ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั้งภาวะโลกร้อน อากาศที่แปรปรวน นับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากขึ้น และหนึ่งในสาเหตุหลักคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย เนสท์เล่เชื่อในพลังเล็ก ๆ ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้” เพื่อส่งต่อโลกที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อไป
จากกิจกรรมออนไลน์ในแคมเปญ “เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้” (Every Little Act Matters) โดยเนสท์เล่ เพื่อจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยไอเดียรักษ์โลกที่เหมาะกับแต่ละบทบาทและไลฟ์สไตล์ ในหัวข้อ “ถ้าโลกคือบ้านหลังใหญ่ ใน 1 วัน เราทำอะไรให้โลกได้บ้าง” คนดังสายรักษ์โลกอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป และ จิรพัฒน์ ฐานสันโดษ ตัวแทนจากเนสท์เล่ ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม และไอเดียรักษ์โลก โดยมี ดีเจนุ้ย ธนวัฒน์ ประสิทธิสมพร รับหน้าที่พิธีกรเริ่มจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน นอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว ความแล้งของป่าทำให้เกิดไฟป่า และกลายเป็นปัญหาของฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่อย่างมาก เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ยกตัวอย่างปัญหาที่เห็นได้ชัดในชีวิตประจำวัน
“อีกตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับเต่าทะเลคือ เมื่อน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลก็หนุนมาเยอะกว่าปกติ ทำให้เต่าไม่สามารถวางไข่บนหาดได้ หรือถ้าน้ำทะเลมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นแค่หนึ่งองศา ปะการังก็เกิดภาวะฟอกขาวได้” เต้ย-จรินทร์พร ร่วมชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่กระทบต่อระบบนิเวศ
ส่วนจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงสายรักษ์โลก เล่าว่า “จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราลุกมาทำเพื่อสิ่งแวดล้อมมีอยู่หลายเหตุการณ์ที่หล่อหลอมมาเรื่อย ๆ ผมรู้สึกว่าเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ จึงหันมาศึกษาอย่างจริงจัง แล้วรู้ว่าผลกระทบที่จะเกิดกับโลกของเรามีเยอะมาก เราอาจมองว่าอยู่ในบ้านหลังเดียวแค่นี้ คงไม่มีผลอะไร แต่จริง ๆ แล้วทุกการตัดสินใจมีผล ทุกทรัพยากรที่เราใช้ น้ำ การเดินทาง อาหาร ส่งผลทั้งหมด”
“เมื่อก่อนเวลาไปเที่ยว เราก็ไปเพื่อความสนุก ให้ความสุขกับตัวเอง พอได้เข้ามาศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จุดประกายความคิดเราว่า เวลาไปเที่ยวมันไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามเท่านั้น มันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก” เต้ยได้เล่าถึงจุดเปลี่ยนของตัวเอง
จากปัญหาสิ่งแวดล้อม และจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลายมาเป็นกระบอกเสียงด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ในมุมมองของผู้บริโภคคนหนึ่ง เต้ยมองว่าการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้นั้นก็ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เราอาจต้องลดความสะดวกสบายส่วนตัวลงสักนิด แล้วนึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่นการใช้หลอดกระดาษ ที่ทำให้รู้สึกภูมิใจได้ว่าเราได้เริ่มที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกขึ้นไม่มากก็น้อย
เมื่อพูดถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จิรพัฒน์ ฐานสันโดษ ผู้จัดการบรรจุภัณฑ์ เนสท์เล่ อินโดไชน่า เล่าว่า “เนสท์เล่ ในฐานะองค์กรใหญ่ เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับโลกนี้ได้ ซึ่งก็กลายเป็นพันธกิจที่เราได้ลงมือทำ เริ่มจากอันดับแรก คือเรื่องของการลดขยะบรรจุภัณฑ์ สองคือลดผลกระทบเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ สามคือเราเป็นบริษัทผลิตอาหาร จะดูเกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิตอาหารว่าตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ผลิต ขนส่ง รวมไปถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ก่อนเริ่มมารับหน้าที่นี้ ก็ได้เริ่มต้นที่การไปศึกษา ดูงานเกี่ยวกับการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ ว่าปลายทางของบรรจุภัณฑ์เราจะไปสิ้นสุดที่ไหน จนปัจจุบันเราก็ได้คิดค้นบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ เปลี่ยนกระป๋องที่ทำจากดีบุกเป็นอะลูมิเนียมซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้ และเปลี่ยนจากหลอดพลาสติกมาเป็นหลอดกระดาษ เพราะเราใส่ใจการเดินทางของบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นจนนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายใหญ่ของเราเรื่อง Net Zero ภายในปี 2050”
เมื่อมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แล้ว การแยกขยะเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลนั้นก็ต้องทำควบคู่กันจึงจะเห็นผลชัดเจน เปรม อินฟลูเอนเซอร์สายรักษ์โลก เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางของขยะในประเทศไทยว่า “เส้นทางของระบบการจัดการขยะนั้น ถ้าในครัวเรือนไม่ได้มีการแยกขยะมาตั้งแต่ต้นทาง เมื่อส่วนกลางรับขยะมาแล้ว จะทำให้ขยะหลายชนิดปะปนกัน การแยกขยะก็จะยากขึ้นและอาจมีส่วนหนึ่งต้องหลุดไปที่การฝังกลบ และส่วนหนึ่งหลุดออกไปสู่ธรรมชาติด้วย”
พูดถึงการแยกขยะ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สิ่งที่เปรมแนะนำคือ เราหาผู้รับก่อน เมื่อรู้ว่ามีองค์กรรับบริจาคขยะ หรือมีซาเล้งรับขยะ แล้วส่งขยะไปให้เขา เราจะเริ่มมีแรงใจมากยิ่งขึ้นในการที่จะเริ่มแยกขยะได้มากชิ้นขึ้นเรื่อย ๆ พอเริ่มมีการคัดแยกขยะมากขึ้น ก็สามารถส่งต่อให้เกิดเป็นทรัพยากรที่นำไปใช้ใหม่ได้ จึงอยู่ที่คนทิ้งว่าจะแยกหรือไม่แยก ถ้าไม่แยกก็จะไปจบที่หลุมฝังกลบ และแนะนำแอปพลิเคชัน “Green2Get” ที่สามารถสแกนบรรจุภัณฑ์ให้รู้ถึงประเภทของขยะ และช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและผู้รีไซเคิล ทำให้เราหาที่ไปให้ขยะได้ ให้ทุกคนแยกขยะได้ง่ายขึ้น
การลดขยะก็เป็นอีกสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ เต้ยเล่าว่า ตอนเก็บของย้ายบ้าน ต้องนำเสื้อผ้าไปบริจาคเยอะมาก ทำให้ทุกวันนี้เราลดการชอปปิง คิดก่อนซื้อทุกครั้งว่าจำเป็นไหม เลือกสิ่งที่จะอยู่กับเราได้นาน ๆ ไม่ใช่แค่ fast fashion มันเป็นสิ่งง่าย ๆ ใกล้ตัวที่เราเริ่มได้ทันที
