ซ้อมล้ม ฝึกลุก รุ่นใหญ่วัยซิลเวอร์ ล้มได้ ก็ลุกได้

525

วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ รพ.กรุงเทพ ขอร่วมรณรงค์ในการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีตามวัย เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะเกิดโอกาสพลัดตกหกล้มได้ง่าย โดยอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มของผู้ที่อยู่ในช่วงวัยซิลเวอร์ หรืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีแนวโน้นที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ การประเมินความเสี่ยงเพื่อเตรียมตัวฝึกล้มและลุกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงจากการล้มที่อาจเกิดขึ้นได้

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุบาดเจ็บจากการล้มเมื่อทำกิจกรรมในบ้านมากขึ้น สถิติของผู้มารับบริการที่แผนกฉุกเฉินและแผนกอุบัติเหตุ พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องรับไว้นอนในโรงพยาบาลจากการล้มกว่าครึ่งหนึ่ง โดย 1 ใน 3 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอายุมากกว่า 65 ปี การบาดเจ็บที่พบบ่อยคือ การหักของกระดูกสะโพก การทรุดลงของกระดูกสันหลังเมื่อล้มกระแทก มีการบาดเจ็บที่สำคัญและเป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ กระดูกคอหัก และการบาดเจ็บต่อศีรษะและสมอง การให้ผู้สูงอายุซ้อมล้มและฝึกลุก จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะหากผู้สูงอายุได้รับการฝึกอยู่เป็นประจำจะช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นได้การล้มที่ทำให้บาดเจ็บอย่างรุนแรงมี 2 ลักษณะคือ ล้มศีรษะฟาด กับล้มทั้งยืน ความสำคัญที่จะลดความรุนแรงได้มี 2 ขั้นตอน คือ 1) เมื่อจะล้มให้พยายามย่อตัวลงในท่านั่ง จะช่วยลดแรงกระแทกที่เกิดกับลำตัวและกระดูก 2) ใช้แขนและมือป้องกันศีรษะและลำคอ จะช่วยลดแรงกระแทกที่เกิดกับสมองและกระดูกต้นคอได้ ถ้ากำลังรู้สึกว่าจะหงายหลัง หรือมีอาการเซล้มให้พยายามย่อตัว เก็บคอ คางชิดอก หลังมือประคองด้านหลังศีรษะ และกางขา พยายามให้ด้านข้างของลำตัวกลิ้งลงกับพื้น เพื่อกระจายแรงกระแทก ท่านี้จะช่วยลดแรงกระแทกต่อศีรษะและกระดูกคอได้ แต่หากรู้สึกว่าจะล้มหน้าคว่ำ ให้ใช้ท่า “ขายั้งตั้งคอ งอแขน” โดยพยายามยั้งตัวและย่อขาลงพื้น แขนสองข้างงอเข้าหาตัว ใช้ท่อนแขนส่วนหน้าและฝ่ามือเป็นส่วนรับน้ำหนัก เกร็งคอไม่ให้หน้ากระแทกพื้น ท่านี้จะลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ สมอง และกระดูกคอการฝึกลุกให้หาเบาะออกกำลังกายที่รองรับน้ำหนักผู้สูงวัยได้ทั้งตัวมาให้ฝึกซ้อม แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ เมื่อล้มแล้วต้องสำรวจว่ามีการบาดเจ็บส่วนสำคัญ หรือการบาดเจ็บของข้อต่อหรือไม่ หากไม่ปวดศีรษะ ไม่ปวดคอ ขยับแขนหรือขยับขาได้ไม่อ่อนกำลังจึงค่อยๆ ลุก แต่หากรู้สึกเจ็บมากไม่ว่าบริเวณใดหรือรู้สึกว่าแขนขาอ่อนแรง ต้องอย่าฝืน ให้รีบขอความช่วยเหลือ นอนหงาย ยกขาขึ้นมาสองข้าง ถ้าจะลุกด้านไหนให้เหยียดแขน หมุนให้ขาและลำตัวตะแคงตัวไปด้านนั้น

