ม.อ. ร่วมขับเคลื่อน จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ

180

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต ผนึกหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจโรงแรมและประชาชน เปิดเวทีประชุมขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ๊อกซ์) ครั้งที่ 1 เร่งสร้างความเข้าใจและร่วมพัฒนาพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน มุ่งยกระดับสู่เมดิคัลทัวริซึมม่เหล็กดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย  

รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีความมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ หรือ Medicaltourism จึงจัดประชุม โครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ๊อกซ์) ครั้งที่ 1เพื่อสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจการการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพ โรงแรมในเขตพื้นที่ตำบลกะรน ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ตำบลกะรน และผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหารทั้งจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี  

การจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพและเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน ได้แสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนากะรนเป็นเมืองสุขภาพ ตลอดจนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการบูรณาการ การออกแบบเมืองและแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คนมีคุณภาพและจะทำให้ประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง โดยวาง 10 อุตสาหกรรม S-Curve เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)   

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มที่มีรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ม..วิทยาเขตภูเก็ต จึงสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวแบบ Wellness and Rehabilitation หรือการท่องเที่ยวแบบเชิงสุขภาพทางการแพทย์และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อต่อยอดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวMedicaltourism ให้เข้มแข็ง โดยระดมนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมศึกษาและพัฒนาการบริการด้านสุขภาพต่อไปอย่างเข้มข้นให้มีความทันสมัย ด้วยวิธีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพ และพัฒนาเครื่องมือด้านการตลาดควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“ม.. พร้อมเดินหน้าระบบสนับสนุนการศึกษาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของภูเก็ตก้าวสู่เมดิคัลฮับทัวริซึมอย่างแท้จริงและเตรียมรับกับนโยบายการเปิดประเทศ หลังการแพร่ระบาด Covid-19 คลี่คลาย ซึ่งภูเก็ตถือว่าเป็นเดสติเนชั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเชื่อว่าการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดรายได้ให้กับประเทศและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย” รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ กล่าว