ซีพี ออลล์-เซเว่น วางเป้าพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อเยาวชน ปั้นโรงเรียนต้นแบบ 4 ด้าน

413

ซีพี ออลล์ เดินหน้าพัฒนา “โรงเรียนต้นแบบ” 4 ด้าน ไอซีทีและวิชาการ-วิชาชีพ-เกษตร-สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ชูความสำเร็จ 4 โรงเรียนเด่น ห้องเรียน AI-ร้านกาแฟสร้างอาชีพ-Young Smart Farmer-ต้นกล้าไร้ถัง บูรณาการหลักสูตรกับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ขยายผลสู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สร้างรายได้ยั่งยืน เล็งขยายผลโครงการต้นกล้าไร้ถัง เพิ่มเติมอีกกว่า 200 โรงเรียน ภายในครึ่งปีแรกของปีนี้ หวังต่อยอดการสร้างโอกาสเยาวชนควบคู่การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล

ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (รษก) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี  (CONNEXT ED) เพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนงานสร้างอนาคตการศึกษาไทย ซีพี ออลล์ ยังคงมุ่งมั่นดูแลและยกระดับการศึกษาของโรงเรียนและชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้เยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทยังคงพยายามต่อยอดให้โรงเรียนที่ดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Best Practice สามารถพัฒนาขึ้นมาจนเป็นโรงเรียนต้นแบบ หรือ School Model ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านไอซีทีและวิชาการ 2.ด้านวิชาชีพ 3.ด้านการเกษตร และ 4.ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดต้นแบบที่โรงเรียนต่างๆ ทั้งในและนอกโครงการ CONNEXT ED สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียน โรงเรียน และชุมชนได้ต่อไป

“ที่ผ่านมา เราขับเคลื่อนโครงการ CONNEXT ED อย่างต่อเนื่อง จนเกิด School Model ขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง วันนี้ เราดึงสุดยอดโครงการที่โดดเด่นของ School Model แต่ละด้านขึ้นมา เพื่อนำความสำเร็จของโรงเรียนเหล่านั้นไปเป็นทั้งแรงบันดาลใจ เป็นแนวทาง และเป็นทางลัดให้โรงเรียนและชุมชน สามารถนำไปปรับใช้กับโรงเรียนและชุมชนของตัวเอง” ยุทธศักดิ์ กล่าว

สำหรับโรงเรียนต้นแบบที่จะนำมาเป็นโมเดลในการส่งมอบโอกาสดีๆ ให้แก่โรงเรียนต่างๆ ในปี 2565 มี 4 โรงเรียน ซึ่งมีคุณลักษณะโดดเด่นแตกต่างกันในแต่ละด้าน ประกอบด้วย ด้านไอซีทีและวิชาการ ได้แก่

ห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ (AI Lab) โรงเรียนบ้านหนองแสงโคกน้อย จ.ขอนแก่น ที่สามารถเรียนรู้ด้าน IT และ Digital Technology โดยการพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีวิทยาการสมัยใหม่ทั้งหุ่นยนต์หรือ Robotics , AI (Artificial Intelligence Lab) และ IoT (Internet of Things) อย่างง่าย นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่น่าชื่นชม อาทิ เครื่องจ่ายเจลล้างมืออัตโนมัติ ราวตากผ้าอัตโนมัติ ถังขยะอัจฉริยะ เป็นผลงานที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

ด้านวิชาชีพได้แก่โครงการ ร้านกาแฟสร้างอาชีพ ของโรงเรียนโสตศึกษา จ.นนทบุรี และ โรงเรียนบ้านนาคู จ.กาฬสินธุ์ อีกหนึ่งโมเดลโรงเรียนต้นแบบที่นำทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียน ในยุคการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 อย่าง 3R 8C มาใช้ในการสร้างร้านกาแฟ เด็กๆ จะได้ลงมือปฏิบัติจริง จนนำมาสู่การสร้างอาชีพของตนเองและชุมชน

ขณะที่โรงเรียนต้นแบบด้านการเกษตรคือ โรงเรียนบ้านวังดินสอ จ.ปราจีนบุรี ในโครงการโคกหนองนาโมเดล ที่เป็นการบูรณาการชีวิตจากท้องนาสู่ห้องเรียน บนพื้นฐานของการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ เพื่อนำมาสู่ความยั่งยืน ภายใต้ทฤษฎีบันได 9 ขั้น พัฒนาจากขั้นพื้นฐาน (พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น) สู่ขั้นก้าวหน้า (ทำบุญ ให้ทาน เก็บไว้เมื่อขาด ค้าขาย เครือข่าย) เด็กๆ จะได้เรียนรู้หลักการการทำเกษตร รูปแบบใหม่ที่ไม่ได้นั่งอยู่ในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ที่สามารถต่อยอดสู่ความยั่งยืน

สำหรับ ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการต้นกล้าไร้ถัง โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประสบความสำเร็จจากที่ปลูกฝังเด็ก เยาวชน พ่อค้าแม่ค้าในโรงเรียน ให้ร่วมกันลด ละ เลิก ใช้สิ่งของที่สามารถกลายเป็นขยะและใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น แก้วน้ำพลาสติก หลอด จานกระดาษ จนสามารถลดปริมาณขยะจาก 15 ตันต่อเดือน เหลือเพียง 2 กิโลกรัมต่อเดือน พร้อมทั้งมีการบูรณาการจัดการขยะเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนและให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดการ ด้วยการคัดแยกวัสดุออกจากขยะจนสามารถหมุนเวียนรายได้กลับสู่โรงเรียน มีการต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนต้นแบบทั้ง 4 โรงเรียน มีคุณสมบัติสำคัญตามกรอบยั่งยืน 3 มิติด้วย ได้แก่ 1.เป็นโรงเรียนที่พึ่งพาตนเองได้ ปลูกฝังให้โรงเรียนและชุมชนมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) แม้หลังเสร็จสิ้นโครงการ CONNEXT ED แล้ว ก็ยังสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้โรงเรียนและโครงการของโรงเรียนเดินหน้าต่อไปได้ 2.บูรณาการความรู้สู่หลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้หรือหลักสูตรท้องถิ่น 3.พัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สร้างการเรียนรู้แบบ Life long Learning หากโรงเรียนใดมีความสนใจที่จะนำโมเดลเหล่านี้ไปใช้หรือพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับโรงเรียนและชุมชนของตนเอง ซีพี ออลล์ ก็พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการศึกษา พร้อมส่งต่อสู่ชุมชน สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

เบื้องต้น คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จะเดินหน้าขยายผลโครงการต้นกล้าไร้ถัง เพิ่มเติมอีกกว่า 200 โรงเรียน ในโซนภาคตะวันอออกเฉียงเหนือ และโรงเรียนภายใต้สังกัดกทม. คาดว่าจะช่วยต่อยอดแก้ปัญหาด้านการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม  พร้อมปั้น “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน” เปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าศึกษาดูงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการจัดการขยะไปสู่ชุมชนและโรงเรียนอื่นๆ หากในอนาคตขยายภาคีเครือข่ายไปสู่วงกว้างได้ จะช่วยให้ประเทศกลายเป็นสังคมไร้ขยะได้ ขณะที่ในปีนี้ซีพี ออลล์ตั้งเป้าพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในโรงเรียน CONNEXT ED ให้ได้สะสม 495 โรงเรียน คิดเป็นจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมสะสม 126,436  คนทั่วประเทศ

ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาโรงเรียนต้นแบบทั้ง 4 ด้าน ภายใต้โรงเรียน CONNEXT ED ได้ที่https://youtu.be/NL2Ptl_EV38

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 44 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 5 เฟส จำนวนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด