บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต รายงานผลการดำเนินธุรกิจครึ่งปีแรก เติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง เบี้ยประกันภัยรับปีแรกเติบโต 5% สอดรับความสำเร็จแคมเปญกระตุ้นยอดขายช่องทางตัวแทน และผลตอบรับทีดีจาก ผลิตภัณฑ์ใหม่ “ปลดล็อคสบายกระเป๋า” เร่งเครื่องเดินหน้าดันธุรกิจโตแกร่งทุกช่องทาง
โทมัส วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรก 2564 ถือเป็นครึ่งปีที่ท้าทายสำหรับทุกธุรกิจรวมถึงธุรกิจประกันชีวิต เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หากแต่ อลิอันซ์ อยุธยา ยังสามารถสร้างผลงานได้เป็นที่น่าพอใจ สามารถสร้างเบี้ยประกันรับปีแรกเติบโตถึง 5% อยู่ที่ 2,974 ล้านบาท โดยมาจากช่องทางขายผ่านธนาคาร 1,014 ล้านบาท เติบโต 56% สะท้อนถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนและการออมที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเหนือตลาด ช่องทางตัวแทน 1,091 ล้านบาท เติบโต 4% ซึ่งเป็นผลมาจากช่องทางตัวแทนที่เข้มแข็ง ประกอบกับความสำเร็จจากการออกผลิตภัณฑ์คุ้มครองสุขภาพใหม่ “ปลดล็อคสบายกระเป๋า” ที่เป็นแบบประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพแก่ลูกค้าในราคาที่คุ้มค่า ทั้งยังมีกิจกรรมและเครื่องมือดิจิทัลเพื่อสนับสนุนให้ตัวแทนขายสินค้าได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน สุขภาพ ปลดล็อค สบายกระเป๋า มียอดขายแล้วกว่า 3,000 กรมธรรม์ ตั้งแต่เปิดตัวกลางเดือนมีนาคม ส่วนช่องทางขายตรง เติบโตลดลง 23% อยู่ที่ 735.7 ล้านบาท เป็นผลมากจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของลูกค้าในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา
“แม้สถานการณ์โควิดจะยังคงอยู่และส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่อลิอันซ์ อยุธยา ที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลก่อนใคร ทำให้ธุรกิจของเรายังคงเติบโตไปได้ในทุกช่องทาง ปัจจุบันช่องทางตัวแทนมีการส่งใบคำขอผ่านเครื่องมือดิจิทัล ที่เรียกว่า Allianz Discover (AZD) ถึง 99% และจากกลุ่มนี้ มีอยู่ถึง 45% ที่เป็นการขายแบบไม่ต้องพบลูกค้า (Non Face-to-Face) ซึ่งเป็นการส่งเสริมการทำงานภายใต้สถานการณ์โควิดและรักษา social distancing ได้เป็นอย่างดี และล่าสุดได้มีการจัดงาน AL Seminar ACTIV 21 งานสัมมนาผู้บริหารตัวแทน รูปแบบออนไลน์ครั้งแรก ที่เน้นการสร้างกำลังใจ การทำงานเป็นทีมเพื่อเป้าหมายการเติบโต นอกจากนั้น ยังมีโปรแกรมกระตุ้นการสร้างผลงานมากมาก อาทิ โครงการ Friend Of Agency ชวนเพื่อนแนะนำเพื่อน มีผู้เข้าร่วมกว่าพันคนภายในหนึ่งเดือน โครงการ Allianz Elite Agency คือ เป็นการนำโมเดลที่ประสบความสำเร็จไปใช้พัฒนาตัวแทนกลุ่มอื่นๆเพื่อเร่งการสร้างผลงาน ซึ่งตัวแทนที่อยู่ในโปรแกรมนี้ พบว่าจะสร้างผลิตผลได้มากกว่าเดิมถึง 6 เท่า”
ขณะเดียวกัน กลุ่มอลิอันซ์ ผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต รายงานผลกำไรจากการดำเนินการของอลิอันซ์ในเอเชียเพิ่มขึ้น 37% เป็น 343 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาท โดยรายได้ทั้งหมดในเอเชียเพิ่มขึ้น 14% เป็น 4.1 พันล้านยูโร หรือประมาณ 1.61 แสนล้านบาท และมีผลกำไรจากการดำเนินงานด้านประกันชีวิตและสุขภาพเพิ่มขึ้น 46% เป็น 279 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท
ด้าน โซลมาส อัลทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาค อลิอันซ์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะของตลาดที่ท้าทายและผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งยังคงส่งผลต่อทุกด้านของชีวิต อลิอันซ์ เอเชีย แปซิฟิค ยังคงมีรายได้และผลกำไรจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในครึ่งแรกของปี 2564 โดยกลยุทธ์ของเราประสบความสำเร็จด้วยดีจากการทำงานหนักและความทุ่มเทของพนักงาน เราจะยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี ความปลอดภัย และสุขภาพจิตของพนักงานเป็นอันดับต้นๆ การปรับตัวสู่ดิจิทัลตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ช่วยให้เรายังคงสามารถให้บริการและช่วยเหลือลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจในภูมิภาคนี้ รวมถึงหลายตลาดในเอเชียที่ดำเนินธุรกิจอยู่
“แม้ว่าความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดจะยังคงส่งผลกระทบต่อตลาด แต่เรามั่นใจว่าเราจะสามารถสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจผ่านทางโมเดลที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และสิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับเราในการรักษาความเป็นที่หนึ่งในบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดและมีความมั่นคงมากที่สุดในโลก เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดภาระด้านการเงินของลูกค้า รวมถึงช่วยเพิ่มระดับการคุ้มครองทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างไร้รอยต่อและตอบสนองความต้องการเฉพาะตัวของตลาดทุกตลาดและลูกค้าทุกคน”
ขณะที่ แอรอน ฟรายเยอร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน อลิอันซ์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า แม้จะยังคงมีความไม่แน่นอนในตลาด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา อลิอันซ์ยังมีอัตราการเติบโตที่สูงในเอเชีย โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 37% เป็น 343 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาท ธุรกิจกลุ่มประกันชีวิตและประกันสุขภาพในภูมิภาคยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 46% เป็น 279 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท จากกำไรจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในไทย ผลประกอบการที่ดีขึ้นในไต้หวันจากการฟื้นตัวของตลาดทุน มูลค่าของธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น 38% เป็น 199 ล้านยูโร หรือประมาณ 7.8 พันล้านบาท จากปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นในตลาด เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ภูมิภาคนี้ยังมีกำไรที่สูงขึ้นจากส่วนผสมทางธุรกิจที่ดีขึ้น รวมถึงการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยในบางตลาด
รายได้รวมของธุรกิจประกันทรัพย์สินและเบ็ดเตล็ดเพิ่มขึ้น 13% เป็น 741 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในจีนและได้รับอานิสงค์จากสิงคโปร์ ผลกำไรจากการดำเนินงานในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 8% เป็น 63 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.5 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยและมาเลเซีย จากการดำเนินงานที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ รวมถึงกลยุทธ์ดิจิทัลที่ขยายกว้างมากขึ้นสำหรับช่องทางหลักของเรา ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยทั้งหมด เพิ่มขึ้นครึ่งเบซิสพ้อยท์เป็น 96.8% เมื่อเทียบปีต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา อลิอันซ์เอเชียแปซีฟิกได้รับการเรียกร้องค่าสินไหมมากขึ้นจากลูกค้าและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของโซลูชั่นด้านสุขภาพและการให้ความคุ้มครองของเราในชุมชนโดยรวม เราจะยังคงเติบโตในตลาดให้มากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการให้ความคุ้มครองลูกท้าทางด้านการเงิน
“เรามาไกลกว่าสิ่งที่คาดหวังเป็นอย่างมากในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการขยายธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินเพิ่มเติม หลังจากที่อลิอันซ์ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการให้จัดตั้งบริษัทจัดการทรัพย์สินประกันซึ่งมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมดได้เป็นบริษัทแรกในจีน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทิศทางที่ดีเช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไป โดยเราจะยังคงมุ่งมั่นและระมัดระวังในการดำเนินแผนการ โดยใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับพนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจและลูกค้าของเรา” โซลมาส กล่าว