโนเมอร์ต้นน้ำและพอลิเมอร์ปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องของปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปัจจุบัน มีกำลังการผลิตรวม 6.9 ล้านตันต่อปี คิดเป็นส่วนแบ่งกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน (ณ เดือนธันวาคม 2564) ร้อยละ 19 หรือเกือบ 1 ใน 

หนึ่งในจุดแข็งสำคัญของ SCGC คือ การมีฐานผลิตใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่  ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 440 ล้านคน หรือราว 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน มีสัดส่วนรายได้จากอาเซียน คิดเป็นประมาณ 21% โดยประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตหลัก ส่วนในอินโดนีเซียเป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้น 30% ใน Chandra Asri PetrochemicalTbk (CAP)  และในเวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมี (Long Son Petrochemical Complex) คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566  จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี ซึ่งบริษัทฯ ถือเป็นรายแรกที่เข้าไปลงทุน (first mover) และมีที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ 

ธนวงษ์ กล่าวต่อว่า  ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี โดยคาดการณ์เวียดนามและอินโดนีเซียจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 5–6% ต่อปี ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP ทั่วโลกเกือบเท่าตัว  นอกจากนี้ อัตราการใช้พอลิเมอร์ในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน (ณ 31 ธันวาคม 2564) อยู่ที่ 26 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 2-3 เท่า ตลาดอาเซียนจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามยังต้องนำเข้าพอลิเมอร์ประมาณ 75% และอินโดนีเซียประมาณ 50% เนื่องจากมีกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นโอกาสของ SCGC ที่จะใช้ความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้รวดเร็วกว่า

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และธุรกิจของ SCGC ว่า มีศักยภาพและโอกาสการเติบโตทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์จะถูกขับเคลื่อน และได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ที่สำคัญ ๆ ของโลกและภูมิภาคอาเซียน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เนื่องจากการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการความต้องการใช้เคมีภัณฑ์ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของ SCGC ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม(High Value Added Products & Services – HVA)รวมไปถึงการพัฒนา Green Innovationเช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon  โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีสัดส่วนสินค้า HVA คิดเป็นประมาณ 36% ของรายได้รวมของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังจะขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 

Green Polymer

Green Polymer ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Reduce, Recyclable, Recycle และ Renewable เช่น การพัฒนา SMX Technology ทำให้เม็ดพลาสติกแข็งแรงทนทานขึ้น 20% สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต การพัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin : PCR) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระบบการตรวจสอบย้อนกลับสากล โดยร่วมกับเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำหลายราย 

“นวัตกรรมเคมีภัณฑ์อยู่รอบตัวและเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของทุกคน โดยบริษัทฯ ส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงให้กับลูกค้า เพื่อนำไปผลิตสินค้าให้กับผู้บริโภคปลายทาง ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย ทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น กล่องใส่อาหาร กล่องนม ฝาขวดน้ำดื่มและน้ำอัดลม หน้ากากอนามัย ฯลฯ และการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ พลาสติกสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติกทางการแพทย์  พลาสติกเพื่องานโครงสร้าง เช่น ท่อทนแรงดันสูง PE 112 สำหรับส่งก๊าซหรือน้ำประปา และกรอบประตู หน้าต่าง เป็นต้น” ธนวงศ์กล่าว  

 ด้าน ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ และรองผู้จัดการใหญ่ธุรกิจต่างประเทศ และสายธุรกิจไวนิล บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ คือผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเคมีภัณฑ์ที่อยู่ในสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะสนับสนุนให้เกิดการใช้พลาสติกมากขึ้น ปัจจุบันการใช้เม็ดพลาสติกในอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น น้อยกว่าถึง 3 เท่า โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีค่าเฉลี่ยมากกว่า 5% ทำให้การใช้เม็ดพลาสติกในภูมิภาคนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่กำลังการผลิตเม็ดพลาสติกยังน้อย ก็เป็นโอกาสของบริษัทฯ ซึ่งมีโรงงานกระจายอยู่ใน 3 ประเทศ ทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า มีความเข้าใจความต้องการคนในพื้นที่มากกว่า ตอบโจทย์ความต้องการได้เร็วกว่า โดยโรงงานในเวียดนามหลังจากเปิดโรงงานแรกในต้นปีหน้า ก็จะเริ่มลงทุนต่อในโรงงานที่ 2 ทันที 

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 SCGC มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ27,068 ล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจเคมีภัณฑ์จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม โดย SCGC เชื่อมั่นว่า ความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงการมุ่งพัฒนาสินค้า HVA เพื่อตอบสนองเมกะเทรนด์ การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG รวมทั้งการขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม PVC ฯลฯ จะทำให้บริษัทฯ ก้าวข้ามความท้าทายและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ขณะที่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะทำให้บริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแผนงานขยายธุรกิจที่วางไว้ นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนและเตรียมแผนการขยายเพิ่มเติมทั้งในเวียดนาม และอินโดนีเซีย 

โดย กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึง การนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ก.ล.ต. โดยการระดมทุนส่วนหนึ่งจะนำไปปรับโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแรงขึ้น ชำระหนี้บางส่วน ขณะที่ทุนอีกส่วนจะนำไปใช้ในการลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ และสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต  และการลงทุนนำดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงาน