ชาญชัย กุลถาวรากร เปลี่ยนวิกฤตเป็นวิชั่น นำ ASL สู่อนาคตตลาดการเงิน

8299

ประเทศไทยในอดีต เคยผ่านวิกฤตจากสงครามการรบมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ยุคสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ธนบุรี จนถึงกรุงเทพฯ แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่ทุกครั้งต้องมีการสูญเสีย บ้านเมืองเสียหาย ผู้คนล้มตาย

มาถึงยุคปัจจุบันวิกฤตของประเทศ เปลี่ยนจากการรบด้วยอาวุธ มาเป็นการรบทางเศรษฐกิจ ซึ่งนับตั้งแต่เศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มตั้งไข่ มีการเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน  คนไทยก็สูญเสีย ตกงาน  หมดตัว จนถึงล้มละลายจากวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายรอบ ตั้งแต่วิกฤตราชาเงินทุน ในปี 2522, วิกฤตเฟิร์สทรัสต์ในปี 2526,  วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540  รวมถึงวิกฤต Digital Disruption ที่ทำคนในคนตกงานกันเป็นจำนวนมาก

แต่สำหรับผู้บริหารรุ่นใหญ่ “ชาญชัย กุลถาวรากรประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด คือผู้บริหารที่ยืนอยู่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจไทยมาครั้งแล้วครั้งเล่า และเขาก็ผ่านวิกฤตเหล่านี้มาได้ทุกครั้ง จนถูกคนในวงการการเงินยกย่องให้เป็น “เสือ 9 ชีวิต”

ชาญชัย เกิดในครอบครัวชาวจีน ที่คุณพ่อล่องเรือหนีความยากจนจากจีนแผ่นดินใหญ่  มาขึ้นฝั่งที่เมืองไทย ทำมาค้าขายอยู่ย่านเยาวราช สำเพ็ง  เขาเป็นลูกคนที่ 3 จาก พี่น้อง 8 คน มีหัวการเรียนที่ดีเยี่ยม สอบได้ที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมต้น แต่ด้วยนิสัยเกเรตั้งแต่เด็ก และมาจนถึงระดับมัธยม ความเกเรหนักขึ้น สวนทางกับผลการเรียนเริ่มตกลง แทนที่จะได้มุ่งเรียนสายวิทย์ที่เคยสร้างผลงานดีตั้งแต่สมัยเรียนประถมศึกษา กลับจบแค่อนุปริญญา ก็ออกมาทำงาน

แม้เขาจะเริ่มทำงานครั้งแรกพร้อมๆ กับการเปิดตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี พ.ศ. 2518 แต่งานแรกของชาญชัย กลับเป็นงานด้านการขายในบริษัทคอนซูเมอร์โปรดักส์ยักษ์ใหญ่  คาโอ จากประเทศญี่ปุ่น และออกไปทำงานด้านตลาดกับบริษัทเล็กๆ  ก่อนที่พี่ชายจะชักชวนให้มาทำงานในตลาดหุ้น  นั่นคือก้าวแรกของการโลดแล่นในตลาดการเงินของชาญชัย

ผมเข้ามาในตลาดหุ้นสมัยที่ราชาเงินทุนเฟื่องฟู  มาอยู่ที่เฟิร์สทรัสต์   ได้ทำทุกหน้าที่  ทุกตำแหน่งที่บริษัทหลักทรัพย์จะทำกันในเวลานั้น   ตั้งแต่การทำ Back Office คุมห้องหุ้น เขียนกระดาน  ทั้งการออกแบบกระดาน ทำอาร์ตเวิร์คเกี่ยวกับกระดาน จนสุดท้ายจุดที่เริ่มทำให้ผมมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก คือเป็นนักพากษ์”

 บรรยากาศของการซื้อ-ขายหุ้นในยุคแรกเริ่มที่ไม่มีข้อมูลหุ้นวิ่งบนหน้าจอทีวี หรือมีแอปพลิเคชั่นติดตามความเคลื่อนไหวของหุ้นแบบเรียลไทม์เหมือนวันนี้  ห้องค้าหลักทรัพย์ในบริษัทหลักทรัพย์จึงมีบรรยากาศเหมือนสนามม้า ชาญชัย โดดเด่นในการทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศให้ข้อมูลการขึ้น-ลงของหุ้นบนกระดาน  โดยใช้สไตล์การพากษ์ที่ตื้นเต้นเร้าใจเหมือนพากษ์ม้าแข่ง จนเป็นที่ถูกอกถูกใจของนักเล่นหุ้น

“คนที่มาเล่นหุ้นในสมัยก่อน เขาไม่รู้หรอกว่าบรรยากาศตลาดหุ้นเป็นอย่างไร  เสียงของผมทำให้รู้ว่า หุ้นตัวไหนกำลังจะขึ้น ตัวไหนกำลังจะลง  ทุกโบรคเกอร์ก็มีนักพากย์  แต่ขึ้นอยู่กับสไตล์คนพากษ์ ผมพากษ์และผมอินกับมัน  ตอนนี้ 76 ซื้อไปหมดแล้ว ซื้อ 78 ตอนนี้ไป 90 แล้ว ถามว่าคนอยู่ในห้องค้าจะทนดูนิ่ง ไหวไหม ดังนั้นเสียงผมทำให้หุ้นขึ้น หุ้นลงก็ได้ แต่ผมไม่ใช่นักปั่นหุ้น ผมไม่รู้เรื่อง ผมยังเด็กอายุแค่ 21-22 ปี สนุก พากษ์แบบสนุก ไม่รู้ข้างหลังเขาเล่นกันเงินหมุนไปเท่าไหร่  แต่ก็ทำให้ใครๆ ก็อยากมาที่เฟิร์สทรัสต์ อยากมาฟังผมพากษ์”  ชาญชัย เล่าถึงบรรยากาศค้าหุ้นยุคบุกเบิก

ชาญชัยทำงานอยู่ที่เฟิร์สทรัสต์ราว 5 ปี เลื่อนตำแหน่งจากคนในห้องค้ามาเป็นฝ่ายรับลูกค้า  แต่ก่อนที่เฟิร์สทรัสต์จะเกิดวิกฤตจนต้องปิดบริษัท  พี่ชาย และหุ้นส่วน ที่ไปเทคโอเวอร์ บริษัทหลักทรัพย์แอ๊คคินซัน มาได้ดึงชาญชัยไปนั่งบริหารในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการ ด้วยอายุเพียง 27 ปี

แอ๊ดคินซันถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์เล็กๆ มีทุนจดทะเบียนเพียง 5  ล้านบาท และไม่มีสถาบันการเงินใหญ่เป็นแบ็กอัพให้ จากสำนักงานแรกที่ถนนมเหสักข์  ไม่มีลูกค้าเลยสักคน มาเป็นที่รู้จักขึ้นบ้างเมื่อย้ายสำนักงานมาอยู่อาคารสินธร ซึ่งเป็นที่ทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเวลานั้น

แต่สิ่งที่ทำให้แอ๊ดคินซันเป็นที่รู้จักมากขึ้น คือแนวคิดของชาญชัย ในการนำนวัตกรรมไอทีมาใช้ ตั้งแต่กว่า 30 ปีที่แล้ว  มาปฏิวัติการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในช่วง 3 ทศวรรษก่อน

ระบบการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์ไปถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ มีวิธีการที่ล้ำสมัยในเวลานั้น คือ Hotline สายตรงจากบริษัทไปถึงตลาด เพื่อสั่งซื้อหุ้น ปลายสายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะจดลงกระดาษและนำไปสั่งซื้อ แต่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกวันบรรยากาศวุ่นวาย เสียงดังจอแจ บางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ หรือไม่ว่างรับสาย ออเดอร์สั่งซื้อหลุด

ชาญชัย แก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนโทรศัพท์ Hotline ฝั่งบริษัท เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ และ นำพรินเตอร์ไปตั้งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ  เมื่อมีคำสั่งซื้อ บริษัทจะคีย์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ และวิ่งออกไปที่พรินเตอร์ในตลาดหลักทรัพย์  ไม่ต้องรับสาย ไม่ต้องจด

ในปี 2538 ชาญชัยนำแอ๊ดคินซันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์   โดยนำเงินลงทุนไปเปิดสาขา กลายเป็นบริษัทหลักทรัพย์แรกที่มีสาขาในต่างจังหวัด   และในช่วงเวลานั้นเขาช่วยให้ลูกค้าในไต้หวันสามารถดูข้อมูลหุ้นไทยแบบเรียลไทม์ได้ด้วยการรับสัญญาณผ่านดาวเทียม เป็นบริษัทแรกในประเทศไทย

แต่แม้ชาญชัยจะเป็นผู้นำนวัตกรรมมายกระดับการทำงานโดยตลอด  ก็ไม่ได้ทำให้แอ๊ดคินซันมีความมั่นคงนัก ความโดดเด่นในการหาลูกค้า ก็ถูกบริษัทใหญ่แย่งไปกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าโดยตลอด จากความรุ่งเรือง ไม่นานก็ถดถอย จนถึงระดับที่เขาเรียกว่า “ลูกผีลูกคน”  แต่ช่วงเวลานั้นเอง ลูกค้าไต้หวัน ก็พาไปรู้จักกับผู้บริหาร  บริษัท จินซัน ซีเคียวริตี้ โบรคเกอร์อันดับ 1 ของไต้หวัน และร่วมลงทุนกันนำแอ๊ดคินซันกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ด้วยพอร์ตนักลงทุนจากไต้หวันที่จินซันส่งตรงมาให้

ถึงช่วงปี 2540 สัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นชัดขึ้น 16 ไฟแนนซ์ใหญ่ถูกภาครัฐสั่งปิด จากวิกฤตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์  ภาครัฐให้บริษัทไฟแนนซ์ลงขันตั้งกองทุน บริษัทละ 30 ล้านบาท แอ๊คคินสันที่มีทุนเหลืออยู่ 5 ล้านบาทในเวลานั้น ก็สามารถเจรจาหาเงินมาได้ทันเวลา ดึงให้บริษัทกลับมามีสภาพดีขึ้น แต่ไม่ทันไร วิกฤติรอบใหญ่ 46 ไฟแนนซ์ก็ถล่มเข้ามาอีก

ครั้งนี้ ชาญชัยเริ่มหวั่นๆ แต่โชคก็ยังยืนอยู่ข้างเป็นคนไม่เคยยอมแพ้อย่างเขา  มีผู้แนะนำให้เขารู้จักกับกองทุนใหญ่จากต่างประเทศ ที่ตัดสินในลงทุนในแอ๊ดคินซัน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่ชาญชัยการันตีว่า จะคืนกลับไป 10 เท่า ทำให้แอ๊ดคินซันรอดจากวิกฤตครั้งใหญ่ของโลกในคราวนั้นได้

มาถึงช่วงปลายของการบริหารแอ๊ดคินซัน  ชาญชัย สามารถซื้อสถาบันการเงินจากต่างประเทศ ทั้ง อินโดสุเอซ ดับบลิว.ไอ.คาร์  ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้   และเมื่อเห็นการเข้ามาของการสื่อสารอินเทอร์เน็ต  เขาก็มองเห็นภัยคุกคามธุรกิจการเงินที่เป็นอยู่ในเวลานั้น  เกิดความคิดที่จะทำธุรกิจโบรคเกอร์ผ่านออนไลน์ IB (Internet Broker Investment Baking) เป็นครั้งแรก  จึงกลับไปเข้าห้องเรียนศึกษาหาความรู้ในวัย 40 ปี  จนได้ปริญญาโทมา 2 ใบ เศรษฐศาสตร์ จุฬา  และรัฐศาสตร์ รามคำแหง และหันไปทำธุรกิจพลังงานอยู่ 5 ปี ก่อนจะกลับมาสานฝัน Internet Broker Investment Baking อีกครั้ง ในบริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด (ASL)

ASL ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท ก. ที่สามารถขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ครบทุกผลิตภัณฑ์ โดยชาญชัย วางแนวคิดให้เป็นบริษัทที่มุ่งการให้บริการซื้อ-ขายผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งในปีที่ผ่านมา แนวคิดนี้ ได้รับความสนใจจากธนาคารออมสิน เข้ามาถือหุ้นใน ASL 25% ก็ช่วยสร้างความมั่นใจในการสานภาพของ ASL ได้ชัดเจนและเป็นจริงได้มากขึ้น

“ผมวางเป้าหมายที่จะเป็นช่องทางการใช้บริการทางเงินแบบครบวงจรผ่านระบบออนไลน์ที่ดีที่สุด ผ่านแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงกันระหว่าง แอปพลิเคชั่นของ ASL กับแอปพลิเคชั่น  MyMo ของธนาคารออมสิน โดยมีฟังก์ชั่นในการบริการด้านหลักทรัพย์ครบวงจร รวมเครื่องมือส่งคำสั่งซื้อ-ขายหลักทรัพย์ การแนะนำผลิตภัณฑ์ องค์ความรู้  ข้อมูลหุ้นย้อนหลัง และการวิเคราะห์  รวมถึงสามารถแชทคุยกันทีมนักวิเคราะห์ได้ตลอดเวลาผ่าน ASL CHAT”

45 ปีในการทำงานของ ชาญชัย กุลถาวรากร ผ่านมาทั้งความรุ่งเรือง ความตกต่ำ และผ่านวิกฤต มาหลายต่อหลายครั้ง วันนี้เขามั่นใจว่า ได้ก้าวมาถึงจุดที่สามารถสานต่อความฝัน และจะก้าวต่อไปบนโลก online trading ที่สามารถให้บริการทางการเงินบน online แบบครบวงจรด้วยทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและประสบการณ์ ซึ่งในช่วงปลายของการทำงานก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถทำงานสานต่อความฝันร่วมกับคนรุ่นใหม่ได้