ยกตัวอย่างเช่น การลุกด้านขวาให้เหยียดแขนขวา จากนั้นค่อยๆ หมุนตะแคงตัวไปทางด้านขวา ใช้ข้อศอกขวาดันพื้นเพื่อยกลำตัวขึ้น ใช้แขนซ้ายยันพื้นประคอง ค่อยๆ ดันตัวเองขึ้นมาโดยใช้แรงจากต้นแขนขวา ไม่ต้องใช้มือหรือข้อมือที่บาดเจ็บ ช่วงที่จะยืนให้สังเกตตนเองว่ามึนศีรษะหรือไม่ หากมึนมากจนลุกไม่ไหวให้ลงไปนอนรอคนมาช่วย แต่ถ้าลุกไหวให้คลานไปหาหลักยึดเพื่อทรงตัว ถ้าร่างกายมั่นคงให้ค่อยๆ ลุกขึ้น แต่ถ้าร่างกายไม่มั่นคงให้คลานไปหาอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวเพื่อช่วยทรงตัวขึ้นยืน เช่น เก้าอี้ที่ไม่มีล้อเลื่อน หรือโต๊ะที่รับน้ำหนักได้แล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืน

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมให้ล้มคือ พื้นต่างระดับในบ้าน ของวางเกะกะบริเวณที่เดินผ่านประจำ เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องจัดบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ห้องน้ำให้ทำราวจับ พื้นไม่เปียกลื่น โถส้วมควรใช้แบบชักโครก หลีกเลี่ยงการเดินขึ้น-ลง บันได รวมถึงควรมีราวจับทั้งสองข้าง ทางเดินควรเรียบเสมอกัน สิ่งสำคัญกันล้มในผู้สูงวัย คือ เครื่องช่วยเดิน เมื่อเดินไม่มั่นคง เช่น ไม้เท้า ร่มยาว  รวมถึงการใส่เสื้อผ้าไม่รุงรัง สวมรองเท้าที่กระชับพอดีผู้สูงวัยสามารถประเมินความเสี่ยงในการล้มได้ด้วยการสำรวจตนเอง

1) อายุ ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงมาก

2) เคยหกล้มหรือบาดเจ็บในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่ หากเคยล้มมีโอกาสล้มซ้ำได้

3) รู้สึกว่าแขนขาไม่ค่อยมีแรงหรือไม่ เพราะอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถจับยึดหรือพยุงตัวเองได้

4) มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือไม่ เพราะหากกลั้นไม่อยู่ รีบร้อนไปเข้าห้องน้ำส่งผลให้ล้มได้

5) มีปัญหาการมองเห็นและกะระยะหรือไม่ การมีปัญหาเรื่องการมองเห็นอาจทำให้สะดุดหกล้มหรือตกบันไดได้

6) กลัวการหกล้ม ทำให้ไม่กล้าออกกำลังกายและทำกิจวัตรต่างๆ  ยิ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงได้

7) มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง ที่อาจทำให้หน้ามืดแล้วล้ม หรือโรคเบาหวาน อาจทำให้มีแผลที่เท้าส่งผลให้เดินช้า เดินลำบาก เพิ่มความเสี่ยงในการล้ม เป็นต้น

ลูกหลานหรือผู้ใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตการเคลื่อนไหวของผู้สูงวัยในบ้านว่ามีความผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ ผู้สูงอายุบางคนล้มแล้วไม่ยอมบอกลูกหลานเพราะกลัวจะเป็นภาระ ซึ่งทุกการล้มของผู้สูงวัยมีโอกาสที่จะสะโพกหัก กระดูกหัก เลือดคั่งในสมองโดยที่ลูกหลานไม่ทราบได้ การให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายตามวัยเป็นประจำจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและทรงตัวได้มั่นคงยิ่งขึ้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719  หรือแอดไลน์ @bangkokhospital