นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) พร้อมด้วย 8 หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดเวทีเจรจาการค้าออนไลน์ในโครงการ “Bangkok International Digital Content Festival 2022” หรือ “BIDC 2022” เมื่อวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ระหว่างผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยจำนวน 53 บริษัท กับผู้ประกอบการชั้นนำของโลกจำนวน 46 ราย จาก 12 ประเทศ สร้างรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย กวาดรายได้รวม 690.65 ล้านบาท จากจำนวน 266 คู่เจรจาการค้าออนไลน์
นับเป็นครั้งที่ 9 แล้ว ที่มีการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยและต่างประเทศในงาน BIDC โดยในปีนี้จัดขึ้นตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตามแนวคิด Creative Economy และส่งเสริมให้ไทยเป็น Hub ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ โดยมีแผนงานรูปธรรมในการนำ Soft Power เข้ามาส่งเสริมการส่งออกด้านดิจิทัลคอนเทนต์ให้ไทยผงาดได้ในตลาดโลก
โดยในงาน BIDC ได้จัดการเจรจาการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ 4 ประเภท ได้แก่ เกม แอนิเมชั่น คาแรคเตอร์ และอีเลิร์นนิ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการต่างชาติรวม 46 ราย จาก 12 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ แคนาดา เวียดนาม บราซิล ฝรั่งเศส ไต้หวัน อินเดีย และอินโดนีเซีย เข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยจำนวน 53 บริษัท จนสามารถโกยรายได้รวมกว่า 690.65 ล้านบาท ประกอบด้วย แอนิเมชั่น 412.9 ล้านบาท, คาแรคเตอร์ 150.25 ล้านบาท, เกม 103.9 ล้านบาท และอีเลิร์นนิ่ง 23.6 ล้านบาท โดยประเภทของบริการที่ได้รับความสนใจสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ Animation Outsourcing Service, Game Outsourcing Service, Game Development และ Animation Co-production
ตัวอย่างผลการเจรจาธุรกิจออนไลน์ที่โดดเด่นในงาน BIDC 2022 ได้แก่ Quantum Peaks โดยศูนย์นวัตกรรมการออกแบบดิจิทัลและเทคโนโลยี (DIDTC) นำเสนอเกมประเภท Platformer ให้แก่ Sega บริษัทเกมชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้รับความสนใจในการนำไปขายในตลาดโลก, ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง หนุมานนักรบมนตรา โดยบริษัท Riff Studio (ASAP Corporation) ได้รับความสนใจจากบริษัทต่างชาติ อาทิ Brown Bag Film และ Shanghai Brandwork Cultural Communication เป็นต้น และ บริการ 3D Scan Photogrammetry (นวัตกรรมสแกนภาพ 3 มิติ) โดยบริษัท Pro Toys เพื่อสร้างโมเดลคน ได้รับความสนใจจาก Dangen Entertainment และ Xanthus Animation Studio
อีกหนึ่งไฮไลท์ของ BIDC 2022 คือ กิจกรรมสัมมนาออนไลน์ หรือ BIDC Webinar ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-22 พฤษภาคม 2565 ผ่านระบบ Zoom และไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กโครงการ (www.facebook.com/bidc.fest) โดยเชิญวิทยากรที่มีผลงานระดับโลกทั้งชาวไทยและต่างชาติมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ จำนวน 19 หัวข้อ เจาะลึกเทรนด์สำคัญ อาทิ Metaverse, Blockchain, Gamefi, Avatar และ NFT มียอดผู้รับชมการสัมมนาสดและย้อนหลังรวมกว่า 16,000 คน โดยหัวข้อที่มีผู้สนใจเข้าฟังมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Behind the Scene, the Secret of Creating Morning Moon Village โดย เนนิน อนันต์บัญชาชัย / Get Ready for the Metaverse : How to Create 3D Avatar… Easy and Free for All โดย ดร.ปริพัส ศรีสมบูรณ์ / The Next Chapter Of Thai Animation Industry โดย อิศรา เปี่ยมพงศ์สานต์-นพ ธรรมวานิช-กฤษณ์ ณ ลําเลียง-วีรภัทร ชินะนาวิน
ทั้งนี้ การจัดงาน BIDC 2022 ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์กับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยมี 5 สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์เกมไทย (TGA), สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA), สมาคมดิจิทัลคอนเทนท์ไทย (DCAT), สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) และสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ให้ก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ตลอดจนเสริมศักยภาพในการพัฒนาให้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยทัดเทียมและยืนหนึ่งได้บนเวทีโลกอย่างยั่งยืน