SINGER อวดงบ Q1/65 นิวไฮอีกครั้ง กำไรพุ่ง 53.6% พอร์ตสินเชื่อรวมแตะ 12,357 ลบ.

179
กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์

SINGER ประกาศผลงาน Q1 ปี 65 ประสบความสำเร็จ รายได้ 1,211 ลบ. กำไรสุทธิ215 ลบ. พุ่งทำนิวไฮใหม่ โดยสินเชื่อ C4C เป็นเรือธง สนับสนุนพอร์ตสินเชื่อรวมโตแตะ12,357 ลบ. ตามเป้า และก้าวใหญ่ของ SINGER ดัน SGC เข้ามาระดมทุน เพิ่มโอกาสการเติบโต สร้าง New S-Cure ใหม่ ด้วยอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งที่สุด ที่มีช่องทางเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ แย้ม Q2 ไม่ธรรมดา!

กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวดประจำไตรมาส 1/2565 ประสบความสำเร็จ ทำนิวไฮสูงสุดอีกครั้งกำไรสุทธิอยู่ที่ 215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น และความแข็งแกร่งของพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตได้ตามเป้าหมาย หรืออยู่ที่ 12,357 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่10,962 ล้านบาท โดยสินเชื่อเช่าซื้อกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเชิงพาณิชย์ (HP) มีสัดส่วนพอร์ตอยู่ที่ 41% และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือ (C4C) เป็นเรือธงการเติบโตของ SINGER ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนพอร์ตอยู่ที่ 56%

นอกจากนี้ การมีจำนวนพนักงานขาย และเครือข่ายสาขาย่อยของซิงเกอร์แฟรนไชส์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 69.8 % และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 17.8 % สำหรับภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 3.8 % รักษาความสามารถในการรักษา NPL อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

สำหรับในไตรมาส 2/2565 เดินหน้าเชิงรุก รับช่วงไฮซีซั่นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโต และแผนขยายแฟรนไชส์ครอบคลุมทั่วประเทศจากปัจจุบันอยู่ที่ 4,643 แห่ง วางเป้าหมายสิ้นปีไว้ที่ 7,000 แห่ง เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย รวมทั้ง การขยายพอร์ตสินค้าใหม่ๆ ที่เป็นโอกาส ผ่านการจับมือกับพันธมิตร เช่น กลุ่ม JMART BTS GUNKUL ขณะที่เป้าหมายพอร์ตสินเชื่อปีนี้วางไว้ 15,500 ล้านบาท มั่นใจเป็นไปตามนั้น

อย่างไรก็ดี แผนการนำบริษัทย่อย บริษัท เอส จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (SGC) เข้ามาระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้ นับเป็นก้าวใหญ่ของ SINGER ในการปลดล็อกมูลค่าบริษัทลูก และโอกาสการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของพอร์ตสินเชื่อในอนาคต