สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ ปลื้ม ยอดส่งออกแซลมอนสดและฟยอร์ดเทราท์สดจากนอร์เวย์มายังประเทศไทย โต 23%

249

องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ไว้ว่าภายในปี พ.2593 โลกจะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นกว่า 70% เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการด้านอาหารของผู้คนบนโลก การมองหาทางเลือกด้านนวัตกรรมการผลิตอาหารที่ยั่งยืนจึงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ รายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี พ.2562 พบว่าพื้นที่มหาสมุทรของโลกสามารถให้ผลผลิตได้มากกว่าในปัจจุบันถึง 6 เท่า หากมีการจัดการด้วยความรับผิดชอบ[1] ในฐานะประเทศแห่งอาหารทะเล นอร์เวย์ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลที่มีความยั่งยืนมากที่สุดในโลก ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจที่ผสมผสานความพิถีพิถัน เทคโนโลยี องค์ความรู้ ข้อมูลเชิงลึก เข้ากับความใส่ใจในธรรมชาติ

สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้จัดแสดงอาหารทะเลนอร์เวย์คุณภาพสูง ณ บูธอาหารทะเลจากนอร์เวย์ ภายในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX – Anuga Asia 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 28 พฤษภาคม พ.2565 และจัดสัมมนาพิเศษบรรยายเนื้อหาจากรายงานเทรนด์ด้านอาหารทะเลโดยตัวแทนจากสภาฯ เพื่อให้ข้อมูลความรู้และสร้างแรงกระตุ้นแก่คู่ค้าและผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ด้านสุขภาพของการรับประทานอาหารทะเลและนวัตกรรมอาหารทะเลที่น่าจับตามอง

ดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท 

ดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) กล่าวว่า “แนวโน้มอาหารทะเลของโลกในปัจจุบันล้วนเกิดจากแรงผลักดันของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ เช่นเดียวกับในประเทศไทย เราได้เห็นการเข้ามามีบทบาทของการค้ารูปแบบใหม่ ๆ การตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบาย  ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และความโปร่งใสในด้านความยั่งยืนของสินค้า จากรายงานผู้บริโภคที่สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้จัดทำขึ้นในปี พ.2564 ที่ผ่านมา พบว่าตลาดไทยเป็นหนึ่งในสามตลาดหลัก รองจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ ที่ 21% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการซื้อแซลมอนบนช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือ แอปพลิชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ค่อนข้างบ่อย’ หรือบ่อยมาก และกว่า 59% กล่าวว่าร้านที่มีแบรนด์สินค้าปลาและอาหารทะเลที่มีคุณภาพนั้น สำคัญมาก’ ต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า[2] ผู้บริโภคชาวไทยมักจะตามเทรนด์ และเปิดกว้างต่อการสำรวจตัวเลือกใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็พิถีพิถันกับคุณภาพของอาหารที่เลือก โดยตัวเลขยอดการส่งออกแซลมอนสดและฟยอร์ดเทราท์สดจากนอร์เวย์มายังประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน พ.2565 มีปริมาณกว่า8,385 ตัน (เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน) นับเป็นมูลค่าสูงถึง 2.8 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน) ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่สูงมากของตลาดไทย และข้อมูลเชิงลึกจากสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) จะช่วยให้ผู้ส่งออกและคู่ค้าได้มองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าที่ตอบโจทย์แนวโน้มของผู้บริโภคในตลาดได้

แชสตี เริดส์มูน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทย และวิดาร์ อุลริคเซน รัฐมนตรีช่วยว่าการประมงและนโยบายทางทะเล ได้ให้เกียรติมาเป็นแขกรับเชิญพิเศษที่บูธอาหารทะเลจากนอร์เวย์ ในส่วน ดรอัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้ให้สัมภาษณ์แบบไลฟ์สดกับทาง THAIFEX – Anuga Asia 2022 เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกของตลาดไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมี เชฟ จิมมี่ ช๊ก เชฟกิตติมศักดิ์ของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ที่มีชื่อเสียงด้านการสร้างสรรค์สูตรอาหารที่ผสมผสานรสชาติแห่งเอเชียเข้ากับการปรุงรสชาติแบบตะวันตก มาสาธิตวิธีการทำอาหารโดยใช้วัตถุดิบอาหารทะเลคุณภาพสูงจากนอร์เวย์ อาทิเช่น แซลมอน ฟยอร์ดเทราต์ และนอร์วีเจียนซาบะ

เป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลกคือความยั่งยืน ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องหาแนวทางในการผลิตอาหารที่ง่าย สะดวกสบาย และมีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้วย อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ ในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในด้านความยั่งยืน และการจัดการสินค้าตั้งแต่การเพาะพันธุ์ จับปลา ไปจนถึงการแปรรูปและขนส่งก่อนถึงจุดหมายปลายทางของคู่ค้า อุตสาหกรรมอาหารทะเลมีบทบาทสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงเรื่องความยั่งยืน และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการเลือกสรรอาหารบนจานที่ดีต่อสุขภาพ ทั่วโลกกำลังมองหาความสะดวกสบายในด้านอาหาร แต่ในขณะเดียวกันนั้นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและลงทุนเพื่อความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะมอบทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของโลกอีกด้วย

[1] https://oceanpanel.org/sites/default/files/2019-11/19_HLP_BP1%20Paper.pdf

[2]https://seafood.no/markedsinnsikt/apne-rapporter/seafood-trends/