SGP ชี้แนวโน้มธุรกิจช่วงครึ่งปีหลังสดใส เข้าสู่ไฮซีซั่นธุรกิจช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 และได้ปัจจัยหนุนจากราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในต่างประเทศปรับตัวขาขึ้น โดยในช่วง Q3 ปีนี้ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 137.5 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน เชื่อมั่นเป้ายอดขายปี 2564 ที่ระดับ 3.73 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน ทำได้ตามแผน ยอดขายในตลาดต่างประเทศไปได้สวย ขณะที่ยอดขายในประเทศ คาดปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐผ่อนคลายล็อคดาวน์ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร กลับมาเปิดกิจการได้ หนุนผลงานปีนี้นิวไฮ
จินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP เปิดเผยว่าแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 3-4 ของทุกๆ ปี จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ เนื่องจากทิศทางออเดอร์โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ยอดขายในประเทศช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากภาครัฐมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร กลับมาเปิดกิจการได้ ทำให้มีความต้องการใช้แก๊สเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายในประเทศคาดจะทำได้ตามเป้าหมาย และสนับสนุนผลงานในปี 2564 บริษัทประเมินว่ายอดขาย LPG คงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ราว 3.73 ล้านตัน หรือเติบโต 15% จากปีก่อนที่มียอดขาย 3.24 ล้านตัน
ประกอบกับในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก (CP Saudi Aramco) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 137.5 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน โดยปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ล่าสุดอยู่ที่ 665 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน ทำให้เชื่อมั่นว่าผลประกอบการในครึ่งปีหลังของปี 2564 จากปริมาณการขายแก๊ส LPG และราคาก๊าซ LPG ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผลงานไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ไปได้สวย หนุนผลงานทั้งปีนิวไฮ
“ปกติธุรกิจเราจะเข้าช่วงไฮซีซั่นในครึ่งปีหลัง จากยอดขายและราคาก๊าซ LPG ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรายังคอนเฟิร์ม ยอดขายปีนี้โตได้ 15%” จินตณากล่าว
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้บริษัทไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 จึงชะลอแผนการลงทุนออกไปก่อน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นในปี 2565
ส่วนการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศเมียนมา จำนวน 2 โครงการของบริษัท โดยโครงการแรกมีกำลังการผลิต 230 เมกะวัตต์ (ปัจจุบันทาง SGP ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 41.1%), อีกโครงการเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซลในเมียนมา ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับสหกรณ์หมู่บ้านโดยตรง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการเหล่านี้ ปัจจุบันยังสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติและไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยในประเทศดังกล่าวแต่อย่างใด