ทางด้าน อเล็กซ์ ได้แนะนำแนวทางรักษ์โลกว่า “ผมเองเริ่มจากการลดผลกระทบจากตัวเราต่อสิ่งแวดล้อมทีละนิด เวลาไปซื้อของก็จะเลือกที่มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับความยั่งยืน แยกขยะเปียก-ขยะแห้งก่อนทิ้ง เพื่อส่งเสริมกระบวนการรีไซเคิล”
“ผมมีเป้าหมายที่จะลดขนาดถุงขยะในบ้าน จากที่ไปโรงงานขยะมาทำให้รู้ว่าเศษอาหารจะทำให้ขยะเน่า จึงแยกขยะเปียกที่เป็นเศษอาหารกับขยะแห้ง เวลาล้างจาน ผมจะนำบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารต่าง ๆ ไปวางในอ่างด้วย เพื่อให้น้ำชะล้าง ก่อนนำขยะไปแยกและส่งไปในที่ที่เหมาะสมต่อไป” จิรพัฒน์ กล่าวเสริมถึงไอเดียรักษ์โลกที่เริ่มด้วยตัวเอง
ส่วนแรงบันดาลใจให้ทุกคนเริ่มทำเพื่อโลกของเรานั้น อเล็กซ์เผยว่า “ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน ถ้าอีกล้านคนทำเหมือนกัน เราจะสร้างผลเชิงบวกได้มหาศาล ผมอยากให้เรามีแนวคิดแบบยั่งยืน และเริ่มทำไปเรื่อย ๆ เพราะต่อไปคนที่จะได้รับผลที่ดีที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้คือ ตัวเรา ลูกหลานของเราเอง”
เปรม กล่าวเสริมได้อย่างน่าสนใจว่า “โลกเป็นบ้านหลังเดียวของเรา เวลาเราทิ้งขยะ เราทิ้งออกนอกบ้านได้ แต่ว่าโลกใบนี้ทิ้งขยะออกนอกโลกไม่ได้ ขยะก็ยังอยู่ ทรัพยากรก็เช่นกัน ในบ้านเรา ของหมดสั่งซื้อได้ โลกสั่งทรัพยากรจากดาวอื่นมาเติมไม่ได้ ดังนั้น เราควรดูแลโลกนี้ตามกำลังของเรา อยากให้ทุกคนมีความเชื่อว่าเราทำเพื่อโลกได้ โลกนี้คือบ้านของเรา ขอแค่เริ่มเพียงเล็กน้อยก็เปลี่ยนโลกได้”
“บางคนอาจเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร แต่จริง ๆ ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อเรา เพราะลูกหลานของเรายังต้องใช้ชีวิตบนโลกนี้ต่อ เราควรทำอะไรสักอย่างไว้ให้เขา การดูแลโลกไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะโลกเป็นบ้านหลังใหญ่ ต้องช่วยกันดูแล” ดีเจนุ้ยให้ความเห็น
เนสท์เล่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ไปไกลกว่า “การไม่ทำร้ายโลก” แต่เป็นการช่วยดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรที่เรามีเพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นต่อไป จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการรักษาบ้านหลังใหญ่ของเราทุกคน เพื่อให้ทุกคนในวันนี้และในอนาคตอาศัยอยู่ต่อได้อีกนานแสนนาน มาร่วมดูแลและปกป้องโลกของเราไปพร้อม ๆ กัน กับ “เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้”
“ผมมีเป้าหมายที่จะลดขนาดถุงขยะในบ้าน จากที่ไปโรงงานขยะมา ทำให้รู้ว่าเศษอาหารจะทำให้ขยะเน่า จึงแยกขยะเปียกที่เป็นเศษอาหารกับขยะแห้ง เวลาล้างจาน ผมจะนำบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารต่าง ๆ ไปวางในอ่างด้วย เพื่อให้น้ำชะล้าง ก่อนนำขยะไปแยกและส่งไปในที่ที่เหมาะสมต่อไป” จิรพัฒน์ กล่าวส่งท้ายถึงไอเดียรักษ์โลกที่เริ่มด้วยตัวเอง
เนสท์เล่อยากเชิญชวนให้ทุกคนร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการดูแลบ้านหลังใหญ่ของเราทุกคน เพื่อให้ทุกคนในวันนี้และในอนาคตอาศัยอยู่ต่อได้อีกนานแสนนาน มาร่วมดูแลและปกป้องโลกของเราไปพร้อม ๆ กัน กับ “เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้”