• เผยปมปัญหา บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) ฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ ดํารงเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน นายทะเบียนจึงสั่งให้บริษัทเร่งแก้ไขฐานะการเงินภายในกำหนด ห้ามรับลูกค้ารายใหม่ ห้ามโยกย้ายทรัพย์สิน ยกเว้นเอามาจ่ายเคลม พร้อมย้ำต้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2564 ต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 นายทะเบียนจึงสั่งให้บริษัทฯ แก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และบริษัทฯ ได้เสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5 โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนตามมาตรา 27/5 ออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ซึ่งนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ มีความคืบหน้าในการแก้ไขโครงการโดยมีการเพิ่มทุน จำนวน 140 ล้านบาท มีความพยายามในการแก้ไขฐานะการเงิน ไม่มีการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ดังนั้น จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ ตามที่บริษัทฯ ร้องขอ
ต่อมาในช่วงเดือนมกราคม 2565 บริษัทฯ ไม่สามารถเพิ่มทุนให้เป็นไปตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนได้ เนื่องจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดจึงทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถนำมตินั้นไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดได้ บริษัทฯ จึงมีหนังสือขอให้นายทะเบียนใช้อำนาจสั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุน จำนวน 160 ล้านบาท นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) จึงใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุน และต้องดำเนินการเพิ่มทุนชำระแล้วให้ครบจำนวน 160 ล้านบาท ภายในเดือนเมษายน 2565 ตามที่บริษัทฯ ร้องขอ โดยให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่นายทะเบียนสั่งให้บริษัทฯ เพิ่มทุนบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการเพิ่มทุนชำระแล้วให้ครบจำนวน 160 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จ ทั้งปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินและการดำเนินการ ดังนี้
1.มีฐานะการเงินไม่มั่นคง โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และปรากฏว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นต่องบการเงินดังกล่าว และเห็นว่า บริษัทฯ มีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทฯ ในการดำเนินงานต่อเนื่องจึงทำให้นายทะเบียนไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทฯ มีความสามารถในการชำระหนี้ตามภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 กรรมการผู้มีอำนาจผูกพันของบริษัทฯ แจ้งว่า ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ไม่ประสงค์จะเพิ่มทุนเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่มีแหล่งเงินทุนอื่นนอกเหนือจากการรอผลการเจรจาจากผู้สนใจในการร่วมลงทุนกับบริษัทฯ ตามที่บริษัทฯ แจ้งต่อนายทะเบียน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า
2. มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 36 และมาตรา 37 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559รวมทั้ง ยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของบริษัทฯ ตลอดจนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ในระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทฯ
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว นายทะเบียนจึงเห็นว่า บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน อันเป็นไปตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงินและธุรกรรมการดำเนินงานที่ถูกต้องโปร่งใส รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชนในอนาคต ประกอบกับเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์สาธารณะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบกับมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) จึงมีคำสั่งให้บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1.หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
2.แก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง
3.ให้บริษัทฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบรายการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและเร่งดำเนินการบันทึกลงสมุดทะเบียนโดยเร็วและให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
4.ให้บริษัทฯ จัดทำรายงานเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้รายละเอียดกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังคงมีผลบังคับใช้เป็นรายกรมธรรม์ประกันภัย เช่น หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัย ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินที่ต้องชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัย และสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท (UPR) เป็นรายกรมธรรม์
5.ให้บันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย
6.ให้เร่งรัดพิจารณาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
7.ให้จัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการและนำส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้ดำเนินการตามข้อ 2 ทุกเจ็ดวัน และดำเนินการตามข้อ 3, 4 และ 5 ทุกวันทำการ
ทั้งนี้ ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทฯ สั่งจ่ายเงินของบริษัทฯ หรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทฯ เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ ตามปกติ สำหรับการจ่ายเงินอื่นให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด รวมถึงให้บริษัทฯ รายงานเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบถึงบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งหมดของบริษัทฯ ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
นอกจากนี้บอร์ด คปภ. ยังมีมติในกรณีที่บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงานตามคำสั่งนายทะเบียนได้อย่างครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ มีการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มเติม หรือนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่าหากรอให้ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดข้างต้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน จึงให้สำนักงาน คปภ. ดำเนินการตามมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ต่อไป
“การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวจะช่วยให้สำนักงาน คปภ. สามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนได้เต็มที่และตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินของบริษัทฯ ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ของบริษัทฯ ได้ทั้งหมด และจัดการปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตลอดจนสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ ตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบและให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท/ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยขายกรมธรรม์รายใหม่ในระหว่างการหยุดรับประกันภัย พร้อมทั้ง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทฯ อย่างเต็มพิกัด เพื่อควบคุมให้บริษัทฯ ดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน หากพบว่าบริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ก็จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายในระดับที่เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย